ไปรษณีย์เอกชนโตลำบาก! Shipsmile สบช่องยกระดับธุรกิจนี้ด้วยแพลตฟอร์มศูนย์รวมขนส่งพัสดุ

ในอดีตธุรกิจรับส่งจดหมาย และพัสดุกับไปรษณีย์ไทย หรือที่คุ้นเคยในชื่อ “ไปรษณีย์เอกชน” นั้นเลี้ยงตัวเองได้ แต่ปัจจุบันด้วยคู่แข่งไปรษณีย์ไทยมีจำนวนมาก ทำให้ร้านเหล่านี้ลำบาก และนั่นคือโอกาสใหม่ของ Shipsmile

shipsmile
หน้าร้านของ Shipsmile

โอกาสยากที่จะเป็นเสือนอนกิน

ร้านไปรษณีย์เอกชนในปัจจุบันนั้นมีมากกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศไทย มีรายใหญ่ที่มีสาขากว่า 200 แห่งราว 5 ราย เช่น Quick Service, Winsent และ Pay Point เป็นต้น ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ยังพอประคองตัวเองไปได้ แต่ที่หนักคือผู้ให้บริการรายย่อยที่เน้นทำรายได้จากค่าธรรมเนียมในการส่งจดหมาย หรือพัสดุต่อไปยังไปรษณีย์ไทย

เพราะในอดีตกว่าจะไปส่งจดหมาย หรือพัสดุที่ไปรษณีย์ไทยได้นั้นแสนยาก ยิ่งในต่างจังหวัดที่ตัวศูนย์นั้นห่างจากตัวเมืองมาก ทำให้ร้านเหล่านี้นั้นกินค่าธรรมเนียมได้สบายๆ แต่ปัจจุบันมีบริษัทขนส่งพัสดุหน้าใหม่กระจายสาขาไปทั่ว แถมบางรายยังยอมไปรับพัสดุถึงบ้านแม่เพียงชิ้นเดียวเพื่อไปส่งให้ เรียกได้ว่าไปรษณีย์เอกชนอยู่ยากแน่ๆ

shipsmile
สฐีรณัฐ ลาภไกวัล ประธานกรรมการบริหาร Shipsmile Services

“ผมไม่เห็นโอกาสที่พวกเขาจะเติบโตได้เลย เพราะค่ายส้ม, ค่ายเหลือง หรือค่ายสีอื่นก็ต่างยอมกดราคาลงมา แถมขยายสาขาเพื่อใกล้กับผู้ส่งมากที่สุด ดังนั้นเหล่าไปรษณีย์เอกชนนั้นถ้าไม่ปรับตัวก็คงอยู่ยาก และถึงจะมีความเป็นร้านสารพัดบริการ ก็ยังอยู่ได้ยากอยู่ดี” สฐีรณัฐ ลาภไกวัล ประธานกรรมการบริหาร Shipsmile Services กล่าว

ไปรษณีย์เอกชนยังมีประโยชน์ถ้าเข้าใจ

อย่างไรก็ตามถึงจะอยู่ยาก แต่ร้านไปรษณีย์เอกชนที่มีจุดแข็งคือใกล้ชุมชน และให้บริการได้สารพัด เช่นจองตั๋วเครื่องบิน, จ่ายบิลสาธารณูปโภค, ต่อภาษี-พ.ร.บ.รถยนต์ รวมถึงถ่ายเอกสาร ดังนั้นถ้านำจุดเด่นทั้งสองมาพัฒนาให้ดีขึ้น ก็น่าจะเป็นร้านค้าที่เป็นมากกว่าแค่ร้านที่ผูกทุกอย่างไว้กับไปรษณีย์ไทย

“Shipsmile มองว่าร้านไปรษณีย์เอกชนเหล่านี้ยังเติบโตได้ ถ้าเปิดตัวเอง ทำให้เมื่อ 2 ปีก่อนบริษัทตัดสินใจปรับตัวเองจากหนึ่งในผู้ทำธุรกิจไปรษณีย์เอกชน มาเป็นผู้ออกแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เชื่อมต่อบริษัทขนส่งพัสดุต่างๆ ไว้ เพื่อปลดล็อคตัวเอง พร้อมกับนำแพลตฟอร์มดังกล่าวไปทำตลาดในรูปแบบเฟรนไชส์ด้วย” สฐีรณัฐ เสริม

สำหรับ Shipsmile ปัจจุบันมีกว่า 600 สาขาทั่วประเทศไทย โดยตัวแพลตฟอร์มรับส่งพัสดุนั้นมีจุดเด่นคือค่าส่งเทียบเท่ากับส่งกับเจ้าของแบรนด์ ทำให้จากเดิมที่ร้านไปรษณีย์เอกชนจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียม ก็เปลี่ยนเป็นรายได้จากการทำ Drop Off ให้กับบริษัทขนส่งต่างๆ โดยหักจากค่าส่งที่เกิดขึ้นแทน

Flash Express
Flash Express

ตั้งเป้า 1,000 สาขาทั่วไทยสร้างแต้มต่อ

“Shipsmile ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2562 จะต้องให้บริการทั้งหมด 1,000 สาขา เพื่อดึงดูดพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจอื่นๆ ให้เข้ามาร่วมใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ตัวนี้ และไม่ได้หยุดแค่บริษัทขนส่งพัสดุ แต่หมายถึงบริการใดๆ ก็ได้ที่ต้องการได้จุดแข็งเรื่องความใกล้ชุมชน” สฐีรณัฐ กล่าว

ทั้งนี้พาร์ทเนอร์ของ Shipsmile มีทั้งไปรษณีย์ไทย, แฟลช เอ็กซ์เพรส และอัลฟ่า ค่าส่งพัสดุต่ำที่สุด 25 บาท มีบริการ Cash on Delivery เพื่อตอบโจทย์พ่อค้าออนไลน์ จากจุดนี้เองทำให้ Shipsmile ทำรายได้กว่า 80 ล้านบาทในปี 2561 เพิ่มขึ้น 1,000% และคาดว่าในปี 2562 จะมียอดส่งพัสดุถึง 1 ล้านชิ้น/เดือน

shipsmile
ตัวธุรกิจของ Shipsmile

ส่วนตัวราคาของการขายเฟรนไชส์ของ Shipsmile นั้นเริ่มต้นที่ 29,000 บาท จะได้อุปกรณ์เบื้องต้น และซอฟท์แวร์ที่ใช้เชื่อมต่อระบบ เหมาะกับการวางตัวเป็น Drop Off ส่งสินค้า และเป็นแค่งานเสริม ไม่ใช่งานหลัก และสูงสุดที่ 2.29 แสนบาทจะได้เป็นตัวร้านตกแต่ง Shipsmile แต่อาจไม่ตอบโจทย์ในยุคปัจจุบันที่แค่ Drop Off ก็พอแล้ว

สรุป

ร้านไปรษณีย์เอกชนอยู่ยากจริง เพราะเวลาจะส่งพัสดุก็หาร่านที่รับผิดชอบเรื่องนี้ได้ค่อนข้างง่าย ดังนั้นหากไม่ต้องการให้ธุรกิจหายไปกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด การปรับตัวเองก็เป็นเรื่องจำเป็น หากไม่ใช่ Shipsmile ก็อาจรับเป็น Drop Off ของค่ายอื่นก็ได้ แต่ที่แน่ๆ คือถ้าจมอยู่กับแค่ไปรษณีย์ ก็คงจะไม่รอด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา