ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชากรที่ค่อนข้างดี แต่เหตุผลเหล่านี้กลับไม่ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่นั่นเติบโตแม้แต่น้อย
ร่ำรวยไม่ได้ส่งผลกับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
ภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศที่พัฒนาแล้วต่างเติบโตอย่างรวดเร็ว ผ่านปัจจัยเรื่องมาตรการภาษีที่ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลง รวมถึงนโยบายเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดจนประชากรหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าล้วนกันมากขึ้น เช่นในนอร์เวย์ก็มีสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าถึง 10% ส่วนจีนก็ขายรถยนต์ไฟฟ้าถึง 1.2 ล้านคันเมื่อปีก่อน
แต่นั่นไม่ใช่กับสิงคโปร์ เพราะถึงตัวเลขรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (Battery Electric Vehicle: BEV) ที่จดทะเบียนถูกต้องเพิ่มจาก 12 คันเมื่อ 3 ปีก่อน เป็น 1,036 คัน รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า Plug-in Hybrid เพิ่มจาก 125 คัน เป็น 447 คันในช่วงเวลาเดียวกัน สัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าของสิงคโปร์ก็คิดเป็น 0.2% จากรถยนต์ทั้งหมด 6.28 แสนคัน
แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคในสิงคโปร์ค่อนข้างช้า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดเรื่องนี้คือราคารถยนต์ไฟฟ้าล้วนที่สูงกว่ารถยนต์ปกติ 3-4 เท่าตัว นอกจากนี้เรื่องสถานีชาร์จที่น้อย และติดตั้งเองได้ลำบากในกรณีที่พักอาศัยในคอนโดมิเนียมที่ไม่มีที่จอดรถเป็นของตัวเอง
ถึงสถานีชาร์จจะเพิ่มขึ้น แต่การชาร์จก็ทำได้ช้า
อย่างไรก็ตามด้วยการตื่นตัวเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าในระดับโลก แบรนด์สถานีบริการน้ำมันก็เริ่มติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในสิงโปร์ เช่นเชลล์ที่มี 10 แห่ง นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นอื่นๆ เช่น SP Group ที่เตรียมติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 1,000 จุดทั่วสิงคโปร์ และมี 250 แห่งเป็น Fast-Charge ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าล้วนเต็มใน 30 นาที
ถึงจะชาร์จได้เร็วแค่ไหน แต่ความแตกต่างระหว่างการเติมน้ำมันเต็มถึง รวมถึงบริการอื่นๆ เช่นเช็ดกระจก และเติมลมยาง เต็มที่ก็ไม่เกิน 10 นาที ทำให้การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าในสิงคโปร์ก็ยังทำได้ยาก แม้ต้นทุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า เช่นค่าเชื้อเพลิง และค่าบำรุงรักษาจะถูกกว่ารถยนต์ใช้น้ำมันหลายเท่าตัวก็ตาม
ทั้งนี้ในสิงคโปร์ก็เริ่มมีหลายองค์กรนำรถยนต์ไฟฟ้าล้วนไปให้บริการอย่างจริงจัง เช่นบริการร่วมเดินทาง BlueSG มีรถยนต์ไฟฟ้าล้วน 530 ให้บริการในระบบ นอกจากนี้ HDT บริษัทแท็กซี่ที่มีแต่รถยนต์ไฟฟ้าล้วนในระบบถึง 129 คัน ก็เตรียมเอารถแท็กซี่เหล่านั้นให้บริการนอกเหนือจากแท็กซี่ด้วย
ไทยก็มีปัญหาการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าล้วน
ในทางกลับกันประเทศไทยก็มีปัญหาเรื่องการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าคล้ายกับกรณีสิงคโปร์ เช่นสิ้นเดือนก.ย. 2562 จำนวนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คนที่ใช้ไฟฟ้าอย่างเดียวเป็นเชื้อเพลิงมีจำนวนจดทะเบียนสะสม 252 คัน ส่วนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คนเบนซิน-ไฟฟ้า หรือ Plug-in Hybrid กับ Hybrid มีทั้งสิ้น 1.3 แสนคัน
เทียบไม่ได้เลยกับจำนวนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่งที่มีถึง 9.8 ล้านคัน อาจเพราะราคาที่ค่อนข้างสูง เช่น Nissan Leaf ก็ราคา 1.9 ล้านบาท รวมถึงสถานีชาร์จที่ถึงจะมีมากขึ้นจนใกล้เคียง 1,000 จุด ผ่านการเร่งขยายของบริษัทเอกชน แต่ก็มีสถานีชาร์จเร็วค่อนข้างน้อย ทำให้ไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริง
ที่สำคัญยังมีเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ไม่เอื้ออำนวยนัก เพราะมีแค่การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าล้วนจากประเทศจีนที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ส่วนจากประเทศอื่นต้องเสีย รวมถึงหากผลิตในประเทศไทยก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า ทำให้การทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ต่างๆ การนำเข้าจากประเทศจีนจึงน่าจะเหมาะสมที่สุด
สรุป
ทั้งไทย และสิงคโปร์ต่างมีปัญหาเรื่องการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจัยหลักๆ ก็มาจากราคาที่ค่อนข้างสูง และผู้บริโภคยังมองว่ารถยนต์น้ำมันก็ยังใช้ได้ดี และมีราคาคุ้มค่ากว่า ดังนั้นต้องดูกันต่อไปว่าเมื่อไรตลาดนี้ถึงจะเติบโต และมีโอกาสหรือไม่ที่ผู้ให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะติดตั้งระบบชาร์จเร็วได้มากขึ้น
อ้างอิง // Channel News Asia, กรมการขนส่งทางบก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา