คปภ. เผยเคสยิงกลาง ‘สยาม พารากอน’ ห้าง​ฯ มีประกันภัย IAR วงเงิน 16,373 ล้านบาท และความรับผิดต่อบุคคลภายนอก 100 ล้านบาท

สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเด็กชายอายุ 14 ปี ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงกลางห้างสรรพสินค้าสยาม พารากอน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวเมียนมา และมีผู้บาดเจ็บ 6 คน นำตัวส่งรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ 3 คน โรงพยาบาลตำรวจ 2 คน และโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน 1 คน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 นั้น

ทั้งนี้ ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์เร่งบูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ (รับผิดชอบพื้นที่ที่เกิดเหตุ) พบว่า ห้างสรรพสินค้าสยาม พารากอน ได้ทำประกันภัยไว้ จำนวน 2 กรมธรรม์ คือ 

1) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) จำนวนเงินเอาประกันภัย 16,373 ล้านบาท ระยะเวลาประกันภัยเริ่มวันที่ 31 ธ.ค. 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2566 โดยมีสัดส่วนประกันภัยร่วม ประกอบด้วย 

  • บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวน 70 %
  • บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวน 15 %
  • บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวน 15 %

2) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (Public Liability) จำนวนเงิน limit of liability 100,000,000 บาท (ทางผู้สื่อข่าวสอบถามเพิ่มเติมรายละเอียดกับ คปภ. แต่ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมอยู่ระหว่างการประสานงานกับผู้เกี่ยวข้อง)

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น และเข้าประสานงานกับผู้บาดเจ็บที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หากมีการทำประกันภัยไว้ คปภ. จะช่วยอำนวยความสะดวกและติดตามให้บริษัทประกันภัยชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยโดยเร็วต่อไป 

อีกทั้งยังพบว่า ผู้บาดเจ็บหญิงสัญชาติลาวที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน มีประกันภัยแบบสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคลกับ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ความคุ้มครองการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยในตามจริงสูงสุด 150,000 บาท และกรณีเสียชีวิต 100,000 บาท

สำหรับผู้เสียชีวิตที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวเมียนมา ในเบื้องต้นตรวจสอบยังไม่พบการทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยของไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะอำนวยความสะดวกในเรื่องเอกสารและข้อมูลด้านประกันภัยอย่างเต็มที่

ที่มา – สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา