S&P คาดการณ์แบงก์สิงคโปร์-จีนจะฟื้นตัวได้ไวกว่าสหรัฐ-ยุโรป จากพิษเศรษฐกิจของ COVID-19

บทวิเคราะห์ล่าสุดจาก S&P Global Ratings ที่วิเคราะห์สถาบันการเงินใหญ่ๆ ทั่วโลก 20 ประเทศ มองว่าสถาบันการเงินจากสิงคโปร์ จีน จะฟื้นตัวไวกว่าสถาบันการเงินในสหรัฐ ยุโรป จากปัจจัยผู้ติดเชื้อที่น้อยกว่า รวมไปถึงเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไวกว่า

Singapore Financial District
ภาพจาก Shutterstock

S&P Global Ratings ได้ออกบทวิเคราะห์ โดยคาดการณ์อุตสาหกรรมธนาคารขนาดใหญ่ใน 20 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในบทวิเคราะห์คาดว่า สถาบันการเงินใน สิงคโปร์ แคนาดา เกาหลีใต้ ซาอุดิอารเบีย ฮ่องกง และจีน จะฟื้นตัวได้ไวสุดภายในช่วงปลายปี 2022 ขณะเดียวกันประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน ออสเตรเลีย อิตาลี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย รัสเซีย จะฟื้นตัวได้ต้องรอถึงปี 2023 เป็นอย่างน้อย

ในบทวิเคราะห์ของ S&P Global Ratings ยังมองว่าหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลทำให้โลกนั้นหมดยุคการเติบโตของสินเชื่อเป็นระยะเวลายาวนานตั้งแต่ยุควิกฤติการเงินช่วงปี 2008-2009 ขณะเดียวกันจำนวนสถาบันการเงินที่ S&P Global Ratings วิเคราะห์ความน่าเชื่อถือนั้นส่วนใหญ่ถูกปรับลดความน่าเชื่อถือลงตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นจำนวนถึง 70%

สำหรับประเทศอย่างสิงคโปร์ จีน ฯลฯ ที่ฟื้นตัวได้เร็วนั้นเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้รวมไปถึงภาคการเงินมีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง ทำให้ผลกระทบที่ได้รับจาก COVID-19 น้อยกว่าประเทศอื่น ขณะที่ประเทศที่ฟื้นตัวได้ช้านั้นพบกับปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ หรือไม่ก็เป็นความเสี่ยงของอุตสาหกรรมการเงินในประเทศต่างๆ นอกจากนี้ในหลายๆ ประเทศ S&P Global Ratings มองว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาคการเงินฟื้นตัวได้ช้าลง โดยเฉพาะในทวีปยุโรป อินโดนีเซีย สหรัฐ ฯลฯ

ขณะเดียวกันในบทวิเคราะห์ของ S&P Global Ratings นั้นยังมองว่าธนาคารในประเทศ อินเดีย แอฟริกาใต้ เม็กซิโก จะเป็นประเทศกลุ่มสุดท้ายที่ฟื้นตัวได้ช้าที่สุด จากปัจจัยข้างต้น รวมไปถึงความเสี่ยงจากการปรับลดความน่าเชื่อถือของประเทศเหล่านี้ที่จะส่งผลต่อต้นทุนการเงินในระยะต่อไป ขณะเดียวกันในสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร โดยเฉพาะในประเทศอินเดียเองก็มีความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นจากอัตราหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง S&P Global Ratings คาดว่าสถาบันการเงินในประเทศเหล่านี้จะฟื้นตัวหลังปี 2023

S&P Global Ratings ยังได้ยกกรณีอย่างสถาบันการเงินในรัสเซียซึ่งเป็นประเทศส่งออกน้ำมันเป็นหลักนั้น ราคาน้ำมันก็มีผลอย่างมาก เนื่องจากสถาบันการเงินในรัสเซียหลายๆ แห่งเป็นผู้ให้สินเชื่อกับบริษัทน้ำมันในประเทศ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ธุรกิจธนาคารในประเทศนั้นฟื้นตัวช้ากว่าเดิม ซึ่งแตกต่างกับกรณีของซาอุดิอาระเบียที่สถาบันการเงินในประเทศนั้นมีกฎเกณฑ์จากหน่วยงานกำกับดูแลที่ผ่อนคลายลง ทำให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่า

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ