แม้ Sharing Economy ในไทยนั้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่เชื่อว่ายังมีผู้อ่านที่ยังไม่เข้าใจว่า Sharing Economy คืออะไร ดังนั้นลองมาเข้าใจความหมายของสิ่งนี้ไปกับ Drivemate ผู้ให้บริการ Car Sharing ในไทยกัน
แบ่งปันกันใช้คือหัวใจหลักในการโตแบบยั่งยืน
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแส Sharing Economy นั้นมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นกำเนิดของบริการประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริการร่วมเดินทางอย่าง Uber และแพลตฟอร์มที่พักอาศัยอย่าง Airbnb เพราะคนรุ่นใหม่ที่นั่นเริ่มไม่อยากเป็นหนี้เพื่อเป็นเจ้าของสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์แล้ว
“เมื่อไม่กี่ปีก่อนก็มีผลสำรวจในสหรัฐอเมริกาว่าผู้บริโภคจำนวนหนึ่งยอมที่จะขายรถยนต์ของตัวเองเพื่อไปใช้บริการร่วมเดินทาง แสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้ต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์ เพราะมีบริการอื่นที่ตอบโจทย์การเดินทางได้เทียบเท่ากับการมีรถยนต์ของตัวเอง” ศิลป์รัฐ สุขวัฒนศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง Drivemate กล่าว
นอกจากนี้หากขยับเข้ามาใกล้ไทยอย่างญี่ปุ่น ปัจจุบันคนที่นั่นก็ไม่ได้มีความต้องการเป็นเจ้าของบ้าน หรือรถยนต์แล้ว เพราะมันค่อนข้างยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องการมีรถยนต์นั้น หากทุกคนแบ่งกันใช้ตามหลัก Sharing Economy ก็ทำให้จำนวนรถยนต์ลดลงโดยอัตโนมัติ และช่วยสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนเช่นกัน
เช่าใช้นั้นตอบโจทย์การใช้งานของคนรุ่นใหม่
“ถึงบริการร่วมเดินทางจะตอบโจทย์การคมนาคมของผู้บริโภคทั่วไปได้ แต่มันก็ไม่ทั้งหมด เพราะมันคงต้องมีบางวันที่อยากใช้รถกันบ้าง ดังนั้นบริการเช่าใช้รถยนต์ก็จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างนี้ ผ่านความอิสระในการใช้งาน แต่มันต้องไม่ใช่การเช่าใช้แบบในอดีต เพราะมันต้องทำให้ได้เหมือนบริการ Subscription อื่นๆ ที่อยู่บนโลกออนไลน์”
จากจุดนี้เองทำให้ Drivemate บริการเช่ารถในรูปแบบ Subscription เกิดขึ้นเมื่อปี 2561 เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับบริการเช่าใช้ต่างๆ โดย Drivemate มีจุดต่างจากผู้ให้บริการเช่ารถยนต์รายอื่นคือ “ไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเอง” เพราะรถยนต์เช่าในระบบก็มีจากผู้บริโภคทั่วไปที่ต้องการปล่อยรถเช่า
“ผมเห็นจากเมืองนอกว่ามีบริการแบบนี้ เลยลองมาทำดู แต่มันก็ล้มเหลวในช่วงแรก และกลับมาจริงๆ ก็เดือนก.พ. 2560 ซึ่ง Feedback ก็ค่อนข้างดี แถมมีคนต้องการมาปล่อยรถเช่ากับเราเดือนละกว่าร้อยคัน ส่วนตอนนี้เรามีรถยนต์ 2,000 คันในระบบ และมีผู้ใช้ 1 แสนคน/เดือน ให้บริการแล้วใน 35 จังหวัดทั่วไทย”
ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับคนไทยที่มีค่าครองชีพสูง
ขณะเดียวกันด้วยปัญหาทางการวางแผนการเงิน และค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูงในประเทศไทย ทำให้การเช่าใช้สังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์น่าจะคล่องตัวกว่า โดยตัวอย่างที่ดีคือกรณีนโยบายรถยนต์คันแรกที่สร้างดีมานด์เทียม และสุดท้ายผู้ซื้อก็ต้องหาทางขาย เพราะผ่อนต่อไม่ไหว
“การเช่าใช้ทำให้ผู้บริโภคเรียนรู้ว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณไหน ถ้าซื้อจริงๆ จะไหวหรือไม่ และเราไม่ได้บอกว่าการซื้อรถไม่ดี แต่อยากให้ซื้อตอนพร้อมดีกว่า ยิ่งในกรุงเทพฯ นั้นมีรถยนต์ถึง 11 ล้านคัน แต่ท้องถนนรองรับได้จริงๆ 1 ล้านกว่าคัน ดังนั้นการเช่าใช้ก็น่าตอบโจทย์กว่า ผ่านการลดจำนวนรถยนต์ได้อัตโนมัติ”
สำหรับการเช่าใช้รถยนต์กับ Drivemate นั้นมีตั้งแต่เช่ารถรายวัน, รายเดือน และเช่ารถพร้อมคนคับ รวมถึงมีรถยนต์ให้เช่าตั้งแต่รถขนาดเล็ก, ขนาดกลาง จนถึงรถแบรนด์หรู ที่สำคัญหากเป็นการเช่าใช้รายเดือนยังไม่มีสัญญาผูกมัด และสามารถเปลี่ยนรถยนต์ได้ 1 ครั้ง/เดือนด้วย
ความท้าทายคือการเปลี่ยน Mindset ของคนไทย
“ยืนยันว่าเราจะไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเองแน่นอน เพราะมันคือสินทรัพย์ของเราที่ต้องบริหารจัดการอีกรูปแบบ แต่เรื่องความท้าทายหลังจากนี้คือการเปลี่ยน Mindset ของคนไทยให้เข้าใจ Sharing Economy และการเช่ารถยนต์แบบ Subscription มากขึ้น ไม่เช่นนั้น Drivemate ก็จะเติบโตได้ลำบาก”
ด้านการลงทุนในปีนี้ Drivemate มีแผนติดตั้งอุปกรณ์ IoT เพื่อให้ปลดล็อครถยนต์ผ่าน Smartphone ได้ รวมถึงสร้างระบบช่วยวิเคราะห์การขับขี่ของผู้เช่า เพื่อประเมินราคา หรือทำโปรโมชั่นที่เหมาะสมแก่ผู้ที่ขับรถดี และไม่ดี ซึ่งจะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ปล่อยรถเช่ากับบริษัท
ที่สำคัญ Drivemate มีแผนขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีน เนื่องจากตลาดค่อนข้างพร้อม และขนาดตลาดค่อนข้างใหญ่ นอกจากนี้ยังพยายามทำให้ทุกขั้นตอนในการเช่าใช้รถยนต์จบได้ภายในแอปพลิเคชั่น เพื่อยกระดับความสะดวกของผู้ใช้บริการเช่นกัน
สรุป
นี่คือ Drivemate หนึ่งในบริการภายใต้แนวคิด Sharing Economy สัญชาติไทย ที่วางตัวเป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมต่อระหว่างผู้มีรถบ้านแต่ไม่ได้ใช้ กับผู้ที่ต้องการใช้รถ แต่ไม่ต้องการซื้อ ให้มาเจอกัน และสร้างสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการแบ่งปันอย่างแท้จริง
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ www.drivemate.asia ครับ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา