ทางเดินใหม่ของ Siri Ventures กับการติดเครื่องวงการ Prop Tech ในไทยด้วยเงิน 1,500 ล้านบาท

หลังเปิดตัวสุดอลังฯ เมื่อพ.ค. 2560 Siri Ventures ก็ออกอาการไปต่อลำบาก หลัง “ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล” หัวเรือใหญ่ได้ลาออกช่วงปลายปีจน CVC ตัวนี้เงียบไปพักหนึ่ง แต่ตอนนี้กองทุนดังกล่าวกลับมาแล้วด้วยทีมงานชุดใหม่

ครั้งที่ Siri Venture เปิดตัวเมื่อพ.ค. 2560

ดึงอดีตผู้บริหาร Nokia สร้างทีม

Corporate Venture Capital (CVC) หรือกิจการร่วมลงทุนที่มีบริษัทใหญ่ๆ เป็นเจ้าของ บูมในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเริ่มจากกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม และค่อยๆ กระจายไปยังอุตสาหกรรมอื่น เช่นธนาคาร, โรงงานอุตสาหกรรม และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอย่างหลังตัวผู้นำในอุตสาหกรรมทั้งกลุ่มอนันดา และแสนสิริ ก็ต่างลงทุนเต็มที่

แต่ไม่แน่ใจว่า “แสนสิริ” เองมีอะไรขัดกันภายในหรือไม่ เพราะอยู่ๆ หัวเรือใหญ่ “ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล” ที่บริษัทต้องการให้เป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องนี้กลับลาออกไปกระทันหัน ทั้งๆ ที่ทำงานด้วยกันมาเกือบ 10 ปี ทำให้แผนการนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับธุรกิจของแสนสิริช้าไปหนึ่งจังหวะ แต่ยักษ์ใหญ่อสังหาฯ รายนี้ก็ไม่รอช้าที่จะแก้ปัญหานี้

ผ่านการดึง “จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์” อดีตผู้บริหารระดับสูงของโนเกีย (ประเทศไทย) มาเป็นประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี ส่วนตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่ว่างไปของ “ชาคริต” ถูกแทนที่ด้วย “อุทัย อุทัยแสงสุข” ที่ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของบมจ.แสนสิริ เป็นการชั่วคราว ก่อนจะหาคนที่เหมาะสมจริงๆ เข้ามา

จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด

วาดพิมพ์เขียวใหม่ หวังยกระดับธุรกิจ

“หลังออกจากโนเกีย ผมก็ไปอยู่ไมโครซอฟท์ประเทศไทยมาพักหนึ่ง แล้วออกมาทำบริษัทดิจิทัลคอนเทนต์ 1 ปี ก่อนเข้ามาอยู่กับกลุ่มแสนสิริเมื่อเดือนก.ย. 2560 พอผมเข้ามา ทางผู้ใหญ่ก็ให้เสนอแผนเดินหน้า Siri Ventures ซึ่งผมก็รีบทำให้เสร็จ โดยไม่รู้ว่าของเดิมมันมีรายละเอียดอะไรบ้าง และจะบอกว่าเขียนใหม่เลยก็ว่าได้” จิรพัฒน์ กล่าว

สำหรับแผนของ Siri Ventures ในยุคปี 2561 ยังวางตัวเองเป็น CVC ที่พร้อมเข้าไปลงทุนใน Startup ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ทั้งทางตรง และทางอ้อม เช่น Construction Tech, Prop Tech, Living&Food Tech และ Health Tech ผ่านการลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาทใน 3 ปี แต่ไม่มีเป้าชัดเจนว่าต้องลงทุนกี่บริษัท

ขณะเดียวกันยังเตรียมร่วมกับทุกภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับ Stratup ทั้ง Accelerator, หน่วยงานรัฐ รวมถึงโครงการสนับสนุนต่างๆ เพื่อช่วยบ่มเพาะให้ Startup เกิดได้เร็วที่สุด นอกจากนี้ยังลงทุนวิจัย และพัฒนาเพื่อสร้าง Home Service Application ให้ลูกบ้านใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด

สร้างแต้มต่อด้วยเทคโนโลยีได้

“ตอนนี้เราคุยๆ อยู่ 10 กว่ารายทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้จะลงทุนหมด หรือไม่ลงทุนสักบริษัทก็ได้ เพราะตัวที่เราเข้าไปลงทุนต้องมองเห็นการเติบโตจริงๆ โดยในปีก่อนใช้เงินไปราว 40-50 ล้านบาทในการลงทุน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Startup ที่แสนสิริประกาศไป เช่น Farmshelf ที่สำคัญการลงทุนมีตั้งแต่ระดับ Seed ถึง Series A”

ด้านมุมการแข่งขันทางธุรกิจ อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ.แสนสิริ มองว่า การมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยน่าจะสร้างแต้มต่อในทางธุรกิจได้ ทั้งเรื่องการจูงใจให้ผู้บริโภครุ่นใหม่สนใจโครงการต่างๆ ของบริษัทมากขึ้น และในแง่การประหยัดต้นทุน ที่เทคโนโลยีจะช่วยเรื่องเหล่านี้ได้พอสมควร

ทั้งนี้ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในปี 2561 น่าจะยังมีแนวโน้มเติบโตอยู่ หลังภาครัฐคาดการณ์ GDP เติบโตที่ 4% ซึ่งปกติแล้วอุตสาหกรรมนี้จะเติบโต 1.5-2 เท่าจาก GDP อยู่แล้ว จึงมีโอกาสเติบโต 8% ได้ ส่วนเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่ขึ้นมา น่าจะมีผลต่อราคาโครงการไม่มากนัก เพราะต้นทุนเรื่องค่าแรงอยู่แค่ 30% ส่วนค่าอุปกรณ์อยู่ที่ 70%

สรุป

เมื่อลองเทียบแผนใหม่กับแผนเก่าที่ Brand Inside เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ยกเว้นเรื่องโครงการ Accelertor ที่แผนใหม่จะใช้การเข้าไปร่วมกับโครงการอื่นๆ เช่น dtac ส่วนแผนเดิมจะทำเอง แต่ถ้ามองกันดีๆ ตัว Startup ในประเทศไทยก็แทบจะหมดแล้ว ถ้าไปหาแค่โครงการ Accelerate ก็คงไม่พอ จึงเชื่อว่า Siri Venture น่าจะไปหา Startup จากต่างประเทศมากกว่า เช่นปัจจุบันก็มี SOSA จากอิสราเอลแล้ว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา