จับตา Shopee Food เตรียมบุกตลาด Delivery และ Food Service

ตลาด Food Delivery ถือได้ว่าตอบโจทย์ผู้บริโภคในช่วงเวลาโควิด-19 ได้อย่างดี ไม่ต้องออกบ้าน ลดการพบเจอ ลดความเสี่ยงในการติดโควิด ในขณะที่ด้านธุรกิจก็แข่งขันกันดุเดือดทั้งการขยายพื้นที่ให้บริการ เพิ่มร้านอาหารในระบบ เพิ่มจำนวนไรเดอร์หรือคนขับ และเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการ จนมีข่าวลือข่าวหลุดมาว่าอาจมีผู้ให้บริการบางรายถอยทัพ

แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ให้บริการรายใหม่เข้าสู่ตลาด คือ Shopee Food อาจเป็นการยืนยันว่าตลาดนี้ยังเติบโตได้อีกมาก และยังมีช่องว่างเหลืออยู่ จากปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลัก เช่น Grab, LINE MAN, Foodpanda, Gojek, Robinhood หรือก่อนหน้านี้อย่าง TrueFood

Shopee Food

ประกาศรับสมัครไรเดอร์ให้บริการเขต กทม.

หลังจากที่ Shopee ได้ซื้อกิจการ Foody สตาร์ทอัพที่ให้บริการด้านการรีวิวแนะนำร้านอาหาร และอดีตเคยมีบริการ Delivery ในชื่อ Now Delivery ซึ่งล่าสุดได้กลายมาเป็น Shopee Food เต็มตัว

Shopee Food ได้ประกาศรับสมัครไรเดอร์ เพื่อให้บริการขับส่งอาหาร หรือเรียกว่าบริการ Food Delivery นั่นเอง เป็นสัญญาณว่า Shopee กำลังจะเข้าสู่ตลาดนี้

Shopee Food

นอกจากนี้ Shopee Food ยังประกาศว่า ไรเดอร์ที่จะมาร่วมงานด้วย จะมีรอบวิ่งเยอะเพราะ Shopee Food มีพันธมิตรร้านค้าเป็นจำนวนมาก และมีฐานผู้ใช้งานทั้ง Shopee และ ShopeePay (บริการจ่ายเงิน) รวมถึงมีระบบหลังบ้านช่วยกระจายงานให้กับทุกคน

Shopee Food ไม่ใช่ไทยที่แรก มีบริการในอินโดนีเซียแล้ว

ในอินโดนีเซีย มีผู้ให้บริการ Food Delivery ใหญ่ 2 ราย คือ GrabFood และ GoFood ของ Gojek และมี ShopeeFood (เขียนติดกัน) เป็นผู้เล่นรายใหม่ที่เริ่มเข้าสู่ตลาดแบบจริงๆ ต้นปี 2564 เริ่มต้นจากกรุงจากา์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย มีพันธมิตรอาหารฟาสต์ฟู้ดและเครื่องดื่มกว่า 500 รายเข้าร่วม

อย่างที่รู้ว่า อินโดนีเซียมีประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีตลาดบริการส่งอาหารที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของ GMV (Gross Merchandise Value) จาการ์ตามีกำลังการบริโภคสูง ประชากรหนาแน่น และอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตสูง ตามรายงานเกือบ 69% ของชาวอินโดนีเซียสั่งอาหารส่งอาหารอย่างน้อยเดือนละครั้ง และ Shopee ที่มีฐานผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่มากกว่า 40 ล้านรายต่อเดือนในอินโดนีเซีย ใช้ส่วนนี้สร้างโอกาสนำเสนอบริการจัดส่งอาหารให้ชาวอินโดนีเซีย

นอกจากนี้การเข้าสู่บริการ ​ShopeeFood จะช่วยให้ Shopee และ Sea Group เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ จากเดิมที่เน้นในกลุ่ม e-commerce คือ Shopee และ Payment คือ ShopeePay

แม้จะยังตามหลัง GrabFood และ GoFood อยู่เพราะทั้งสองรายมีฐานบริการขนส่งที่แข็งแกร่งอยู่แล้วจากบริการรับส่งคน แต่ก็ยังมีโอกาสอีกไม่น้อย

food delivery
ภาพจาก Shutterstock

Shopee Food เสริมแกร่งธุรกิจ Shopee ในไทย

Shopee คือบริการ e-commerce ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไทยเคียงคู่มากับ Lazada มีโปรโมชั่นออกมาทุกเดือน มีระบบเก็บคะแนน Shopee Coin เพื่อแลกรับสิทธิพิเศษและส่วนลดต่างๆ มีบริการ ShopeeExpress บริการขนส่งของตัวเองเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าบางส่วน และบริการ ShopeePay ที่เพิ่งรีแบรนด์จาก AirPay

เรียกว่า Shopee มีครบทุกบริการในส่วนของการซื้อของออนไลน์

ดังนั้น การขยายบริการ Shopee Food จะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจได้อีกมาก โดยเฉพาะเรื่องของฐานลูกค้า ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับ แต่อย่างไรก็ตาม การเป็นน้องใหม่ในตลาด Food Delivery ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

สำรวจเจ้าตลาดเดิมแล้ว น้องใหม่ไม่ง่ายอย่างที่คิด

ผู้ให้บริการในตลาดเดิมโดยคร่าวๆ Grab และ Foodpanda ที่ยึดครองพื้นที่จังหวัดหลักๆ ได้ทั้งหมด ส่วน LINE MAN กำลังเร่งขยายพื้นที่ให้บริการ พร้อมกับการสร้างกองทัพไรเดอร์ของตัวเอง ขณะที่ Gojek เพิ่งผ่านการปรับแบรนด์จาก Get มาไม่นาน ก็มีการทำโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ Robinhood มีเจ้าของคือ SCB เป็นธนาคารใหญ่ของไทย จุดเด่นที่ชัดเจนคือ การไม่เก็บค่า GP จากร้านอาหาร สุดท้ายเหลือ TrueFood ที่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรมากนัก

ดังนั้น สิ่งที่ Shopee Food จะต้องเจอ นอกจากการรับน้องจากผู้ให้บริการรายเดิมแล้ว ต้องหาร้านอาหาร, คนขับ (ซึ่งกำลังรับสมัครอยู่ในเวลานี้) และฐานผู้ใช้จำนวนมาก ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

สรุป

Shopee ก็ไม่ธรรมดาใน e-commerce แต่จะขยับมาบุกตลาด Food Delivery มากน้อยแค่ไหน และจะสามารถแข่งขันหรือขยายธุรกิจได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ยังต้องต้องติด แต่ยิ่งมีผู้ให้บริการมากเท่าไร ผลดีก็เกิดกับผู้บริโภคมากเท่านั้น

Source

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา