ช่วงนี้เป็นวิกฤติของ Skinfood จริงๆ เพราะล่าสุดถึงกับต้องขอถอนตัวออกจากช่องทาง Hypermarket หลังแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว เพราะยอดขายนั้นทรุดลงทุกวัน
ขาลงที่แท้จริงของ Skinfood
ในอดีต Skinfood เคยเป็นแบรนด์เครื่องสำอางราคาประหยัด (Budget Cosmatic) ที่ได้รับความนิยมติดหนึ่งในสามของแบรนด์ทั้งหมด แต่นั่นมันคงเป็นเพียงแค่ในอดีต เพราะนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ตัวธุรกิจก็มียอดขายที่ลดลงมาโดยตลอด ถึงขนาดขาดทุนจากการดำเนินงานกว่า 1,000 ล้านวอน (ราว 28 ล้านบาท) ก็เคยมาแล้ว
จึงไม่แปลกที่ Skinfood ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างเร่งด่วน พร้อมกับรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายของตัวเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งนี่ก็เป็นที่มาของการหารือกับ Hypermarket ในเกาหลีอย่าง E-mart และ E-Land Retail เพื่อขอปิดหน้าร้าน และส่วนที่จำหน่ายภายในตัวห้าง เพื่อควบคุมต้นทุนในการบริหาร
“เราได้รับคำยืนยันจาก Skinfood แล้วว่าจะปิดหน้าร้าน 22 แห่งภายในเดือนพ.ย. นี้” โฆษกของ E-Land Retail กล่าว ส่วนฝั่ง E-mart นั้นยังอยู่ระหว่างเจรจากันอยู่ ซึ่งการจะนำสินค้าไปจำหน่ายภายใน Hypermarket ก็ต้องจ่ายค่าวางสินค้า และคอมมิชชั่นเป็นเรื่องปกติ แต่หากสินค้าทำกำไรไม่ทันค่าดังกล่าวก็ยากที่จะอยู่ต่อ
หากดูยอดขาย Skinfood ตั้งแต่ปี 2559 จะพบว่าในปีนั้นทำได้ 1.69 แสนล้านวอน (ราว 4,800 ล้านบาท) แต่สิ้นปี 2560 กลับลดลงถึง 25% เหลือเพียง 1.26 แสนล้านวอน (ราว 3,600 ล้านบาท) ซึ่งเหตุผลหลักๆ น่าจะมาจากการแข่งขันที่มากขึ้น ประกอบกับผู้บริโภคในเกาหลีก็หันไปซื้อสินค้าในร้านขายยา และเครื่องสำอางโดยตรงมากกว่า ซึ่งการวางสินค้าจะแตกต่างกับใน Hypermarket
สรุป
คงไม่ใช่แค่ในเกาหลีที่ Skinfood เสื่อมความนิยม เพราะในประเทศไทย และตลาดอื่นๆ ก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน อาจเพราะทิศทางการแต่งหน้าแบบเกาหลีนั้นไม่ได้รับความนิยมเหมือนในอดีต รวมถึงแบรนด์เครื่องสำอางที่มีให้เลือกมากกว่าเดิม ดังนั้นคงต้องจับตาดูว่า Skinfood จะปรับโครงสร้างธุรกิจให้ออกมาเป็นแบบไหนต่อไป
อ้างอิง // The Investor
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา