เมื่อพ่อค้า E-Commerce ขอแค่ค่าส่งถูก Shippop จึงจับบริการ Logistic มาเทียบราคากันให้เห็นๆ

E-Commerce ในไทยตอนนี้เติบโตขึ้นมา โดยเฉพาะฝั่ง Chat Commerce หรือการซื้อขายกันตาม Social Media ต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย และนั่นก็เป็นเป้าหมายสำคัญของ Shippop ในการทำตลาด

สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด
สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด

ได้ราคาถูก แถมทุกคน Win

Shippop เป็นหนึ่งใน Stratup กลุ่มแรกๆ ที่ให้บริการเกี่ยวกับ E-Logistic หรือแพลตฟอร์มการขนส่งบนโลกออนไลน์ในประเทศไทย ผ่านการจับแพะชนแกะ ด้วยวิธีรวบรวมบริการขนส่งพัสดุในประเทศไทยให้เข้ามาอยู่ในระบบตัวเอง พร้อมกับซื้อเหมาจำนวนการขนส่งล่วงหน้า เพื่อนำมาให้บริการกับร้านค้าทั่วไปในราคาที่ถูกกว่าใช้งานปกติ

สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด เล่าให้ฟังว่า ด้วยตอนนี้การแข่งขันของบริการขนส่งพัสดุในไทยค่อนข้างดุเดือด ผ่านการเติบโตของ E-Commerce จนมีจำนวนการส่งกว่า 2 ล้านชิ้น/วัน ดังนั้นการเข้าไปในสมรภูมินี้ตรงๆ คงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก หากไม่มีเงินทุนสูง และการเข้าแบบแพลตฟอร์มน่าจะเหมาะสมกว่า

“ตลาด E-Logistic แข่งกันด้วยราคาเป็นอันดับแรก ดังนั้นรายที่เข้ามาใหม่ไม่ว่าจะไทย หรือทุนต่างชาติ ล้วนทุ่มตลาดด้วยการลดราคาแน่นอน แต่มันคงทำแบบนั้นไปตลอดไม่ได้ ดังนั้นมันจะดีกว่าไหมถ้าเราซื้อ Volume บริษัทขนส่งมาเป็น Bout เพื่อได้ราคาที่ถูกกว่า แล้วเอามาขายต่อกับร้านค้าทั่วไป ซึ่งทุกคนก็ Win กันหมด”

ติดตลาดไทย เตรียมโตอาเซียน

สำหรับในตลาดไทยเอง Shippop ที่ทำตลาดมากว่า 2 ปี โดยปี 2560 มีการส่งพัสดุผ่านระบบไปทั้งหมด 2 ล้านชิ้น คิดเป็น 3.1% ของการส่งพัสดุทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 635% ทำรายได้ไปทั้งหมด 70 ล้านบาท ส่วนปี 2561 ตั้งเป้าเติบโตอย่างน้อยเท่าตัว หรือส่งพัสดุ 4 ล้านชิ้น และมีรายได้ 140 ล้านบาท

“เหตุที่ Shippop เดินมาถึงจุดนี้ได้ เพราะเราร่วมกับบริษัทขนส่งในไทยกว่า 10 ราย เช่นเชื่อมต่อระบบกับไปรษณีย์ไทย, เอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส และลาล่ามูฟ เป็นต้น นั่นทำให้มีร้านค้า E-Commerce รายย่อยใช้บริการเรากว่า 4,000 ราย และมีแบรนด์ดังๆ รวมถึงเว็บไซต์ E-Commerce ขนาดใหญ่ใช้บริการหลัก 200 ราย”

จึงไม่แปลกที่น้องเล็กในตลาด E-Logistic รายนี้ที่มีฐานลูกค้า และระบบขนส่งจำนวนมากจะค่อยๆ ขยายไปในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปี 2560 ได้เข้าไปทำตลาดมาเลเซีย และสิงคโปร์แล้ว  ผ่านการจับมือกับ commerce.asia ซึ่งปีนี้จะเข้าไปในกัมพูชาเพิ่มเติม

ต่อขึ้น Series A ขยายธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม Shippop ไม่ได้หยุดขยายธุรกิจแค่นี้ เพราะต้องการระดมทุนขึ้นไปอยู่ในขั้น Series A เพื่อนำเงินไปต่อยอดธุรกิจในต่างประเทศ รวมถึงรับมือกับยักษ์ใหญ่จากต่างชาติที่น่าจะเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นในปีนี้ หลังซุ่มศึกษาตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว

“เรายังหานักลงทุนเพิ่มอยู่ ซึ่งปัจจุบันก็มี Angel จำนวนหนึ่งติดต่อมาหาเราแล้วเหมือนกัน ไม่ได้มีแต่ VC เพียงอย่างเดียว และยิ่งบริการขนส่งนั้นผู้ใช้โดยเฉพาะกลุ่มร้านค้าออนไลน์รายย่อยแทบจะไม่มี Loyalty เน้นแต่ถูก แต่เราต้องแสดงถึง Quality ให้ได้ เพื่อความยั่งยืนในการใช้บริการในอนาคต”

ส่วนภาพรวมตลาดการขนส่งพัสดุจาก E-Commerce ในปีนี้น่าจะเติบโตราว 10% จากปี 2560 ที่มี 2 ล้านชิ้น/วัน ใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตของมูลค่า E-commerce ที่น่าจะเพิ่มขึ้น 10% จาก 2.8 ล้านล้านบาทในปี 2560 และบริการที่จะเห็นจาก Shippop ในไทยปีนี้แน่ๆ คือ บริการเก็บเงินปลายทาง (COD) เพื่อรองรับตลาด

สรุป

บริการ Logistic นั้นแข่งขันกันหนักจริงๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำ Fulfillment เต็มรูปแบบ จึงเชื่อว่าหลายๆ คนคงออกจากตลาดไป เพราะแข่งเรื่องราคาไม่ได้ แต่ไม่น่าใช่กับ Shippop ที่วางตัวเองเป็นเหมือนแพลตฟอร์มเทียบราคาขนส่ง และโตไปด้วยกันกับทุกคน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา