ในยุคที่ธุรกิจแข่งขันกันดุเดือด องค์กรต้องเผชิญกับความท้าทาย สยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาแลนด์มาร์กระดับโลกอย่าง สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และไอคอนสยาม กำลังเดินเกมที่ไปไกลกว่าศูนย์การค้า
นั่นคือการผนึกกำลังกับพันธมิตรและองค์กรระดับโลก ผ่านกลยุทธ์ Co-Create and Collaborate สร้างพลังแห่งความร่วมมือ (Power of Partnership) เชื่อมโยงตั้งแต่ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีระดับโลก ไปจนถึงช่างฝีมือในชุมชน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
ชวนเจาะลึกพลังแห่งความร่วมมือของสยามพิวรรธน์ ในการสร้าง Ecosystem สำหรับธุรกิจยุคใหม่
จับมือยักษ์ใหญ่ Huawei เจาะตลาดนักท่องเที่ยวพรีเมียม
หมุดหมายแรกคือการเจาะตลาดต่างประเทศอย่างมีกลยุทธ์ สยามพิวรรธน์ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนด้วยการจับมือกับ Huawei ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากจีน เปิดตัว ONESIAM Global Visitor Card บนระบบปฏิบัติการ HarmonyOS
สยามพิวรรธน์เป็นค้าปลีกไทยรายแรกและรายเดียวที่เข้าไปอยู่ใน Ecosystem ของ HarmonyOS ซึ่งมีฐานผู้ใช้สมาร์ตโฟนกว่า 400 ล้านเครื่องในจีนโดยตรง การเคลื่อนไหวนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง (High-Value Tourists) ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดและมอบประสบการณ์ที่เหนือกว่าให้กับลูกค้า
ก้าวสู่ความยั่งยืน จับมือ กฟน. ใช้ไฟฟ้าสีเขียว
อีกหนึ่งความร่วมมือที่สะท้อนวิสัยทัศน์ระยะยาว คือการจับมือกับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในโครงการ Utility Green Tariff (UGT1) ซึ่งทำให้สยามพิวรรธน์กลายเป็นกลุ่มศูนย์การค้าแรกของไทยที่ลงนามใช้ไฟฟ้าสีเขียวอย่างเป็นทางการ
ภายใต้ข้อตกลงนี้ ศูนย์การค้าสยามพารากอนและไอคอนสยามจะสามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้มากกว่า 30% ภายในปี 2025 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ถึง 1 ปี การลงทุนในพลังงานสะอาดไม่เพียงแต่สร้างมาตรฐานใหม่ด้านความยั่งยืนให้กับวงการ แต่ยังเป็นการบริหารจัดการต้นทุนและสร้างภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งในสายตานักลงทุนและผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ปลุกพลัง SME และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่าน แพลตฟอร์มแห่งโอกาส
นอกจากการเติบโตในมิติของเทคโนโลยีและความยั่งยืนแล้ว หัวใจของกลยุทธ์ Co-Create ของสยามพิวรรธน์ คือการเปลี่ยนพื้นที่ค้าปลีกให้กลายเป็น “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส (Opportunity Platform)” เพื่อผลักดันผู้ประกอบการรายย่อย หรือ “คนตัวเล็ก” ให้มีที่ยืนและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
ล่าสุด สยามพิวรรธน์ได้สร้างความร่วมมือครั้งใหญ่กับ 4 องค์กรชั้นนำ ได้แก่ UNESCO, SACIT, CEA และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เชื่อมโยงภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการเข้าด้วยกัน โดยแต่ละความร่วมมือมีเป้าหมายที่ชัดเจน
- ร่วมกับ UNESCO และ SACIT ลงนาม Letter of Intent (LOI) เพื่อสนับสนุนเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities Network) 7 จังหวัดของไทย ต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์สู่สายตาชาวโลก
- ร่วมกับ SACIT ลงนาม MOU เพื่อพัฒนาศักยภาพช่างฝีมือตั้งแต่ระดับ “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” ไปจนถึงนักออกแบบรุ่นใหม่ ผลักดันให้ “หัตถศิลป์ไทยเป็นอาชีพ” ที่ยั่งยืน ผ่านแพลตฟอร์มอย่าง ไอคอนคราฟต์
- ร่วมกับ CEA (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์) ผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น Creative Nation และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีมูลค่ากว่า 1.44 ล้านล้านบาท ให้เติบโตยิ่งขึ้น ผ่านการให้พื้นที่จัดแสดงผลงานและองค์ความรู้ทางธุรกิจ
- ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านโครงการ “มาเหนือ MAKE” ยกระดับภูมิปัญญาล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna) โดยคาดการณ์ว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 450 ล้านบาทภายใน 3 ปี
ความร่วมมือทั้งหมดนี้ถูกร้อยเรียงและนำเสนอผ่านพื้นที่สร้างสรรค์ในศูนย์การค้า เช่น ไอคอนคราฟต์, สุขสยาม และ Absolute Siam Store ซึ่งทำหน้าที่เป็นเวทีให้ผู้ประกอบการไทยได้กลายเป็น “Global Heroes” ตัวจริง
บทสรุป: โมเดลธุรกิจที่ไปไกลกว่าการค้า
การเดินเกมของสยามพิวรรธน์สะท้อนให้เห็นว่า ผู้นำในธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ไม่ได้มองแค่ยอดขายหรือจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการอีกต่อไป แต่กำลังสร้างโมเดลธุรกิจที่ผสานพลังของพันธมิตรเพื่อสร้างคุณค่าที่ยั่งยืน
กลยุทธ์ Co-Create and Collaborate คือการเชื่อมจุดแข็งของแต่ละองค์กร ตั้งแต่เทคโนโลยีระดับโลก พลังงานสะอาด ไปจนถึงภูมิปัญญาจากเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เกื้อหนุนกัน ซึ่งไม่เพียงเสริมศักยภาพทางธุรกิจของสยามพิวรรธน์เอง แต่ยังเป็นการมอบ “โอกาส” ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตคน เปลี่ยนอนาคตธุรกิจ และเปลี่ยนศูนย์กลางการช้อปปิ้งให้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งแรงบันดาลใจที่แข็งแกร่งและยั่งยืน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา