งานลดราคาสินค้าต่างๆ มักจัดขึ้นในกรุงเทพ ทำให้คนต่างจังหวัดยากที่จะซื้อสินค้าในราคาสุดประหยัด ShobShop จึงเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการสร้างบริการรับหิ้วสินค้าจากงานเหล่านี้ ผ่านคนรับหิ้วมืออาชีพ และปลอดภัยในทุกการจับจ่าย
เริ่มมาจากการทดลองบน Facebook
ShobShop เริ่มต้นมาจาก Facebook Page ที่รวบรวมข่าวสารวงการช้อปปิ้ง และโปรโมชั่นจากแบรนด์ต่างๆ ผ่านผู้ติดตามกว่า 4.8 ล้านคน และด้วยความนิยมนี้เอง ทำให้ทางเพจ มีผู้ติดตามทั้งในไทยและจากประเทศเพื่อนบ้านติดต่อเข้ามาฝากซื้อสินค้าต่างๆ ที่โพสต์ลงไปแต่ละครั้ง มาสู่ผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มรับหิ้วสินค้าที่มีทีมคนรับหิ้วมืออาชีพ
ปรีดิ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ShobShop เล่าให้ฟังว่า เมื่อสองปีก่อน ในแต่ละวันทีมงานของเราจะได้รับการข้อความทาง inbox และ comment ให้ฝากซื้อสินค้าจากคอนเทนต์และโปรโมชั่นที่ลงไว้ใน Facebook Page กว่า 1,000-2,000 ข้อความ เพราะข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง เวลา หรือค่าใช้จ่าย ที่ทำให้นักช้อปกลุ่มนี้ไม่สามารถไปเลือกซื้อสินค้าได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเวลาบริษัทติดต่อกลับไปเกี่ยวกับรายละเอียด ผู้ที่ส่งข้อความมาก็พร้อมโอนค่าใช้จ่ายมาให้ทันที แสดงให้เห็นถึง potential ที่แข็งแรงของผู้บริโภคกลุ่มนี้
“ปกติแล้วทุกโพสต์ใน Facebook Page ของเราจะมีพ่อค้าแม่ค้าจะมาคอมเมนต์รับหิ้วสินค้าเหล่านั้นอยู่แล้ว บวกกับดีมานด์ที่ล้นหลามจากผู้ติดตามเพจ ดังนั้นเราเลยทดลองเป็นพ่อค้ารับหิ้วบ้าง ซึ่งผลลัพธ์มันก็ออกมาค่อนข้างดี เราเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มรับหิ้วที่เชื่อถือได้โดยอาศัยความแข็งแกร่งเรื่อง Social Commerce ของเราเป็นแกนหลัก”
ปิดจุดอ่อน-ได้ความร่วมมือจากผู้รับหิ้ว
ปัจจุบันแพลตฟอร์มกลางสำหรับรับหิ้วสินค้าของ ShobShop มีพ่อค้าแม่ค้ารับหิ้วสมัครเข้ามา 2,000-3,000 คนในระบบ ซึ่งชอบช้อปได้คัดเลือกเฉพาะคนรับหิ้วที่มีประสบการณ์ และตรวจสอบประวัติแล้ว โดยคนเหล่านี้คิดเป็นตัวเลขที่ให้บริการประจำ (Active) ที่หลักร้อยคน ซึ่งมีหลายคนที่เจาะกลุ่มลูกค้าโดยการ comment ใต้โพสต์ และติดตามอัปเดตสินค้าจากเพจ ‘ชอบช้อป – ShobShop’อยู่แล้ว ดังนั้นการมาอยู่ในระบบจะเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้กับพวกเขา
“จุดอ่อนของธุรกิจรับหิ้วสินค้าคือความเชื่อใจ เพราะผู้ซื้อต้องโอนเงินก่อน จึงไม่รู้ว่าจะได้รับสินค้า และสินค้านั้นจะเป็นของจริงที่วางขายตามงานหรือไม่ ส่วนผู้รับหิ้วก็ไม่รู้ว่าผู้ซื้อโอนเงินจริงหรือไม่ ดังนั้นการที่ ShobShop เข้ามาเป็นตัวกลางจะแก้ปัญหานี้ได้ และทุกฝ่ายต่างได้ผลประโยชน์”
และเพื่อให้การรับหิ้วเชื่อมโยงผู้บริโภคกับแบรนด์ได้มากขึ้นยิ่งขึ้น ShobShop ได้ทำงานร่วมมือกับแบรนด์ และผู้จัดอีเวนต์งานลดราคาสินค้า จนผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อสินค้าได้หลากหลาย และทางแบรนด์ กับผู้จัดงานเองจะได้ช่องทางใหม่ในการจำหน่ายสินค้า ไม่จำเป็นต้องพึ่งแต่ผู้ซื้อที่มาจากหน้าร้าน หรือแวะชมงานลดราคาในสถานที่ต่างๆ
ยกระดับสู่ผู้จัด Virtual Sale ในไทย
“ก่อนหน้านี้การจัดงานลดราคาของแบรนด์ต่างๆ จะถูกจำกัดสถานที่ไว้ในห้างสรรพสินค้า หรือคลังสินค้า ดังนั้นผู้ซื้อส่วนใหญ่จะถูกจำกัดไว้แค่คนที่อยู่ใกล้ที่จัด หรือคนอยู่ไกล แต่ตั้งใจไปงานนั้นจริงๆ แต่ ShobShop ต้องการทำลายกำแพงนั้นด้วยการเชื่อมโยงลูกค้ากับแบรนด์ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มและคนรับหิ้วของเรา”
ขณะเดียวกัน ShobShop ได้ร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ ทั้งกลุ่ม Fast Fashion, Sneakers และ Beauty Product เพื่อนำเสนอ Content แนะนำสินค้า และโปรโมชันจาก Consumer Insight จริง สามารถจูงใจกลุ่มผู้ซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพวกเขายังตัดสินใจซื้อสินค้าได้ทันทีบริการรับหิ้วสินค้า ซึ่งการทำแบบนี้ช่วยให้แบรนด์ที่มีหน้าร้านในกรุงเทพ สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดได้มากขึ้น
“ไม่ใช่แค่ลูกค้าในประเทศไทย เพราะ Virtual Sale ทำให้ลูกค้าประเทศเพื่อนบ้านเข้าถึงสินค้าลดราคาเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ผ่านการที่พวกเขาติดตามเพจต่างๆ ในประเทศไทยอยู่แล้ว และอยากซื้อสินค้าเหล่านั้นบ้าง ซึ่ง ShobShop ก็นำความต้องการนี้มาเจอกับแบรนด์ต่างๆ ยิ่งCOVID-19 ยังระบาดอยู่ ทำให้พวกเขาค่อนข้างลำบากในการทำธุรกิจ ดังนั้น ShobShop จะเข้ามาเป็น End to End Service ที่ตอบโจทย์ธุรกิจเหล่านั้นด้วย Social Commerce ที่มีประสิทธิภาพ”
ผู้นำของแพลตฟอร์ม Social Commerce
สำหรับเป้าหมายระยะยาวของ ShobShop เบื้องต้นบริษัทต้องการเป็นผู้นำของแพลตฟอร์ม Social Commerce หรือการเป็นผู้นำของการใช้ Social Network ต่างๆ ในการซื้อ-ขายสินค้า โดยเริ่มจากเป็นแพลตฟอร์มรับหิ้วสินค้าที่ใช้วิธี Conversational Commerce ให้ลูกค้าและคนรับหิ้วสามารถสื่อสารกันได้ง่าย รวดเร็ว ได้ข้อมูลสินค้าอย่างครบถ้วน ผ่านระบบ Live Chat ปิดการขายได้ ณ ตอนนั้น
ปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้งานของ ShobShop กว่า 90% เป็นคนต่างจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่พื้นที่ห่างไกลห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนในกรุงเทพ และหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดที่ไม่มีเวลาไปซื้อสินค้าลดราคาตามงานต่างๆ ผ่านเวลางานที่รัดตัว แต่เพื่อเพิ่มโอกาสธุรกิจ ShobShop จึงขยายช่องทางใหม่เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม เช่น “ชอบกิน – ShobKin” เพจคอนเทนต์ด้านอาหารที่นำเสนอผ่านมุมมองใหม่ๆ เพื่อคนรักการกินโดยเฉพาะ
สรุป
ShobShop เป็นอีกธุรกิจที่เติบโตในช่วง COVID-19 เพราะยอดออเดอร์รับหิ้วในเดือนมกราคม ปี 2564 เติบโตขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2563 ถึง 193.30% และลูกค้าซื้อซ้ำในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 198.28% ทั้งยังชึ้ให้เห็นว่า Social Commerce ยังไม่หายไปจากประเทศไทยง่ายๆ ดังนั้น ShobShop ก็ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกไกล ด้วยความเข้าใจในอินไซต์ของคนรักการช้อปปิ้งและบริการใหม่ๆ ที่จะตามมา
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา