อ่านโลกของวิศวกรใน Silicon Valley เข้าออฟฟิศ 11 โมง งานหลักคือพักผ่อน แต่ถ้ามีปัญหาต้องแก้ได้ไว

เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินชื่อเสียงของแหล่งรวมบริษัทไอทีอย่าง Silicon Valley กันมามากแล้วว่า วิศวกรไอทีใน Silicon Valley เป็นกลุ่มคนที่มีฝีมือดี ถูกจ้างมาในราคาสูง ทำงานไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน แต่รู้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้ว พวกเขาทำงานกันอย่างไร?

Photo: officesnapshots.com

พักผ่อนเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ต้องแก้ได้ไว้

ในแต่ละวัน วิศวกรไอทีส่วนใหญ่ที่นี่จะเริ่มต้นวันทำงานด้วยการเข้างานออฟฟิศประมาณ 11 โมงเช้า Manny Medina ซีอีโอของ Outreach สตาร์ทอัพดาวรุ่ง ก่อนหน้านี้ เขาเคยเป็นวิศวกรของ Microsoft และได้ออกมาทำบริษัทสตาร์ทอัพของตัวเอง

“ผมเข้างาน 11 โมง แล้วก็ใช้เวลาทานข้าวกลางวันนานๆ (หัวเราะ) คนในทีมไม่ต้องการให้สร้างอะไรเพิ่มนักหรอก เพราะถ้าคุณสร้างมันขึ้นมา ภาระดูแลก็เป็นของคนอื่นๆ อีก”

Medina บอกว่า คนในทีมบอกให้เขาอยู่เฉยๆ งานที่ทำก็แค่ช่วยเทรนเรื่องซอฟต์แวร์ให้กับคนอื่นๆ ก็พอ แต่ขอร้องว่าอย่าสร้างโปรเจ็กต์ใหม่ขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นแล้ว งานของเขาเดือนๆ นึงก็คือการเข้าไปนั่งเล่นในออฟฟิศ แต่บางครั้งก็อาจจะมีเขียนบันทึกงานบ้าง หรือช่วยตอบคำถามกับในทีมบ้าง แต่นั่นก็ไม่บ่อยนัก

การจ้างวิศวกรไอทีฝีมือดีและให้อิสระในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ Medina ระบุว่า “ถ้าคุณได้วิศวกรไอทีฝีมือดีมาร่วมงาน คุณต้องปกป้องเขาเอาไว้ให้ได้ อย่าให้คู่แข่งได้ตัวไป นั่นแหละคือคุณค่าของบริษัทเลย”

อย่างไรก็ตาม วิธีการแบบนี้ Medina ได้มาจากการที่เขาได้ทำงานที่ Microsoft เนื่องจากที่ Microsoft มักจ้างผู้เชี่ยวชาญฝีมือดีจากหลากหลายวงการเอาไว้เพื่อทำให้บริษัทมีมูลค่าจากการพัฒนา เช่น จ้างคนที่เก่งด้าน AI, Robot, นักภาษาศาสตร์ ฯลฯ พูดง่ายๆ โมเดลคือ จ่ายเงินเดือนเลี้ยงคนเหล่านี้ไว้ แล้วก็ปล่อยให้เขาเหล่านี้ออกไปทำงานในที่อื่นที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยตามมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายหากบริษัทต้องการความช่วยเหลือก็จะขอจากคนเหล่านี้ได้ไม่ยาก

ถ้าอยากได้ประสิทธิภาพ ต้องให้อิสระ อย่าให้งานเยอะ

ที่นี่จะมีคำที่เอาไว้เรียกวิศวกรไอทีว่า “the 10x engineer” คือเป็นคนที่ทำงานได้รวดเร็ว โดยเฉพาะการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น พวกเขาอาจไม่ได้ขยันอะไรนัก แต่พวกเขารู้ทุกรายละเอียดในระบบงาน

“มีคนหนึ่ง เขาทำงานที่ Facebook ท่าทางดูเหมือนจะไม่ใช่คนที่มีประสบการณ์อะไร แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในเว็บไซต์ เขาสามารถรู้ได้เลยว่าปัญหามันเกิดขึ้นที่ตรงไหน”

มีพนักงานคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า เพื่อนของเขาที่ทำงานใน Google ก็ไม่ได้ทำงานหนัก “เพื่อนของฉันหลายคนก็อยู่ที่ Google ทำงานกันวันละ 4 ชั่วโมง ทำอยู่ระดับ senior แล้ว แต่ไม่ได้ทำงานหนักอะไร เพราะเขารู้หมดว่าระบบของ Google เป็นอย่างไร แล้วเขารู้ดีว่าต้องทำอะไรบ้าง”

แต่ก็อย่างว่า ถ้าคุณได้ค่าจ้าง ตกปีละ 500,000 เหรียญ คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 17,500,000 บาท หรือตกเดือนละเกือบ 1,500,000 บาท “อะไรจะเป็นแรงจูงใจให้คุณต้องทำงานหนัก? (hard work)”

Photo: pixabay

มาออฟฟิศคือมาเล่น มาใช้ชีวิต ไม่ใช่มาโดนดูดวิญญาณ

ที่ออฟฟิศของบริษัทไอทีเหล่านี้จะมีสถานที่พักผ่อนที่ชัดเจนมาก เช่น Google และ Facebook ต่างมีพื้นที่ให้เล่นวิดีโอเกม ส่วน Oracle สร้างพื้นที่ไว้เล่นวอลเล่ย์บอลชายหาดโดยเฉพาะ นี่ยังไม่นับรวมสระว่ายน้ำ ส่วน Microsoft มีสนามกีฬาไว้เล่นฟุตบอลและคริกเก็ตโดยเฉพาะ แถมยังมีพื้นที่เล่น Xbox มีสปา และอีกมากมาย

Photo: Pinterest Evolution Design saved to Play at Workplace

ข้อกังวลคือ บางคนพักผ่อนมากไป ไม่ส่งอะไรใหม่ๆ ลงสู่ตลาด

ในวงการไอที สิ่งที่วิศวรกรจะใช้เพื่ออัพเกรดโปรไฟล์ให้ดูดีก็คือ การส่งนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาด แล้วมีคนใช้งานเยอะหรืออาจจะตอบโจทย์คนได้จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้จะถือเป็นโปรไฟล์ที่น่าสนใจในการก้าวหน้าในอาชีพการงาน

แม้พวกเขาเหล่านี้จะถูกจ้างในอัตราค่าแรงที่สูง แต่หากไม่ได้ส่งอะไรใหม่ๆ มาสู่ตลาด ในระยะยาวก็จะทำให้ไม่มีบริษัทที่ไหนต้องการ เพราะอย่าลืมว่าในตลาดย่อมมีคนใหม่ๆ ออกมาโลดแล่นในวงการเสมอ

วัฒนธรรมการทำงานแบบ “งานหลักคือพักผ่อน แต่เมื่อเกิดปัญหาก็แก้ได้ไว” ถึงที่สุดแล้ว อาจมีปัญหาในระยะยาวได้ ถ้าปรับตัวไม่ทัน

ที่มา – Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา