สยามพิวรรธน์เผยเป้าหมายใหม่ เดินหน้าสู่ Net Positive Impact ร่วมมือกับองค์กรชั้นนำระดับโลก เตรียมลงนามความร่วมมือด้านความยั่งยืนกับแบรนด์ดังระดับโลกต้นปี 2024
กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์เดินหน้าสู่การเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกแห่งแรกในประเทศไทยที่ร่วมมือกับแบรนด์ดังและองค์กรชั้นนำระดับโลกเพื่อดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานความยั่งยืนของสหประชาชาติ เผยเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 โดยจะประกาศลงนามความร่วมมือกับแบรนด์ระดับโลกในช่วงต้นปี 2024
ดร. ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศกล่าวว่า ในปัจจุบันปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการรักษาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ
ขณะที่ รศ. วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้พูดถึงการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืนที่ยึดคนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง การพัฒนาเมืองให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมเพราะแม้ว่ากรุงเทพเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวมากที่สุดในปี 2022-2023 แต่ดัชนีความน่าอยู่ของเมืองยังอยู่ที่อันดับ 98 ของเมืองทั่วโลก
สยามพิวรรธน์และการขับเคลื่อนความยั่งยืนในช่วงที่ผ่านมา
สยามพิวรรธน์เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมาเป็นเวลานาน รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต ที่ปรึกษาด้าน Sustainability ผู้ดูแลเรื่องการขับเคลื่อนความยั่งยืนได้เปิดเผยว่า สยามพิวรรธน์ได้ร่วมมือทำ “eco-projects” เพื่อทำศูนย์การค้าให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านความยั่งยืน อีกทั้งยังมีการสร้างแบรนด์ “ECOTOPIA” ในสยามดิสคัฟเวอรี่ที่จำหน่ายสินค้ารักษ์โลกและส่งเสริมชุมชนและผู้ประกอบการที่มีฝีมือ
ในช่วงที่ผ่านมา ความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจของเครือสยามพิวรรธน์ อย่างการเปลี่ยนหลอดไฟ LED ทั้งศูนย์การค้าเพื่อประหยัดพลังงาน การใช้ระบบ AI ควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคาร สู่การใช้พลังงานสะอาดผ่านการติดตั้งนวัตกรรมโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftops) ที่ไอคอนสยาม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 550 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นอกจากนี้ ในส่วนของการสร้างความยั่งยืนของเมือง นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ ยังเผยว่า สยามพิวรรธน์เป็นเอกชนรายแรกที่พัฒนาย่านสยามในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่การตั้งโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล การสร้างสยามเซนเตอร์เป็นศูนย์การค้าแห่งแรกของไทย ตามมาด้วยสยามดิสคัฟเวอรี่และสยามพารากอน รวมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาย่านสนามให้เป็น “ย่านการค้าปลีกระดับโลก” และพัฒนาลาน ONESIAM เพื่อเชื่อมแยกปทุมวันพร้อมส่งมอบให้กับกรุงเทพมหานครภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาย่านปทุมวันด้วยการพัฒนาการค้า ผู้คน และสิ่งแวดล้อม
จากพลังงานสะอาดและการจัดการขยะสู่ Net Zero
สำหรับการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์การค้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนประจกเป็นศูนย์ในปี 2050 สยามพิวรรธน์ได้มีแนวทางที่ชัดเจนในการบรรลุเป้าหมายผ่านการร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ดังนี้
ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป
สยามพิวรรธน์จับมือกับ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) จะร่วมกันพัฒนาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนพื้นที่สยาม พรี่เมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ กว่า 20,000 ตารางเมตรให้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้กว่าปีละ 4,800,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 4,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)
นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายงานกลยุทธ์การลงทุน และธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการที่ทำร่วมกับสยามพิวรรธน์เป็นเสมือน Green Mount Zone ที่ส่งสัญญาณให้ลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศรู้ว่าผู้ประกอบการไทยจริงจังเรื่องนี้ รวมถึงยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม่ 1 แสนต้นต่อปี
ใช้พลังงานหมุนเวียน
สยามพิวรรธน์กำลังศึกษาร่วมกับองค์กรชั้นนำด้านพลังงานสะอาดอย่าง บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บี. กริม พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อมุ่งให้ทุกศูนย์การค้าภายในกลุ่มสยามพิวรรธน์ใช้พลังงานหมุนเวียนและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด พูดถึงแนวทางความร่วมมือกับสยามพิวรรธน์ว่าสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจแบบ ESG 4Plus ของ SCG โดยเน้นใน 4 เรื่อง คือ การมุ่งเป็นองค์กร Net Zero, Go Green ที่พัฒนาสินค้าหรือนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, Lean เหลื่อมล้ำที่ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง และสุดท้ายคือการสร้างความร่วมมือกันระหว่างองค์กร
นายนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานการลงทุน นวัตกรรม และความยั่งยืนและสายงานธุรกิจในประเทศไทยและมาเลเซีย บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมมือกับสยามพิวรรธน์เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็น Net Zero ผ่านการสร้างพลังงานสีเขียวให้เกิดขึ้นของโครงการไอคอนสยามและการนำระบบ AI เข้ามาช่วยในการประหยัดพลังงาน
จัดการขยะด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
สยามพิวรรธน์มีเป้าหมายลดปริมาณการฝังกลบขยะจากการดำเนินงาน 50% ภายในปี 2030 ผ่านโครงการ Siam Piwat 360° Waste Journey to Zero Waste เพิ่มจุดบริการรับขยะร่วมกับพันธมิตรเพื่อนำขยะไปทำความสะอาด คัดแยกและรีไซเคิลแล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่หรือเข้ากระบวนการเพิ่มมูลค่า ส่วนหนึ่งจะนำมาวางจำหน่ายในร้าน ECOTOPIA
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับบริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อจัดการกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) ผ่านโครงการ “ทิ้งให้ถูกที่กับ Truedted by Synnex E-waste”
สุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีเกือบ 500,000 ตัว แต่ในจำนวนนี้ มีขยะที่กำจัดอย่างถูกวิธีเพียง 10% อย่างโทรศัพท์มือถือก็มีเพียง 1% เท่านั้น จึงได้ร่วมมือกับสยามพิวรรธน์โดยเปิดจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์บริเวณ NextTech สยามพารากอน
ยุทธศาสตร์พัฒนาย่านปทุมวันให้เป็น Smart Eco-District
นอกจากการสร้างความยั่งยืนให้กับการดำเนินธุรกิจในเครือแล้ว สยามพิวรรธน์ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาย่านปทุมวันให้เป็นเมืองยั่งยืนผ่านการร่วมมือกับ รศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสภาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) เพื่อขับเคลื่อนย่านปทุมวันสู่ย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะหรือ Pathumwan Smart Eco-District
รศ.ดร. นิรมล ชี้ให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของย่านสยามว่า ย่านสยามและสี่แยกปทุมวันเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หัวใจของกรุงเทพ เป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าของยุคสมัย การออกแบบแฟชั่น พื้นที่สร้างสรรค์ ทั้งยังเป็นย่านที่สะดวกที่สุดในกรุงเทพ มีความหลากหลายของการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีพลวัตร เป็นย่านสาธารณูปการทางปัญญา พื้นที่เรียนรู้ที่หนาแน่นที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งเป็นย่านที่มีคะแนนการเดินได้สูงที่สุด (อยู่ได้โดยไม่ต้องใช้รถยนต์) และมีระบบนิเวศส่งเสริมนวัตกรรมสมบูรณ์ที่สุดในกรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม ย่านปทุมวันยังมีจุดอ่อนเรื่องรถติด คุณภาพอากาศ มลพิษทางเสียง ฝุ่นควัน และการเดินทางที่ยังไม่เชื่อมต่อกัน และยังเกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นเพราะปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้คนมองหาศูนย์การค้าชานเมืองเพราะไม่ต้องการฝ่ารถติด จึงได้ร่วมมือกับสยามพิวรรธน์ในการพัฒนาโดยใช้หลักการ Smart City โดยการประสานงานกับนโยบายภาครัฐเพื่อสร้างความยั่งยืนเรื่องสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คน
สยามพิวรรธน์จะเริ่มจากการศึกษาปัญหาและแนวทางพัฒนา เริ่มจากปัจจุบันถึงไตรมาสของปี 2024 และจะเริ่มช่วงการปฏิบัติ ต่อยอด ขยายผล การพัฒนาย่านปทุมวัน ในไตรมาส 2-4 ของปี 2024 ต่อไป พร้อมกับยังคงรักษาบทบาทการเป็นผู้นำในย่านเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป
นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ภาวะโลกเดือดแล้วทำให้แม้ว่าสยามพิวรรธน์จะดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนมาโดยตลอดแต่ก็ยังไม่เพียงพอจึงได้ร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้และต่อยอดโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์รูฟท็อป การใช้พลังงานสะอาด การรณรงค์ให้ใช้รถ EV เพื่อไปสู่เป้าหมายสำคัญที่วางไว้ในปี 2030 และ 2050 ให้ได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา