เห็นโอกาส ทันความท้าทาย “พลิก” ธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้ แนวคิด 4 กูรูงาน Shift Happens

โลกก้าวสู่อนาคตด้วยความเร็ว หลายอาชีพกำลังจะตกงาน หลายธุรกิจกำลังจะสูญพันธุ์ คาดการณ์ว่า 6% ของงานที่มีอยู่ในปัจจุบันจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ภายใน 5 ปี ข้างหน้า และจะเพิ่มขึ้นเป็น 47% ใน 20 ปี

อุตสาหกรรมและธุรกิจที่จะนิยามโลกยุคใหม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาแล้ว วิธีคิดในการทำธุรกิจกำลังเปลี่ยนไป เมื่อการวัดความโปร่งใสขององค์กรภาคธุรกิจ (Defence Companies Anti-Corruption Index) คือ เทรนด์ใหม่ที่กำลังมา ผู้บริโภคมีอำนาจกำกับพฤติกรรมภาคธุรกิจอย่างเข้มข้น ภาคธุรกิจจึงต้องคิดให้ละเอียด

ในวันที่กว่า 70% ของผู้บริโภครุ่นใหม่จากทั่วโลกไม่ได้ต้องการเพียงแค่สินค้าและบริการที่ดี แต่ต้องการมั่นใจว่า ภาคธุรกิจมีความโปร่งใสด้วย ดังนั้น “ความโปร่งใส” จึงกลายเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการทำธุรกิจในอนาคตอันใกล้ และความอยู่รอดของธุรกิจกลายเป็นเรื่องเดียวกับการสร้างสังคมที่ดีกว่า

dtac ได้จัดงาน Shift Happens: พลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้ ชวนทุกคน “พลิก” สู่วิธีคิดในการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ พบกับมุมมองสำคัญในการเปลี่ยน เพื่อก้าวสู่ธุรกิจทันโลก เศรษฐกิจประเทศที่เติบโต และสังคมที่ดีไปพร้อมกันกับ 4 วิทยากรชั้นนำ

พลิกให้ทันอนาคต

Alec Ross (อเล็ก รอสส์) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา เป็นที่ปรึกษาอาวุโสด้านนวัตกรรม ให้ ฮิลลารี คลินตัน สมัยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ และเคยเป็นคณะทำงานด้านนโยบายเทคโนโลยี สื่อ และการสื่อสารในแคมเปญการเลือกตั้งของ บารัค โอบามา

ปัจจุบันเขากำลังเตรียมตัวเพื่อลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีขึ้นในปี 2561

ในมุมมองของ Alec เห็นว่า 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมแห่งโลกอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมพันธุกรรม อุตสาหกรรมข้อมูล อุตสาหกรรมความปลอดภัยไซเบอร์ และอุตสาหกรรมบิทคอยน์

“อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ไม่ได้หมายถึง เพียงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เท่านั้น แต่ยังต้องมีลักษณะของการพัฒนาอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ เกิดระบบนิเวศภายในอุตสาหกรรมจนทำให้ราคาถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ และผู้บริโภคส่วนใหญ่ (mass) เข้าถึงสินค้าได้

ข้อสรุปจากแนวคิดของ Alec คือ เมื่อเศรษฐกิจแห่งอนาคตแยกไม่ออกจากวิถีชีวิตทางการเมืองและพลเมือง การมองเห็นทิศทางของเทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมในอนาคตเป็น “เงื่อนไขที่จำเป็น” สำหรับการคว้าโอกาสทางเศรษฐกิจในโลกใหม่ แต่ยังไม่ใช่ “เงื่อนไขที่เพียงพอ” การมุ่งสู่อนาคตอย่างมั่นคงจำเป็นต้องมีองค์ประกอบอื่นมาช่วยหนุนเสริม

สังคมเศรษฐกิจแบบเปิด (Openness) ซึ่งพูดอย่างเป็นรูปธรรมคือ การมีธรรมาภิบาลที่ดี การมีกฎกติกาที่เอื้อต่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีความโปร่งใส มีสื่อที่เป็นอิสระจากอำนาจคอยตรวจสอบความผิดปกติ สร้างการมีส่วนร่วม และให้ความสำคัญกับการกระจายโอกาสให้กับทุกคน

สังคมแบบปิด (Closed) ที่ไร้ธรรมาภิบาล ไร้ความโปร่งใส กฎกติกาไม่เป็นธรรม คอร์รัปชันสูง สื่อถูกควบคุมจนไม่สามารถตรวจสอบได้ สามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น และทำงานเฉพาะในอุตสาหกรรมแบบเก่าเท่านั้น ในอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องพึ่งพิงความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี สังคมเศรษฐกิจแบบปิดจะไม่สามารถทำงานได้เลย และประเทศจะติดหล่มในที่สุด

พลิกพฤติกรรม ทำไมคนเราถึงโกง

ทำไมคนเราถึงโกง? (Why Do We Corrupt?: Understanding Corruption through Behavioral Economics) โดย ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามแก้ปัญหาการติดกับประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ด้วยความพยายามที่จะยกระดับเทคโนโลยี การค้า และการลงทุน

แต่กลับละเลยการยกระดับคุณภาพสังคม พูดให้ถึงที่สุด ประเทศไทยจะไม่สามารถก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้ ตราบใดที่คนในสังคมยังมีความ “ขี้โกง” และปัญหาคอร์รัปชันยังคงฝังรากลึกอยู่เช่นปัจจุบัน

ธานี อธิบายพฤติกรรมการโกงของคนในสังคมว่า แท้จริงแล้วเป็นผลมาจาก “คุณค่า” ภายในของสังคมเอง เช่น การนิยาม “คนดี” แบบไทยๆ มีความเป็น “Familism” หรือ “ความเป็นครอบครัวสูง” ดังนั้น คนดีในสายตาคนไทย คือ คนที่ช่วยเหลือคนในครอบครัว คนใกล้ชิด กลุ่มเพื่อน รวมไปถึงผู้ที่เรานับถือและมีบุญคุณต่อเรา

วัฒนธรรมนี้นำมาสู่ระบบอุปถัมภ์ที่ทำให้เรามีแนวโน้มที่จะเอาเปรียบและโกง “คนนอก” ความเป็นครอบครัวของเรา และเป็นเนื้อดินอันอุดมของพฤติกรรมการโกงและคอร์รัปชัน วัฒนธรรมที่เอื้อให้คนโกงเช่นนี้ถูกหล่อหลอมด้วยสถาบันใกล้ตัวเรา เช่น ใน “บ้าน” และ “โรงเรียน” ที่มักสอนและให้คุณค่าที่มีความเป็นครอบครัวสูงเหนือคุณค่าแบบอื่น ในขณะที่สถาบันทางศีลธรรมหลักอย่าง “วัด” ก็ทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า การทำความดีสามารถชดเชยการทำเลวได้ ทั้งที่เป็นคนละเรื่องเดียวกัน

แก้โกงด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

  • ปลูกชุดคุณธรรมสาธารณะขึ้นมาควบคู่กับชุดคุณธรรมที่เน้นความเป็นครอบครัวสูง เช่น การเคารพสิทธิสาธารณะ การรับฟังความเห็นผู้อื่น เป็นต้น
  • คุณธรรมที่เน้นความเป็นครอบครัวเช่นความกตัญญู การตอบแทนบุญคุณ ไม่ใช่สิ่งผิด แต่ควรใช้เมื่ออยู่ในบ้าน เมื่อก้าวออกมาในที่สาธารณะการเคารพสาธารณะย่อมมีความสำคัญกว่า
  • สถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน โรงเรียน วัด และสังคมเองก็ปรับชุดคุณค่าเพื่อเอื้อต่อการทำความดีและไม่โกงได้อย่างแท้จริง

พลิกโจทย์ธุรกิจ แค่คุณภาพและราคาสินค้าดี ยังไม่พอ

“ดีพอ” ไม่พอถ้าแค่ดี (“Good Enough” Is Not Good Enough) โดย ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ dtac ชวนผู้คนตั้งคำถามว่า คำว่า ‘องค์กรธุรกิจที่ดี’ ของคุณคืออะไร และที่คนทั่วไปคิดว่าดีนั้น “ดีพอแล้วหรือยัง?” นี่คือคำถามที่เป็นจุดเริ่มต้นในการพลิกโจทย์ธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและสังคมของ dtac

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค พบว่าเมื่อพูดถึงองค์กรธุรกิจที่ดี ผู้บริโภคโดยทั่วไปมักจะนึงถึงบริษัทที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพดีและราคาถูก และมักมองข้ามการเป็นองค์กรธุรกิจที่ดี ในแง่มุมของการมีบรรษัทภิบาลที่ดี แข่งขันอย่างเป็นธรรม หรือแม้แต่กระทั่งปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรโดยตรงกับพวกเขา

การพลิกมุมมองครั้งนี้ ต้องการแสดงให้เห็นว่า ที่จริงแล้ว องค์กรที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี การแข่งขันอย่างเป็นธรรม และการปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นเรื่องเดียวกับ “คุณภาพ” และ “ราคา” เพราะองค์ประกอบมีส่วนช่วยสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีและราคาถูกได้ และไม่ใช่แค่ผู้บริโภคเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่สังคมโดยรวมยังดีขึ้นด้วย

มายาคติของผู้บริโภค?

สาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องมาตรฐานจริยธรรมที่สูงขึ้นจากองค์กรธุรกิจเป็นเพราะความเข้าใจผิด 3 ประการสำคัญ

  • เข้าใจผิดว่าการแข่งขันที่เป็นธรรมเกิดขึ้นได้เองโดยธรรมชาติและการผูกขาดการค้าไม่ได้ส่งผลเสียต่อธุรกิจ (Fair Competition Just Happens)
  • เข้าใจผิดว่าองค์กรธุรกิจที่ดีคือองค์กรที่ทำ CSR คืนให้กับสังคมเพียงเท่านั้น (Good Companies Plant Trees) ทั้งที่ในความเป็นจริงการทำธุรกิจอย่างมีบรรษัทภิบาลคือการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในระยะยาว
  • เข้าใจผิดว่าการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดีขึ้นเกิดขึ้นได้จากภาครัฐหรือผู้มีอำนาจเท่านั้น (Change Can Only Come from the Top) แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงจำนวนมากเกิดขึ้นจากพลังของผู้คนธรรมดา โดยเฉพาะพลังของผู้บริโภค

ลาร์ส ได้เน้นย้ำว่า เสียงของผู้บริโภคเป็นเสียงที่ “ทรงพลัง” อย่างยิ่งต่อโลกธุรกิจทุกวันนี้ เพียงแค่ผู้บริโภคตระหนักถึงพลังของตัวเอง ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และเรียกร้องให้องค์กรธุรกิจต้องแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมเพื่อยกระดับให้คุณภาพดีขึ้น ราคาถูกลง มีบรรษัทภิบาลและมาตรฐานทางจริยธรรม สุดท้าย ผู้บริโภคจะเป็นผู้ที่ชนะในที่สุด

แก้เกมโกง ด้วยพลังของผู้บริโภค

แก้เกมโกง (Shifting from the Sh*t: Lessons from Corruption Battles Around the World) โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า คอร์รัปชันไม่ใช่คำสาปที่ไม่อาจไถ่ถอนได้ การต่อสู้กับคอร์รัปชันทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าปัญหาคอร์รัปชันแก้ได้ และพลังจากประชาชนคือ หัวใจสำคัญในการแก้ปัญหา โดยมีกรณีศึกษาจาก 3 ประเทศ

อิตาลี: การปฏิวัติของผู้บริโภคและผู้ประกอบการในสังคมมาเฟีย

ประเทศอิตาลี ผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ในเมือง Palermo แคว้น Sicily ลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบมาเฟีย โดยการปฏิเสธการจ่ายค่าคุ้มครอง และได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคในการบอยคอตธุรกิจที่สนับสนุนมาเฟีย เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง มีธุรกิจเข้าร่วมการรณรงค์นี้กว่า 1,000 กิจการ ทรัพย์สินต่างๆ ถูกยึดคืนจากกลุ่มมาเฟียและนำกลับมาให้กลุ่มประชาสังคมใช้ประโยชน์ทางสังคม เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติของผู้บริโภคและสังคมอย่างแท้จริง

อินเดีย: พลังของเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

ประเทศอินเดีย การจ่ายสินบนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอินเดียตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะเป็นวิธีการเดียวที่จะสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ จนกระทั่งในปี 2554 ภาคประชาสังคมลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านแคมเปญ “ฉันจ่ายสินบน” (I Paid a Bribe -IPAB) ด้วยการใช้พลังแห่งข้อมูลข่าวสารผ่านทางช่องทางออนไลน์ ให้ประชาชนเข้ามารายงานการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ วิธีการนี้เปลี่ยนประชาชนจากการเป็นเหยื่อของการคอร์รัปชันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างมีพลัง ที่สำคัญ แคมเปญ “ฉันจ่ายสินบน” กลายเป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันในหลายประเทศนำไปใช้ต่อยอด

อินโดนีเซีย: 4 พลังประสานต้านคอร์รัปชั่น

สุดท้ายประเทศอินโดนีเซีย จากประเทศที่มีการคอร์รัปชันมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกในช่วงการปกครองกว่า 32 ปีของอดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต อินโดนีเซียเคยอยู่อันดับรั้งท้ายในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) ในช่วงปี 2538-2542 จนล่าสุดในปี 2559 อยู่อันดับที่ 90 แซงหน้าประเทศไทยซึ่งอยู่ในอันดับ 101

การล้มลงของระบบซูฮาร์โตในปี 2541 เปิดโอกาสใหม่ให้อินโดนีเซียขับเคลื่อนประชาธิปไตยไปพร้อมกับการต่อสู้คอร์รัปชัน ความสำเร็จในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของอินโดนีเซียเกิดจากความเข้มแข็งและการทำงานร่วมกันของพลัง 4 ส่วน ได้แก่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ภาคธุรกิจ สื่อ และภาคประชาสังคม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครจินตนาการถึงว่าจะเกิดขึ้นได้ ผู้มีอำนาจที่ทำผิดก็สามารถถูกลงโทษได้ ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย
Shifting from the Shit : อย่าหมดหวังกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

บทเรียนจากประเทศต่างๆ บอกเราว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันไม่มีคำว่าสายเกินไปและปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้จบภายในวันเดียว สิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่ทำให้เราติดกับดักคอร์รัปชันคือ ‘ความเฉยเมยและความกลัว’ ของประชาชน ที่ยึดติดกับความคิดเดิมๆ ว่าทำไปก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

“โลกไม่เคยเปลี่ยน เพราะคนส่วนใหญ่มองโลกตามความเป็นจริง แต่โลกเปลี่ยนเพราะคนกลุ่มเล็กๆ ที่มองโลกด้วยอุดมคติเสมอ” ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คุณจะลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา