[วิเคราะห์] วัฒนธรรม 11.11 จากจีน กับการเปลี่ยนแปลงวงการค้าปลีกไทย

วันช้อปปิ้ง 11.11 จุดเริ่มต้นคือ วันคนโสดจีน

รู้หรือไม่ วันช้อปปิ้งสุดยิ่งใหญ่ 11.11 มีที่มาจาก “วันคนโสดจีน”

เลข 1 ที่เรียงซ้ำๆ กันก็สื่อถึง “ความโสด” นั่นเอง และนอกจากนั้นเชื่อกันว่า เลข 1 มีลักษณะคล้ายกับคนยืนคอตกไร้คู่อยู่แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นเลข 11.11 ที่เรียงกัน 4 ตัว จึงดูเหมือนคนโสดยืนเรียงกัน 4 คน

ต่อมามีการเปรียบว่า วันคนโสดจีนหรือ Single Day เป็นเทศกาล Cyber Monday ซึ่งจุดประสงค์หลักคือการฉลองชีวิตโสดด้วยการช้อปปิ้ง ซื้อสินค้า ทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์

หลังจากนั้นในปี 2009 ผู้ที่ถือได้ว่าเป็นคนคิดค้นวันช้อปปิ้งคนโสดจีน 11.11 อย่างเป็นทางการคือ “แดเนียล จาง” ประธานและซีอีโอของ Alibaba ในปัจจุบัน

จากจุดเริ่มต้นของการทำ 11.11 ใน Tmall แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ Alibaba ในยุคนั้น โดยเทศกาลลดราคากระหน่ำในวันช้อปปิ้งคนโสดจีนทำให้ Tmall ทำยอดขายในวันเดียวได้ถึง 52 ล้านหยวน มากกว่าที่เคยทำในช่วงเวลาปกติ 10 เท่า

ส่วนในปัจจุบันเรียกได้ว่า 11.11 ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะทุกแพลตฟอร์มของ Alibaba สามารถทำยอดขายได้ถึง 1 ล้านล้านบาทในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง

ความสำเร็จของวันช้อปปิ้งคนโสดจีนถูกผลิตซ้ำต่อมาจนกลายเป็นธรรมเนียมและพอจะเรียกได้ว่าเป็น “วัฒนธรรม” เพราะในปัจจุบันแพร่กระจายอยู่หลายที่ทั่วโลก อย่างในประเทศไทยเองก็เช่นกัน

ยอดขายรวมสุทธิของ Alibaba ในเทศกาลวัน 11.11 มูลค่า 2.135 แสนล้านหยวน (เงินไทย 1 ล้านล้านบาท)
ยอดขายรวมสุทธิของ Alibaba ในเทศกาลวัน 11.11 มูลค่า 2.135 แสนล้านหยวน (เงินไทย 1 ล้านล้านบาท)

วัฒนธรรม 11.11 ที่แพร่หลาย ค้าปลีกไทยรับมาเต็มๆ

วัฒนธรรม 11.11 ส่งผลต่อวงการค้าปลีกหลายแห่งโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการแข่งขันของสงครามอีคอมเมิร์ซที่ดุเดือด (หลักๆ ก็นำโดย Alibaba ในร่างของ Lazada และคู่แข่งรายใหญ่คือ Shopee)

ช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ เราจะเห็นได้ว่า “ค้าปลีกไทย” ได้รับเอาวัฒนธรรม 11.11 เข้ามามากขึ้น

ที่น่าสนใจคือ ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหน ต่างก็ใช้ตัวเลข 11.11 มาลดราคาและส่งเสริมการขายกันอย่างถ้วนหน้า

ลองดูบางตัวอย่างที่ Brand Inside รวบรวมมา ดังนี้

  • Tops Online จัดโปรส่งฟรี ต้อนรับวันช้อปปิ้ง 11.11 พร้อมทั้งส่งโปรโมชั่นมาร่วมรายการมากมาย
  • Siam Inter Comics วงการหนังสือก็ลงมาเล่นกับวัฒนธรรม 11.11 ลดราคาเซ็ตหนังสือ แบะระบุว่าจะทำอย่างนี้ครั้งเดียวต่อปีเท่านั้น
  • McDonald’s แบรนด์ใหญ่ระดับโลก ก็ส่งโปรโมชั่น “Big Day” โดยเปิดเมนูใหม่ๆ และลดราคากระหน่ำเพียงครั้งเดียวในปีเท่านั้น
  • Wongnai (*Disclaimer Wongnai เป็นบริษัทแม่ของ Brand Inside) ส่ง Massage at Home บริการนวดเดลิเวอรี่ โดยมีโปรโมชั่น 11.11 ใช้โค้ดลดราคา 300 บาท พูดง่ายๆ จากการนวด 1 ชม. 400 บาท เหลือเพียง 100 บาท

11.11

นอกจากนั้น แม้แต่ การบินไทย สายการบินแห่งชาติที่ร่วมแคมเปญ 11.11 ลดราคาค่าตั๋วชั้นธุรกิจ (business class) มูลค่า 3,000 บาทหากเดินทางจากไทยไปมอสโก, เพิร์ท, กัมพูชา, ลาว, พม่า และเวียดนาม

หรืออินเทอร์เน็ตบ้านอย่าง true ยังได้ส่งโปรโมชั่น 11.11 ใช้คำส่งเสริมการขายว่าโปรแรงใช้นาน 11 เดือน และโปรโมชั่นนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 เดือน 11 นี้เป็นต้นไป

วันช้อปปิ้ง 11.11 กับการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค

ชัดเจนว่าค้าปลีกไทยได้รับเอา “วัฒนธรรม 11.11” เข้ามาใช้กันอย่างแพร่หลายแล้วในปัจจุบัน

11.11 จึงไม่ใช่แค่วันช้อปปิ้งทั่วไป แต่คือวัฒนธรรมที่แทรกซึมอยู่ใน “วิถี” ของการช้อปปิ้งหรือซื้อสินค้า

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับไปควบคู่กันคือ “วัฒนธรรม 11.11 ได้สร้างมาตรฐานใหม่ (new standard) ให้กับการบริโภคสินค้าของผู้บริโภคอย่างปฏิเสธไม่ได้”

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การเสนอลดราคาเพื่อส่งเสริมการขายของค้าปลีกในยุคนี้ ไม่ได้มีแค่ 11.11 เท่านั้น แต่ยังมี 8.8, 9.9, 10.10 และอีกมากมาย

เรียกได้ว่าใน 1 ปี ถ้าเห็นตัวเลขของ “วัน” ตรงกับ “เดือน” เมื่อไหร่ ให้เดาไว้เลยว่าจะมีการลดราคาสินค้าเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

แต่ถึงกระนั้น สำหรับผู้บริโภค สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ “โค้ด” และ “โปรโมชั่น” ไม่ใช่สิ่งสุดท้ายในโลก เพราะ “ของ/สินค้า” ถ้ามันราคาถูกอย่างเดียว แต่ไม่รู้ว่าซื้อมาแล้วจะใช้ประโยชน์อะไร ก็ไร้ประโยชน์อยู่ดี

และที่มากไปกว่านั้น ในห้วงขณะที่ 2 รายใหญ่ (อย่างน้อยก็ในบ้านเราอย่าง Lazada vs.Shopee) ยังดำเนินต่อไป ผลประโยชน์ย่อมตกที่ผู้บริโภคอย่างเรา แต่ถ้าในอนาคตเหลือผู้เล่นเพียงรายเดียว วันนั้นน่าจะเป็นวันที่ผู้บริโภคอาจจะเจ็บตัว เพราะไม่มีใครเอาใจแล้ว

ไม่รู้ว่าวันนั้นในอนาคตจะมาถึงเมื่อไหร่ แต่ผู้บริโภคไม่ควรสูญเสียความต้องการที่แท้จริงของตัวเองไป เพียงเพราะหลงอยู่ในภวังค์ของ “สงครามหั่นราคา”

ชวนฟังคลิป Brand Inside TALK พูดเรื่อง Lazada สงครามอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้ และวัฒนธรรม 11.11 ที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา