การประชุมสุดยอดผู้นำสิงคโปร์ (Singapore Summit) ในวันที่ 16 ที่ผ่านมา มีการพูดคุยประเด็น โลกยุคใหม่ ยุค New Normal นี้ คือโลกที่ไร้ผู้นำและเป็นโลกแห่งการแบ่งขั้ว (A Leaderless and Divided World will be the New Normal)
Singapore Summit มองว่า สหรัฐฯ จะยังเป็นมหาอำนาจครอบงำโลกอยู่หลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเงินหรือเทคโนโลยี แต่บทบาทการเป็นผู้นำโลกในการให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ นั้นยังไม่ชัดเจนนัก เพราะสหรัฐฯ ค่อยๆ ลดบทบาทส่วนนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ จีนก็กำลังมีท่าทีที่ท้าทายสหรัฐฯ มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันที่ประชุมดังกล่าวก็ระบุว่าระบบของจีนก็อาจจะเหมาะควรที่จะใช้กับจีนเท่านั้นและไม่น่าจะสนใจส่งออกอุดมการณ์ไปทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ และจีน ต่างก็ขาดซึ่งเจตจำนงทางการเมืองในฐานะผู้นำที่จะต้องเผชิญกับความท้าทายในโลก
จีนมีส่วนร่วมอยู่ในองค์การระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ ได้เคยให้ความช่วยเหลือในการก่อตั้ง ไม่ว่าจะเป็น IMF และ World Bank ที่แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงกฎของสถาบันเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นว่าประเทศที่มีขนาดเล็กต่างๆ ก็มีโอกาสที่จะแสดงสิทธิและเสียงในองค์กรเหล่านี้เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันชาติสมาชิกอาเซียนก็กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักที่อาจต้องเลือกข้างระหว่างจีน-สหรัฐฯ เหมือนสมัยที่มีสงครามเย็นได้ ซึ่ง Ian Bremmer ประธานที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมืองจาก Eurasia Group พูดถึงประเด็นนี้ว่า เขามองเห็นโลกในอนาคตว่าเป็นโลกที่ปราศจากผู้นำ Bremmer มองว่า ถ้าจะมีผู้นำที่แท้จริง ก็คงจะเป็นชาติอื่นที่ไม่ใช่สหรัฐฯ แม้จะมีบทบาทนำด้านเทคโนโลยีและการเงิน แต่สหรัฐฯ ก็ยังขาดความสนใจที่จะนำชาติอื่น
ขณะที่ Niall Ferguson จาก Hoover Institution จากมหาวิทยาลัย Stanford ก็มองว่าบทบาทด้านเทคโนโลยีของ Huawei โดยจีนก็กำลังท้าทายสหรัฐฯ ด้วย ขณะที่ Yan Xuetong คณบดีจากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัย Tshinghua ก็อ้างถึงคำพูดจีนที่ Wang Yi รัฐมนตรีต่างประเทศเคยกล่าวไว้ว่า จีนไม่คิดจะมาเป็นมหาอำนาจแทนที่สหรัฐฯ แต่จีนก็มีบทบาทสูงมากในด้านการต่างประเทศ
เป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ และจีน อาจจะพยายามบีบให้หลายประเทศต้องเลือกข้าง อาจจะเป็นการอยู่ฝั่งเดียวกับจีนในแง่เศรษฐกิจ ฝั่งเดียวกับสหรัฐฯ ในแง่ความมั่นคง ทั้งสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศสต่างก็เป็นตัวอย่างผู้ที่เลือกจุดยืนเช่นนั้น ขณะที่ Ngaire Woods คณบดีจาก Blavatnik School of Government แห่งมหาวิทยาลัย Oxford ก็เห็นพ้องว่า การเลือกข้างดังกล่าว คือการให้ความร่วมมือแบบที่เลือกแล้ว ไม่ว่าจะร่วมมือต่อสหรัฐฯ หรือจีนก็ตาม
อาจกล่าวได้ว่า โลกยุคใหม่หลังโรคระบาด ก็คือการให้ความร่วมมือกับสองยักษ์ใหญ่อย่างจีนและสหรัฐฯ ในมิติที่แตกต่างกัน ไม่ได้เลือกข้างเลือกฝั่งอย่างตึงเครียดราวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งโลกแบ่งขั้วเป็นสงครามเย็นระหว่างโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐฯ และโลกสังคมนิยมภายใต้สหภาพโซเวียต แต่เป็นการเลือกที่จะให้ความร่วมมือตามความแข็งแกร่งของประเทศนั้นๆ และทำให้สมประโยชน์ที่แต่ละชาติพึงจะได้รับมากที่สุดต่างหาก
*งานประชุม Singapore Summit*
จัดขึ้น 3 วันคือวันที่ 14-17 กันยายนที่ผ่านมา (จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2012) โดยมองว่าเอเชียกำลังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เป็นวงประชุมที่มาถกเถียง หารือกันเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม การพัฒนาเทคโนโลยี ผลกระทบต่อตลาด อุตสาหกรรม กลยุทธ์ทางธุรกิจ โดย Singapore Summit ถือเป็นแพลตฟอร์มสำหรับประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐที่มาถกเถียงและแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกระหว่างกันมากขึ้น
ที่มา – CNBC, Singapore Summit
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา