รู้จักเจ้าของ Mega Bangna และ La Villa ที่ชื่อ Siam Future Development พร้อมกลยุทธ์ปีนี้

Siam Future Development หรือ SF คือหนึ่งในผู้พัฒนาศูนย์การค้าของไทยที่ก่อตั้งปี 2537 และถือโครงการใหญ่ๆ เช่น Mega Bangna, Esplanade และ La Villa ไว้ในมือ แล้วกลยุทธ์ปีนี้ของ SF จะทำอะไรบ้างล่ะ?

Mega Bangna
Mega Bangna // ภาพจาก Siam Future Development

ขยายพื้นที่เช่า และสาธารณูปโภคต่างๆ ให้เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน Siam Future Development หรือ SF มีศูนย์การค้าให้บริการอยู่ 19 แห่ง แบ่งเป็น 5 ประเภทคือ Lifestyle Center, Entertainment Center, Nightborhood Center, Power Center และ Super Regional Mall ส่วนถ้าเอาชื่อห้างที่คุ้นๆ ก็คงไม่พ้น Mega Bangna, Esplanade และ La Villa

ขณะเดียวกัน Gross Leasable Area (GLA) หรือพื้นที่ภายในศูนย์การค้า และสาธารณูปโภคต่างๆ (ไม่รวมที่จอดรถ) ที่กลุ่ม SF บริหารจัดการอยู่ก็มีถึง 4.26 แสนตร.ม. (ถูกเช่าแล้ว 92%) เรียกว่าไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ในปี 2562 นี้ทางกลุ่มก็มีแผนขยายพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นไปอีก เพื่อเพิ่มรายได้จากค่าเช่า

Siam Future Development
ภาพรวมพื้นที่ของ Siam Future Development
Siam Future Development
ศูนย์การค้ารูปแบบต่างๆ ของ Siam Future Development

ไม่ว่าจะเป็นการขยาย Nightborhood Center ย่านสุขาภิบาล 3 กับทองหล่อให้มีพื้นที่มากขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนแบรนด์ Marketplace ย่านนางลิ้นจี่ให้ใหญ่ขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังเตรียมขยายพื้นที่ Mega Bangna เพิ่มขึ้นเพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้เป็น Megacity ที่รวมสิ่งต่างๆ ที่ผู้บริโภคต้องการไว้ในที่เดียว

Maga Bangna ยังเป็นฟันเฟืองหลักในการเติบโต

อย่างไรก็ตามเมื่อมองในมุมรายได้ของกลุ่ม SF จะพบว่าเมื่อปี 2561 ปิดรายได้ไปที่ 2,966 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,654 ล้านบาท โดยตัวรายได้นั้นเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ราว 100 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิลดลงราว 200 ล้านบาท ซึ่งตัวกำไรสุทธินั้นมาจากค่าเช่าพื้นที่ใน Mega Bangna ถึง 83% ของทั้งหมด

Siam Future Development
ผลกำไรหลักมาจาก Mega Bangna
Siam Future Development
การขยายพื้นที่ภายในปี 2562 ของ Siam Future Development

เนื่องจากการขยายพื้นที่ และจำนวนผู้เข้าใชบริการที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ความต้องการเช่าพื้นที่ของแบรนด์สินค้า และบริการต่างๆ เพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนตัวกำไรสุทธิรองลงมานั้นมาจากค่าเช่าใน Esplanade หรือคิดเป็น 8% ของกำไรสุทธิทั้งหมด เรียกว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับ Mega Bangna

กลุ่ม Major คือผู้ถือหุ้นใหญ่ Siam Future Development

ในทางกลับกันแม้บริษัทจะมีชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ว่า SF ซึ่งเหมือนกับแบรนด์โรงภาพยนตร์รายหนึ่งของไทย แต่จริงๆ แล้วผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนี้คือบมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป หรือกลุ่ม Major นั้นเอง ผ่านสัดส่วน 25% จากจำนวนหุ้นทั้งหมดเมื่อสิ้นเดือนธ.ค. 2561 ที่ 1,776 ล้านหุ้น

Siam Future Development
การเพิ่มพื้นที่ และสัดส่วนผู้เช่าของ Siam Future Development

สรุป

การลงทุนเรื่องค้าปลีกนั้นไม่ใช่เรื่อง่าย เพราะมีค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาโครงการจำนวนมาก แต่ Siam Future Development นั้นสามารถฝ่าฟันวิกฤติต่างๆ มามากมาย และกำลังรุ่งเรืองกับ Mega Bangna อยู่ตอนนี้ ดังนั้นหากการพัฒนาพื้นที่ทำได้อย่างถูกต้อง การเติบโตของบริษัทนี้ก็คงยั่งยืนได้อีกยาว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา