เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมและทีมงาน SuperTrader ได้เดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์ เพื่อที่จะดำเนินการเปิดบริษัท StockQuadrant PTE. LTD (Fintech สาย Retail Investment) ให้เสร็จสิ้นรวมถึงพบปะพูดคุยกับผู้บริหารของ OCBC Securities บริษัทหลักทรัพย์ภายใต้ OCBC Bank ธนาคารใหญ่อันดับสองของสิงคโปร์ และผู้จัดการกองทุนจาก Bank Of Singapore (แบงก์พาณิชย์ภายใต้ OCBC Bank นะครับไม่ใช่แบงก์ชาติของเขา)
การไปเยือนสิงคโปร์ครั้งแรกในรอบ 7 ปีของผมครั้งนี้ ทำให้ได้อัพเดตสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการเงินของเขาที่เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความ “เคร่งครัด” ในการเปิดบัญชีธนาคารที่เข้มงวดขึ้น
ก่อนหน้านั้น คนที่มีเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักจะไปเปิดบัญชีธนาคารที่ประเทศสิงคโปร์ เพราะด้วยความที่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน โอกาสที่จะฝากเงินและนำออกไปไหนมาไหนสามารถทำได้โดยง่าย (ทั้งสุจริตและทุจริต) แต่ปัจจุบันทางการสิงคโปร์ หันมาคุมเข้มอย่างหนัก เพราะที่ผ่านมาถูกใช้เป็น “ทางผ่าน” ของเงินที่ไม่สุจริตมากเกินไป เช่น เคสของ Panama Papers โดยเฉพาะกรณีของกองทุน 1MDB ที่สิงคโปร์ถูกใช้เป็นทางผ่านด้วยเช่นกัน ทำให้การตรวจสอบมีความเข้มงวดขึ้น
นอกจากนี้ ทางผู้จัดการกองทุน Bank Of Singapore ยังเล่าให้ฟังว่า ภายในปี 2018 สถาบันการเงินทั่วโลกจะต้องใช้กฎหมายใหม่ร่วมกันในการเปิดเผยข้อมูลการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศหรือ AEOI นั่นแปลว่าการทำธุรกรรมอำพรางจะทำได้ยากขึ้น
แม้กฎหมายใหม่นี้จะมีผลต่อประเทศที่เคยได้ชื่อว่าเสรีทางด้านการเงินอื่นๆอย่างฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ ไซปรัส รวมถึงพวกหมู่เกาะต่างๆในแคริเบี้ยน ที่ได้ชื่อว่าเป็น Tax Haven แต่สิงคโปร์ที่มีจุดเด่นในเรื่องของภาคการธนาคาร คงได้รับผลกระทบจากกฎหมายใหม่นี้ไม่มากก็น้อย
คุณ Seaw ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุน Bank Of Singapore ยังบอกอีกด้วยว่าสิงคโปร์อาจไม่ใช่แหล่งสำหรับการตั้งกองทุนต่างๆ ไม่ว่าจะกองทุนส่วนบุคคลหรือเฮดจ์ฟันด์ เพราะค่าใช้จ่ายในการจัดตั้ง เช่นการจ้างบุคลากร ออฟฟิศ การดำเนินการด้านภาษี ฯลฯ เพิ่มขึ้นสูงมาก ถ้ากองทุนที่มาตั้งขนาดเล็กกว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ค่าใช้จ่ายที่เข้ามาอาจไม่คุ้มที่จะทำ ปีที่ผ่านมาเฮดจ์ฟันด์หลายกองก็ได้ปิดตัวไป
มาถึงการพูดคุยกับผู้บริหารของ OCBC Securities ทำให้ผมได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ของตลาดหุ้นสิงคโปร์ ที่เคยเป็นตลาดที่มีมูลค่าซื้อขายอันดับหนึ่งของอาเซียน แต่ความจริงคือได้ถูกตลาดหุ้นไทยแซงหน้าไปพักใหญ่แล้ว (ฟังไม่ผิดหรอกครับ เป็นเรื่องจริง) โดยมีมูลค่าซื้อขายต่อวันประมาณ 1,300 ล้านเหรียญ มากกว่าสิงคโปรฺและมาเลเซีย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากมูลค่าซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยที่ค่อนข้างสูง ตามสถิติแล้ว นักลงทุนรายย่อยไทยมีสัดส่วนการเทรดต่อวันอยู่ที่ 50% ของมูลค่าซื้อขาย พอๆ กับนักลงทุนสถาบันทั้งไทยและเทศ (ส่วนตัวค่อนข้างแปลกใจเพราะจำนวนนักลงทุนรายย่อยของเราที่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์มีเพียงแค่ 2 แสนบัญชี ) ขณะที่ตลาดหุ้นมาเลเซียและสิงคโปร์ นักลงทุนสถาบันมีบทบาทมากกว่า
ตลาดหุ้นที่มีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือตลาดหุ้นจีน สิ่งที่ตามมาคือความผันผวนหรือแรงเหวี่ยงที่ค่อนข้างสูง (รู้ๆ กันว่ารายย่อยไทยชอบซื้อๆขายๆ นิสัยออกไปทางนักพนัน) มูลค่าซื้อขายถึงสูงตามไปด้วย นี่เป็นสาเหตุที่โบรกเกอร์ต่างชาติ อยากจะเข้ามาเล่นในตลาดหุ้นไทยบ้าง
ทาง OCBC Securities ก็เช่นกัน พวกเขามองว่านักลงทุนไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพและต้องการจะเจาะเข้าหา เพราะนักลงทุนสิงคโปร์ไม่ค่อยที่จะซื้อขายบ่อยนัก มักจะซื้อหุ้นดีๆ อย่าง Singtel, Capital Land รวมถึงหุ้นเบียร์ช้างของเรา แล้วถือยาวๆ มากกว่า
บริษัทสัญชาติสิงคโปร์เองก็ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้นนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจของพวกเขามักจะมีฐานอยู่ในต่างประเทศ การที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกมีผลทำให้ผลประกอบการของพวกเขาไม่ค่อยเติบโตด้วยเช่นกัน แม้แต่คนของ OCBC Securities ยังเชียร์ให้เล่นหุ้นประเทศอื่นมากกว่า
แต่ใช่ว่าอุตสาหกรรมการเงินของสิงคโปร์จะหมดความขลังไป เพราะรัฐบาลสิงคโปร์นำโดย MAS (Monetary Authorities of Singapore) ได้มีความพยายามส่งเสริมเรื่องของ Fintech อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเปิด Sandbox ให้ทดสอบบริการการเงินใหม่ๆ ได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาต รวมถึงสนับสนุนให้ Venture Capital ต่างชาติเข้ามาหาผู้ประกอบการ Fintech ได้อย่างสะดวก รวมถึงการเปิดทางให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มาจากต่างชาติจัดตั้งบริษัทได้ (StockQuadrant PTE.LTD ก็ได้เปิดบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โปรดติดตามความคืบหน้าเร็วๆนี้)
โลกการเงินเปลี่ยนแปลงรวดเร็วครับ แม้แต่ชาติที่เคยเป็น Financial Hub อย่างสิงคโปร์ยังต้องปรับตัว ได้แต่หวังว่าประเทศไทยจะใช้โอกาสที่อุตสาหกรรมการเงินกำลัง Transform ตัวเองครั้งใหญ่ ปรับเปลี่ยนตัวเองให้ก้าวทันชาวโลกเขาเสียที เพราะต้องยอมรับว่ากฎหมายด้านการเงินของไทยหลายฉบับยังล้าหลัง และเราจะได้เห็น Fintech สัญชาติไทยได้แจ้งเกิดในระดับโลกกันครับ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา