ตู้อัตโนมัติระบาดหนักในสิงคโปร์ เป็นเพราะความต้องการลดแรงงานคนในวงการค้าปลีก โดยผลักดันให้แรงงานเหล่านั้นไปทำงานอื่นที่มีทักษะสูงขึ้น
เทรนด์ตู้อัตโนมัติระบาดในสิงคโปร์ ลดคน เพิ่มหุ่นยนต์
ร้านค้าในสิงคโปร์หลายแห่งเร่งนำเอาตู้ซื้อสินค้าอัตโนมัติเข้ามาใช้บริการ เพื่อเป็นการลดแรงงานคน รองรับกับรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญสิงคโปร์เป็นเกาะเล็กๆ การทยอยนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในธุรกิจจึงเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานคนไปในตัว
ตู้อัตโนมัติของร้านค้าปลีกจะเป็นตู้ที่ให้ลูกค้าจัดการได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่ลำเลียงสินค้ามาที่ตู้ เช็กสินค้า ทำการจ่ายเงิน โดยวิธีการจ่ายเงินมี 2 วิธีคือ จ่ายผ่านแอพพลิคชั่น หรือจ่ายผ่าย QR Code ก็ได้
NTUC FairPrice เชนร้านค้าสะดวกซื้อรายหนึ่งในสิงคโปร์บอกว่า วิธีนี้ลดการใช้แรงงานคนไปได้ถึง “180 ชั่วโมง-ต่อคน-ต่อสัปดาห์” ส่วนตอนนี้ไล่ทำในเชนร้านของตัวเองไปได้ 63 แห่งในทั้งหมด 140 แห่งที่มีอยู่
ส่วนอีกบริษัทคือ Sheng Siong Group เชนร้านสะดวกซื้อรายนี้ก็ปรับตัวโดยการนำเอาตู้อัตโนมัติมาใช้ในร้านเช่นกัน และเพิ่มความสะดวกด้วยการทำให้สามารถจ่ายเงินสดกับตู้อัตโนมัติในร้านได้อีกด้วย
จากจ่ายเงินในร้านสะดวกซื้อ ไปจนถึงซื้อพิซซ่าผ่านตู้
แต่ไม่ใช่แค่ร้านสะดวกซื้อเท่านั้นที่ได้นำเอาตู้อัตโนมัติไปใช้งาน แต่หลายธุรกิจก็ใช้โดยเอาไปตั้งอย่างกระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ที่มีคนพลุกพล่าน มีรายหนึ่งน่าสนใจ นำเอาตู้ขายพิซซ่าไปตั้งในโรงเรียน เครื่องจะสามารถแยกขายเป็นชิ้นๆ ได้ ไม่ต้องสั่งพิซซ่ามาทั้งถาด มีนักเรียนคนหนึ่งซื้อพิซซ่าผ่านตู้นี้และได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “[พิซซ่า] มันร้อนและก็อร่อยด้วย มันเป็นอะไรที่สะดวกมากในการช้อปปิ้ง”
สำหรับใครที่สนใจ อยากดูรูปตู้พิซซ่าอัตโนมัติไปดูได้ที่นี่ (รูปข่าวแรก)
ส่วนอีกรายหนึ่งคือ Kalms ค้าปลีกที่ขายสินค้าจำพวกของเบ็ดเตล็ด เช่น ของขวัญ ของประดับ และตุ๊กตา ก็ปิดตัวหน้าร้านทั้งหมดในห้างสรรพสินค้า แล้วก็เอาตู้ขายของอัตโนมัติเหล่านี้ไปตั้งตามศูนย์การค้าและสถานีรถไฟแทนเรียบร้อยแล้ว
ขยายแรงงานคนไปสู่ “แรงงานทักษะสูง”
เมื่อตู้อัตโนมัติมา แรงงานคนก็ต้องออกไปทำงานอื่น เชนค้าปลีกอย่าง NTUC FairPrice บอกเลยว่าจะนำเอาแรงงานคนเหล่านั้น “ไปทำในงานที่มีมูลค่ามากกว่าเดิม อย่างเช่น การจัดการสินค้าใน supply chain, การจัดการงานด้านบริหารสัมพันธ์กับลูกค้า, การวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด หรือไปทำเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูล”
แต่จะว่าไป การปรับตัวของค้าปลีกสิงคโปร์ก็มีแรงกดดันไม่น้อยจากยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เพราะไม่นานมานี้ Amazon เพิ่งบุกเข้าไปในตลาดสิงคโปร์ แถมยังเอาบริการส่งด่วนอย่าง Prime now เข้าไปด้วย
การต่อสู้กับยักษ์ใหญ่เป็นเรื่องที่ต้องทำกันหลายฝ่าย และทั้งนี้ การผลักดันให้ค้าปลีกสิงคโปร์เข้าสู่การใช้ระบบอัตโนมัติในธุรกิจก็เป็นความพยายามของรัฐบาลสิงคโปร์ด้วย
แต่เมื่อมองกลับมาประเทศไทย เอาแค่ร้านสะดวกซื้อ ยังคงเห็นแรงงานหลายคนทำงานกันวันละ 10-12 ชั่วโมง สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้า สูญเสียเวลานำไปพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ในชีวิต เพื่อแลกมากับค่าครองชีพขั้นพื้นฐาน คำถามก็คือ เราจะเห็นภาพแบบนี้กันไปอีกนานแค่ไหน?
ที่มา – Nikkei Asian Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา