กางแผน “สยามพิวรรธน์” แค่ศูนย์การค้ามันเล็กไป ต้องเล่นใหญ่เป็นโครงการเมือง!

สยามพิวรรธน์ เปิดแผนลงทุน 5 ปี ควักกระเป๋า 70,000 ล้าน ลงทุนโปรเจ็คต์ยักษ์ เมินศูนย์การค้าเล็กๆ โฟกัสแต่โครงการใหญ่ๆ ระดับโครงการเมือง มอง ICONSIAM เป็นโมเดลหลัก

ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด

ICONSIAM โมเดล จะเล่นเล็กไม่ได้อีกต่อไป

หลังจากที่เปิดตัวบิ๊กโปรเจ็คต์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่าง ICONSIAM ไปเมื่อปลายปีก่อน ดูเหมือนสยามพิวรรธน์เจ้าของโครงการดูจะติดใจกับการพัฒนาโครงการใหญ่เข้าแล้ว เท่ากับว่าตอนนี้สยามพิวรรธน์มี 4 โครงการในเครือ ได้แก่ สยามพารากอน, สยามดิสคัฟเวอรี่, สยามเซ็นเตอร์ และ ICONSIAM

ICONSIAM เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาในตลาดค้าปลีกในไทยช่วงปีที่ผ่านมาได้อย่างดี ค้าปลีกยุคใหม่ไม่ได้มีแค่ศูนย์การค้า แต่ต้องเป็นโครงการมิกซ์ยูสรวมที่อยู่อาศัย โรงแรม อาคารสำนักงาน

ซึ่งสยามพิวรรธน์เรียกโมเดลนี้ว่าเป็นโครงการเมือง ที่ไปสร้างศูนย์การค้าพร้อมกับสร้างเมืองที่นั่น ทำให้แผนในการลงทุนต่อไปของสยามพิวรรธน์จะไม่ใช่แค่สร้างศูนย์การค้าให้คนมาเช่าพื้นที่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่จะสร้างเป็นโครงการใหญ่ที่เป็นโครงการเมืองทั้งหมด ไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นขนาด

Photo : Shutterstock

ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด บอกว่า

ในโครงการต่อๆ ไปจะไม่ทำแค่ศูนย์การค้า หรือโครงการเล็กๆ อีกต่อไปแล้ว แต่ความหมายก็คือไม่ใช่แค่สร้างศูนย์การค้าขึ้นมาแล้วให้คนมาเช่าห้อง แต่ต้องสร้างประสบการณ์เป็น Retail Destination ทำโครงการเมืองเหมือน ICONSIAM มีที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม จะไม่ทำไซส์เล็กให้เหนื่อยแล้ว

ควัก 70,000 ล้าน ผุด 2 โครงการใหญ่

โครงการเมืองของสยามพิวรรธน์ จะต้องทำโครงการใหญ่ๆ ในขนาด 50 ไร่ขึ้นไป เน้นโลเคชั่นในกรุงเทพฯ อยู่ อาจจะร่วมลงทุนกับต่างประเทศ และมีบริษัทต่างชาติติดต่อให้ไปลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน

โดยที่ใน 5 ปีข้างหน้านี้ได้วางงบลงทุนรวม 70,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ 80-90% เป็นการพัฒนาโครงการใหญ่ 2 โครงการ ส่วนที่เหลือมีการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ในค้าปลีก จะเอาอีก 2 แบรนด์เข้ามาใหม่รวมถึงมองหาอาคารสำนักงานในการเข้าลงทุนและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างโลจิสติกส์ดิจิทัลนวัตกรรมอาจจะได้เห็นดีลการร่วมทุนในอนาคต

Photo : Shutterstock

โดยเมื่อปี 2561 สยามพิวรรธน์ได้ประกาศการลงทุนร่วมกับพันธมิตรระดับโลกไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้านค้าปลีกจากอเมริกา มีกำหนดการที่จะเปิด Luxury Premium Outlets แห่งแรกในประเทศไทยในปลายปีนี้ ในชื่อ Siam Premium Outlet พื้นที่ 150 ไร่ ย่านลาดกระบัง และขยายเพิ่มไปนอกกรุงเทพฯ อีก 2 แห่ง

ในส่วนธุรกิจค้าปลีก มีการหาแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามา ในปีที่แล้วได้นำทาคาชิมายะห้างสรรพสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น เปิดสาขาแรกในประเทศไทยที่ ICONSIAM รวมถึงการร่วมทุนกับบริษัท iStyle Inc. บริษัทค้าปลีกและเจ้าของเว็บไซต์รีวิวและจัดอันดับผลิตภัณฑ์ความงามจากญี่ปุ่น เพื่อเปิดร้าน @cosme store แห่งแรกในประเทศไทย การขยายธุรกิจแฟรนไชส์ เช่น ลอฟท์ ที่ปัจจุบันมีอยู่ถึง 5 สาขา ร้าน ALAND แฟชั่นชื่อดังจากเกาหลี รวมถึงการสร้างร้าน ICONCRAFT 

Photo : Shutterstock

โดยในปีนี้ สยามพิวรรธน์มีแผนที่จะขยายไลน์ธุรกิจค้าปลีกให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งการขยายธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบแฟรนไชส์ การร่วมทุนกับบริษัทค้าปลีกชั้นนำจากต่างประเทศเพื่อเปิดตัวแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์อีก 2 แบรนด์

แผน 5 ปี รายได้ต้องโตหนึ่งเท่าตัว

ปัจจุบันสยามพิวรรธน์มีทรัพย์สินรวม 45,000 ล้านบาท มีรายได้ในปี 2561 รวม 25,500 ล้านบาท เติบโต 23% ตั้งเป้าปีนี้เติบโต 12-15% แต่ในส่วนของ ICONSIAM ตั้งเป้าโต 42%

ชฎาทิพมองว่าหลังจากปีนี้ที่ ICONSIAM ได้เปิดตัวให้บริการเต็มปี รับรู้รายได้ได้เต็มปี ทำให้มีรายได้ที่เติบโตขึ้น ใน 5 ปีตั้งเป้ารายได้ต้องเติบโต 1-1.5 เท่า

สำหรับทราฟิกการใช้บริการของ 3 ศูนย์การค้า สยามพารากอน, สยามดิฟคัฟเวอรี่ และสยามเซ็นเตอร์รวม 200,000-250,000 คน/วัน ส่วนใหญ่เป็นคนไทย 65-70%

ส่วน ICONSIAM มีทราฟิกเป็นไปตามเป้าหมายที่ 120,000-150,000 คน/วัน 80% เป็นคนไทย

สรุป

การที่สยามพิวรรธน์เบนเข็มมาทำแต่โครการใหญ่ๆ เพราะมองเห็นโมเดลความสำเร็จจากการเปิดตัว ICONSIAM ว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี แต่ก็ต้องดูต่อไปว่าคนไทยจะตอบรับกับโครงการแบบนี้มากน้อยแค่ไหน ยิ่งเน้นทำเลในกรุงเทพที่มีศูนย์การค้าล้นเมืองแล้ว สยามพิวรรธน์จะต้องใช้กลยุทธ์อะไรในการสร้างความแตกต่าง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา