Shinkanzen Sushi จากร้านอาหารของนักศึกษา มธ. สู่กิจการมูลค่า 1,000 ล้านบาท

เมื่อพูดถึงร้านอาหารญี่ปุ่น แม้ตัวเลือกในบ้านเราอาจจะมีหลากหลาย แต่เชื่อว่า Shinkanzen Sushi น่าจะติดอยู่ในลิสต์แรกๆ ของหลายๆ คน 

ซึ่งล่าสุด Shinkanzen Sushi ได้ขายกิจการให้กับ Central Restaurant Group หรือ CRG ผ่านการขายหุ้นจำนวน 51% มูลค่า 510 ล้านบาท

แม้เราจะคุ้นเคยกับแบรนด์อาหารญี่ปุ่นแบรนด์นี้กัน จากซูชิและเมนูที่ราคาไม่แพง รวมถึงการขยายสาขาจำนวนมากโดยเฉพาะในตัวเมือง แต่เชื่อว่ากลุ่มคนที่คุ้นเคยและน่าจะผูกพันธ์กับ Shinkanzen Sushi มากที่สุด น่าจะหนีไม่พ้นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เพราะจุดเริ่มต้นของแบรนด์ เริ่มจากที่นั่น

Shinkanzen sushi 
Shinkanzen Sushi ก่อตั้งโดยคุณชนวีร์ หอมเตย และ คุณศุภณัฐ สัจจะรัตนกุล เมื่อปี 2558 สมัยเป็นนักศึกษาปี 3 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้ทุนตั้งต้นคนละ 100,000 บาท สาขาแรกอยู่ที่แถวหอพัก ประตูเชียงราก 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต มีเพียง 7-8 โต๊ะ แต่ก็ขายดีเกินคาดตั้งแต่ช่วงแรกๆ

สาเหตุที่ได้รับความนิยมเพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ช่วงนั้นยังไม่ค่อยมีร้านอาหารญี่ปุ่นแนวนี้มาเปิด ทำให้ได้รับความสนใจจากนักศึกษาค่อนข้างมาก จนมีการบอกปากต่อปาก ไปจนถึงแชร์ลงโซเชียลมีเดีย ทำให้ร้านเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และขยายไปยังสาขาอื่นๆ ทั้งใจกลางเมือง นอกเมืองและต่างจังหวัด

ปัจจุบัน Shinkanzen Sushi จดทะเบียนภายใต้บริษัท ฟู๊ด ซีเล็คชั่น จำกัด มีทั้งหมด 43 สาขา รวมแบรนด์ย่อยที่แตกออกมาทั้ง ShinkanzenGo และ Shinkanzen Omakase ด้วย 

จุดเด่นของ Shinkanzen Sushi คงหนีไม่พ้นเรื่องราคา ที่ขายซูชิเริ่มต้นคำละ 11 บาท และมีเมนูให้เลือกปัจจุบันเกือบ 200 เมนู ขณะที่การแตกแบรนด์ ShinkanzenGo ก็เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการสั่งกลับบ้านโดยเฉพาะ เนื่องจากเดิมหากลูกค้าต้องการจะสั่งกลับบ้าน ก็ต้องต่อคิวกับกลุ่มลูกค้าที่ทานที่ร้าน กลายเป็นโอกาสที่ร้านจะสูญเสียลูกค้า ShinkanzenGo จึงถูกเปิดแยกจาก Shinkanzen Sushi เหมาะสำหรับลูกค้าสั่งกลับบ้าน เพราะไม่ต้องรวมออเดอร์กับทานที่ร้าน 

Shinkanzen sushi

ขณะที่ในช่วงโควิด ทำให้ธุรกิจหลายธุรกิจจะได้รับผลกระทบและต้องปรับตัว เช่นเดียวกับ Shinkanzen Sushi ที่อาศัยการเช่าพื้นที่ข้างศูนย์การค้าที่มีครัว แต่ก็โชคดีที่ทางร้านมีการทำเดลิเวอรี่ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เลยไม่ได้ต้องปรับตัวขนานใหญ่ แต่ก็ต้องออกเมนูเหมาะสมกับเดลิเวอรีเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในช่วงนั้นมากขึ้น อย่างเช่นเมนูเบนโตะ, ข้าวหน้าต่างๆ ไปจนถึงแซลมอนไข่ดอง รวมถึงการทำโปรโมชันดึงดูดใจลูกค้าในช่วงโควิด แต่ก็ถือว่าโชคดีด้วยที่ร้านยังมีฐานลูกค้าที่สั่งประจำ ทำให้สามารถประคับประคองธุรกิจผ่านช่วงโควิดมาได้

ขณะที่รายได้ของฟู๊ด ซีเล็คชั่นก็ถือว่าเติบโตขึ้นทุกปี 

  • ปี 2560 รายได้ 53 ล้านบาท กำไร 1.3 แสนบาท
  • ปี 2561 รายได้ 269 ล้านบาท กำไร 23.8 ล้านบาท 
  • ปี 2562 รายได้ 476 ล้านบาท กำไร 49 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้ 603 ล้านบาท กำไร 46 ล้านบาท

และล่าสุดก็ขายกิจการให้กับ Central Restaurant Group (CRG) ภายใต้บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (CPN) ด้วยสัดส่วนหุ้น 51% มูลค่า 510 ล้านบาท ด้วยตัวเลขนี้เท่ากับว่ามูลค่ากิจการของบริษัท ฟู๊ด ซีเล็คชั่น จำกัดอยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาท ด้วยระยะเวลาของกิจการเพียง 7 ปีเท่านั้น

น่าสนใจว่า Shinkanzen Sushi ภายใต้การนำของ CRG หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เติบโตขึ้นไปมากน้อยแค่ไหน รวมถึงคุณภาพของอาหารและราคาจะยังคงเหมือนเดิมต่อไปหรือมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

อ้างอิง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
อุดมสิน ศรีสุชินวงศ์ | นักข่าว นักเขียน สนใจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและธุรกิจในแวดวงเทคโนโลยี