ปิดตำนาน 39 ปี “สวนสยาม” เปลี่ยนชื่อ “Siam Amazing Park” ทรานส์ฟอร์มสู่ยุค Gen 2

ชื่อของสวนสยามจะกลายเป็นหนึ่งในตำนานของสวนสนุกในประเทศไทย เพราะต่อไปจะเปลี่ยนรีแบรนด์เป็น Siam Amazing Park ก้าวสู่ยุคของทายาท Gen 2 ตระกูล “เหลืองอมรเลิศ”

Photo : Shutterstock

รีแบรนด์ครั้งใหญ่ สู่ “Siam Amazing Park”

ถ้าพูดถึงชื่อของ “สวนสยาม” เรียกว่าต้องเป็นสถานที่ในความทรงจำในวัยเด็กของใครหลายๆ คนอย่างแน่นอน ซึ่งสวนสยามเป็นหนึ่งในสวนสนุก และสวนน้ำแห่งใหญ่ในกรุงเทพฯ พร้อมกับคำพูดติดหูที่ว่า “สวนสยาม ทะเลกรุงเทพฯ”

สวนสยาม ได้ก่อตั้งโดย ดร.ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลุ่มบริษัท สยาม พาร์คซิตี้ จำกัด ปัจจุบันสวนสยามมีอายุได้ 39 ปีแล้ว บนเส้นทางที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย เกือบจะล้มละลายก็เคยมาแล้ว แต่ก็ยังสามารถยืนหยัดขึ้นมาได้

ก่อนหน้านี้สวนสยามก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทุบปราสาททางเข้าที่เป็นจุดแลนด์มาร์กสำคัญเพื่อสร้างโปรเจ็คต์ใหม่ๆ

และในปีนี้ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในรอบ 39 ปีของสวนสยาม นั่นคือการตัดสินใจรีแบรนด์เปลี่ยนชื่อจากสวนสยาม สู่ “Siam Amazing Park” พร้อมกับ ประกาศเกษียณอายุของ ดร.ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ในวัย 81 ปี เพื่อส่งมอบการบริหารงานแก่ทายาททั้ง 3 ได้แก่ สิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ, วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ และจิรวรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา

ดร.ไชยวัฒน์จะเริ่มเกษียณอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่จะถึงนี้ แต่หลังจากนี้ก็ยังคงเป็นที่ปรึกษาชั่วคราวให้กับลูกๆ อยู่ จากนั้นจะเริ่มเส้นทางปฏิบัติธรรม หรือหามูลนิธิในการสนับสนุน

เท่ากับว่าโครงสร้างธุรกิจของสวนสยามจะมี บริษัท สยาม พาร์ค ซิตี้ จำกัด เป็นโฮลดิ้งใหญ่ และมีบริษัทลูกก็คือ บริษัท สยาม พาร์ค บางกอก จำกัด ในการบริหารธุรกิจสวนน้ำ และสวนสนุก Siam Amazing Park รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีก 2 บริษัท ได้แก่ ช.อมรพันธ์ และอมรพันธ์ เลียบวารี

ทรานส์ฟอร์มสู่ยุค Gen 2 เต็มตัว

ทายาท Gen 2 ที่จะเข้ามาบริหารสวนสยาม หรือ Siam Amazing Park ในอนาคตนั้น นอกจากจะเป็นลูกๆ แล้ว ยังมีสะใภ้ของตระกูลอีกด้วย โดยที่ “นพกาญจน์ เหลืองอมรเลิศ” เป็นภรรยาของสิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ ขึ้นชื่อว่าสะใภ้คนโตของตระกูล ก็ได้เข้ามาช่วยบริหารธุรกิจเช่นกัน นพกาญจน์จะดูแลในส่วนของการตลาดเป็นส่วนใหญ่

นพกาญจน์เล่าถึงเหตุผลที่สวนสยามต้องลุกขึ้นมารีแบรนด์ครั้งใหญ่ ก็เพราะว่าสวนสยามอยู่ในตลาดมา 39 ปีแล้ว ต้องการปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น อีกทั้ง Perception ของลูกค้าส่วนใหญ่จะนึกถึงสวนสยามว่าเป็นสวนน้ำ ติดกับคำว่าทะเลกรุงเทพ อยากลบภาพที่ยึดติดกับสวนน้ำออกไป

เท่ากับว่าจุดยืนของ Siam Amazing Park ก็คือ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่ไม่ได้มีแค่สวนน้ำ และสวนสนุกอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องเป็น Destination ที่ให้คนทุกเพศทุกวัยมาเที่ยวได้ ให้นึกถึงภาพมากกว่าสวนน้ำ

หนึ่งในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Gen 2 ในครั้งนี้ ย่อมมีการปรับระบบการทำงานใหม่ด้วย ซึ่งภาพรวมธุรกิจยังเป็น “ระบบครอบครัว” แต่จ้างที่ปรึกษามืออาชีพมาช่วยดูแลทั้งเรื่องแบรนด์ บัญชี และคน

บริษัท อีวาย คอร์ปอเรชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด (EY) เข้ามาจัดสรร ตรวจสอบเรื่องบัญชีต่างๆ

– บริษัท ฮิวแมน อินเทเลคชวล แมเนจเมนท์ จำกัด (HIM) เข้ามาช่วยพัฒนาระบบทรัพยากรบุคคล

– Spikeband เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเรื่องการสร้างแบรนด์ เข้ามาช่วยไปปีกว่าๆ แล้ว และเป็นคนอยู่เบื้องหลังการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ของสวนสยาม ซึ่ง Spikeband มีประสบการณ์ในการสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจสวนสนุกอย่าง Tokyo Disneyland ในการเปิดแบรนด์ลูกอย่าง Tokyo DisneySea นพกาญจน์จึงมองว่าน่าจะทำให้สวนสยามที่เปลี่ยนชื่อเป็น Siam Amazing Park ประสบความสำเร็จได้

ถ้าถามว่าความท้าทายที่สุดของทายาท Gen 2 คืออะไร ในการบริหารธุรกิจที่มีตำนานมายาวนานเกือบ 40 ปี นพกาญจน์บอกว่ามีความท้าทายเยอะมาก แต่ที่ท้าทายที่สุดก็คือ สวนสยามเป็นแบรนด์ที่ติดกับบุคคลก็คือดร.ไชยวัฒน์ เป็นแบรนด์ที่เกิดจากความสำเร็จส่วนบุคคล เกิดจากการปลุกปั้นมาด้วยตัวเอง แต่ดร.ไชยวัฒน์ก็ได้มีการเตรียมแผนเกษียณอายุของตัวเองไว้เป็น 10 ปีมาแล้ว เริ่มให้รุ่นลูกๆ ขึ้นมาทำมากขึ้น

ผุดโปรเจ็คต์ Bangkok World ให้เป็นมากกว่าสวนน้ำ สวนสนุก

ถ้าถามว่า Siam Amazing Park มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างจากสวนสยาม จริงๆ เป็นการต่อยอดมากกว่า แต่มีการนำเสนอในรูปแบบใหม่ ได้ปั้นคาแรคเตอร์ 6 มาสคอท “Si-Am and Friends” เพื่อสื่อสารกับนักท่องเที่ยว และได้แบ่งพื้นที่เป็น 5 โซนด้วยกัน ได้แก่

  • Water World สวนน้ำเจ้าของสถิติทะเลเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส
  • Extreme World ที่รวบรวมเครื่องเล่นท้าความเสียวระดับโลก อาทิ Vortex (วอร์เท็กซ์), Giant Drop, Log Flume และอื่นๆ อีกมากมาย
  • Adventure World ดินแดนแห่งการผจญภัยไปกับเครื่องเล่นหลากหลาย อาทิ Jurassic Adventure, Twin Dragon และเครื่องเล่นอีกหลายชนิด
  • Family World ดินแดนของเครื่องเล่นที่เหมาะกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว ทั้ง Africa Adventure, Si-Am Tower, ม้าหมุนสองชั้นสุดคลาสสิก รวมถึง Big Double Shock
  • Small World ดินแดนเครื่องเล่นไซส์มินิสำหรับนักผจญภัยตัวน้อย

และมีอีก 1 โซนใหม่ที่เป็นโปรเจ็คต์ใหญ่ระดับ 5,000 ล้านบาท “บางกอกเวิลด์” แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 70 ไร่ บริเวณหน้าทางเข้า Siam Amazing Park เป็นคอนเซ็ปต์ที่ยกเอาเสน่ห์ของเมืองกรุงในอดีตมารวมไว้ในที่เดียว ได้แก่ ศาลาเฉลิมไทย ศาลาเฉลิมกรุง ห้างแบดแมนแอนด์โก ห้างบี.กริมแอนด์โก เยาวราชไชน่าทาวน์ ฯลฯ และมีการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น สินค้า Otop ด้วย

โครงการนี้ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว มีทั้งหมด 14 ตึก แบ่งการก่อนสร้างเป็น 5 เฟส คาดว่าจะเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบช่วงต้นปี 2564

โดยปกติแล้วสวนสยามจะมีทราฟิกผู้ใช้บริการราวๆ 1.2-1.5 ล้านคน/ปี แต่ปีที่แล้วเด่วพิษเศรษฐกิจ และมีการปิดปรับปรุงทางเข้าด้านหน้า ทำให้ทราฟิกไม่เป็นไปตามที่คาดไว้

ในปีนี้จะมีปัจจัยบวกจากทั้งการรีแบรนด์ใหม่ และมีการตลาดใหม่ๆ คาดว่าจะกระตุ้นทราฟิกให้กลับมาที่ 1.5 ล้านคนได้เหมือนเดิม พร้อมกับรายได้ 500 ล้านบาท

โดยรายได้แบ่งเป็นค่าบัตรผ่านประตู 70% และอื่นๆ 30% ผู้ใช้บริการแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวคนไทย 85% และต่างชาติ 15%

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา