มองตลาดสินเชื่อทะเบียนรถ หลัง Singer ร่วมวงอีกราย หรือเศรษฐกิจรากหญ้าต้องอยู่กับเงินหมุน

สินเชื่อทะเบียนรถนั้นได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย หรือคนหาเช้ากินค่ำที่ใช้รถยนต์เป็นเครื่องมือหารายได้ และถึงในตลาดจะมีผู้ให้บริการเกือบทุกสถาบันการเงิน แต่ล่าสุดราชาสินค้าเงินผ่อน Singer ก็ลงมาเล่นตลาดนี้ด้วย

เอารถมาค้ำ ช่วยลดอัตราหนี้เสีย

เมื่อรถยนต์เป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน ดังนั้นสินเชื่อประเภทนี้จึงมีอัตราหนี้เสียค่อนข้างต่ำ เพราะผู้กู้ต้องพยายามนำเงินที่ได้มาจากการนำรถยนต์ไปค้ำประกันไปต่อยอดให้เร็วที่สุด และเอารถยนต์กลับมาเป็นของตนเองให้ได้ และยิ่งรถยนต์นั้นถูกใช้งานเป็นประจำ ความผูกพันธ์กับรถเหล่านั้นจึงมีมากกว่าเดิม

ซึ่งจุดเริ่มต้นของสินเชื่อทะเบียนรถนั้นมาจากผู้ให้กู้รายย่อยตามต่างจังหวัดเริ่มหาทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้ต้องการใช้เงิน และก็ปิ๊งไอเดียเรื่องการนำรถยนต์มาค้ำประกัน เพราะมีข้อดีอย่างที่กล่าวไปข้างต้น และเริ่มเตะตาสถาบันการเงินชั้นนำว่าอย่างนี้ก็หาเงินได้ จนเริ่มมีบริการทั้งเงินติดล้อ และรถแลกเงิน เน้นไปที่รถมอเตอร์ไซค์, กระบะ จนไปถึงรถบรรทุก

กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการกรรมการและผู้อำนวยการขายและการตลาด บมจ.ซิงเกอร์ ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า การแข่งขันของบริการนี้ค่อนข้างดุเดือด เพราะผู้บริโภคระดับรากหญ้าต่างต้องการใช้เงินอยู่ตลอด และการนำรถมาเปลี่ยนเป็นเงินก็คืออีกทาางออกที่จะช่วยให้พวกเขานำเงินไปต่อยอดในการหารายได้

กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการกรรมการและผู้อำนวยการขายและการตลาด บมจ.ซิงเกอร์ ประเทศไทย

“รถทำเงิน” กับอาณาจักรเงินผ่อน

ถ้าจำกันได้ Brand Inside เคยนำเสนอเรื่องราวของซิงเกอร์ที่เป็นอาณาจักรเงินผ่อนไปครั้งหนึ่งแล้ว มาคราวนี้ทางบริษัทก็ต่อยอดจากการมีพนักงานขายสินค้าซิงเกอร์กว่า 13,000 คน ที่สิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 20,000 คน เดินไปเคาะตามประตูบ้านเพื่อแนะนำสินเชื่อ “รถทำเงิน” ให้กับผู้ที่สนใจ โดยมุ่งไปที่กลุ่มผู้มีรถยนต์ 4-18 ล้อ

โดยทั้งหมดนี้ให้บริษัทลูก “เอสจี แคปปิตอล” ที่บริษัทแม่ถือหุ้น 99% เป็นผู้บริหารจัดการทั้งหมด ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อภายในสิ้นปีแรกที่ 1,500 ล้านบาท ผ่านดอกเบี้ยเริ่มต้น 6% ต่อปี และภายใน 3 ปีจากนี้ตัวธุรกิจจะเติบโตอย่างน้อย 20% ผ่านความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องใช้เงินมาหมุนเวียนในด้านต่างๆ

ภาพโดย Peter Hellberg from Stockholm, Sweden (Thai baht) [CC BY-SA 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0)], via Wikimedia Commons

เริ่มตอนเปิดเทอมก็เข้าจังหวะแรก

เรียกว่าเปิดตัวอย่างเข้าจังหวะก็ได้ เพราะเดือนพ.ค. นั้นเป็นช่วงเปิดเทอมของเด็กนักเรียนพอดี และคงมีกลุ่มผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่ต้องการใช้เงินไม่ว่าจะเป็นค่าเทอม, ค่าหนังสือ และค่าชุด แต่การเข้ามาแข่งในตลาดนี้ก็ไม่ง่ายเพราะมีทั้งเงินติดล้อ, รถแลกเงิน และอื่นๆ แต่ด้วยความเชื่ยวชาญด้านการบริหารสินเชื่อ ก็น่าจะเป็นอีกรายที่ต้องจับตามอง

สรุป

การเข้ามาลุยตลาดสินเชื่อทะเบียนรถ น่าจะเป็นการขยายอาณาจักรสินเชื่อ และค้าปลีกของกลุ่ม Jaymart เพราะปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เกือบครบทุกทาง ตั้งแต่จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้า, ธุรกิจให้สินเชื่อ และธุรกิจติดตามหนี้สิน ดังนั้นโอกาสที่กลุ่มนี้จะขึ้นมาเป็น AEON เมืองไทยก็คงเป็นไปได้สูงขึ้นไปอีก

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา