Shonen Jump อาจใช้ลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนในมือบุกตลาด VTuber ต่อยอดรายได้ธุรกิจฝั่งดิจิทัล

กระแส Virtual YouTuber หรือ VTuber เติบโตไม่หยุด โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับเงินสนับสนุนจำนวนมาก และเป็นพรีเซนเตอร์อาหาร ล่าสุด Shonen Jump สำนักพิมพ์การ์ตูนชั้นนำเตรียมเข้ามาร่วมศึกนี้บ้าง

shonen jump

Shonen Jump กับการสำรวจ VTuber

รายงานข่าวแจ้งว่า ในหนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ Weekly Shonen Jump เล่มที่ 14 ของปี 2564 มีการแนบคำถามสำรวจผู้อ่านเกี่ยวกับ VTuber ตั้งแต่เรื่องความถี่ในการรับชม VTuber, VTuber ที่ชอบ ทั้งหาก Shonen Jump ทำ VTuber จะรับชมหรือไม่ และอยากให้ VTuber ของ Shonen Jump ทำเนื้อหาแบบใด

ทั้งนี้ในข้อที่ถามเกี่ยวกับ VTuber ที่ชอบ ทาง Shonen Jump ระบุตัวเลือกกว่า 30 ชื่อ ครอบคลุมตั้งแต่ VTuber ฝั่งเล่นเกม, ร้องเพลง, เล่นตลก จนถึง VTuber ชาวญี่ปุ่นที่ทำเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ โดยเมื่อปี 2561 ทาง Shonen Jump เคยทำสำรวจเกี่ยวกับเรื่อง VTuber มาครั้งหนึ่งแล้ว

สำหรับ Shonen Jump เป็นสำนักพิมพ์การ์ตูนชั้นนำของญี่ปุ่น มีการ์ตูนชื่อดังตีพิมพ์ในหนังสือรายสัปดาห์มากมาย เช่น Dragon Ball, One Piece, Naruto, Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba และอื่นๆ ดังนั้นหากมีตัวการ์ตูนจากเรื่องดังกล่าวมาเล่นเกม หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ให้ดู น่าจะเป็นมิติใหม่ในวงการ VTuber ไม่น้อย

แล้ว VTuber คืออะไร?

หากยังจินตนาการไม่ออก VTuber จะเหมือน YouTuber เพียงแต่เปลี่ยนตัวเดินเรื่องทั้งหมดเป็นตัวการ์ตูน โดยบางช่องมาเป็นตัวการ์ตูนพร้อมเสียงเจ้าของช่อง YouTube หรือบางช่องตัวการ์ตูนสามารถแสดงอารมณ์ต่างๆ ผ่านการใช้กล้องจับภาพเจ้าของช่อง ทำให้ผู้ชมได้รับความรู้สึกต่างๆ จากตัวการ์ตูนได้ดีกว่าเดิม

ทั้งนี้ VTuber ทุกรายต่างไม่เปิดเผยชื่อ และหน้าตาจริงๆ จึงเปิดกว้างให้ผู้ชมได้จินตนาการ และสนุกไปกับเนื้อหาที่ VTuber เหล่านั้นสร้างขึ้น คล้ายกับการดูการ์ตูนเรื่องหนึ่ง แต่เป็นการ์ตูนที่เกิดขึ้นแบบสด ไม่ใช่บันทึกเทปไว้ ซึ่งจุดนี้เองทำให้ VTuber ได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยเฉพาะในญี่ปุ่น และที่ไทยก็เริ่มมีคนทำ VTuber บ้างแล้ว

ธุรกิจฝั่งดิจิทัลคือฟันเฟืองตัวใหม่

2-3 ปีที่ผ่านมา Shonen Jump เริ่มรุกธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น เนื่องจากการจำหน่ายหนังสือการ์ตูนสร้างรายได้ได้ลำบาก ผ่านการถูกละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนมาก โดยสิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือการเปิดแพลตฟอร์มให้อ่านการ์ตูนฟรีในหลายประเทศ และหารายได้จากโฆษณา รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มสมัครสมาชิกอ่านการ์ตูนได้ทุกตอนเป็นต้น

สรุป

Shonen Jump เป็นอีกตัวอย่างที่ดีของธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่พยายามปรับตัวในโลกดิจิทัล เพราะการจะทนขายการ์ตูนแบบรูปเล่มรายสัปดาห์อย่างเดียวคงไม่ไหว และการต่อยอดไปสู่สิ่งพิมพ์แบบดิจิทัลน่าจะช่วยได้มากกว่า ยิ่งการเอาตัวละครมาปรับเป็น VTuber ก็เป็นอีกวิธีที่ดูน่าสนใจ

อ้างอิง // Soranews24

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา