SET ก้าวสู่ปีที่ 48: ความท้าทายและโอกาส จากตลาดทุนแห่งอนาคต

SET หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก้าวเข้าสู่ปีที่ 48 แล้ว ความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นมีหลากหลายมิติ มีทั้งการลงทุนรูปแบบใหม่ พฤติกรรมนักลงทุนที่เปลี่ยนไป โอกาสของบริษัทขนาดเล็กและขนาดย่อมที่จะเข้ามาร่วมอยู่ในตลาด ตลอดจนการลงทุนอย่างยั่งยืนหรือการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เหล่านี้คือสิ่งที่ SET ให้ความสำคัญยิ่งขึ้น

SET

จากงานเสวนา “SET ก้าวสู่ปีที่ 48 ขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคต – Make it Work for Future” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วยปาฐกถาพิเศษ “บทบาทตลาดเงิน ตลาดทุน สู่จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย – Towards the Future of Thai Economy” โดย ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

ดร. ประสาร มองว่ามี 5 เรื่องสำคัญนี้เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่จะเกิดขึ้นกับตลาดทุน

  • พัฒนาการด้านภูมิรัฐศาสตร์นั้นมีความเสี่ยงมากขึ้น ความเสี่ยงมีเพิ่มขึ้นและครอบคลุมเหตุการณ์ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอน จำเป็นต้องมีเครื่องมือหรือมาตรการในการขับเคลื่อนที่แตกต่างกันทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง 
  • สถานการณ์โควิด เศรษฐกิจไทยตอนนี้เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดแต่ในด้านเศรษฐกิจและตลาดทุนยังคงได้รับผลกระทบและฟื้นตัวได้แตกต่างกันไป ภาคการท่องเที่ยวและบริการยังต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากภาครัฐ  
  • กระบวนการปรับตัวจาก Digitalization ตลาดทุนเองก็มีการผลักดันด้าน digitalization เพื่อส่งเสริมความคล่องตัวให้กับภาคธุรกิจผ่านการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานด้วยเช่นกัน องค์กรในตลาดทุนควรให้ความสำคัญกับเรื่อง cybersecurity ด้วย เพราะอาจเป็นช่องทางให้ผู้ไม่ประสงค์ดีก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร ทั้งทางการเงินและชื่อเสียงได้
  • พัฒนาการด้านสินทรัพย์ดิจิทัล การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นทั้งโอกาสด้านนวัตกรรมและความเสี่ยง ควรมีการพัฒนา กำกับดูแล ให้มีความสมดุลระหว่างความเสี่ยงและการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม
  • ความยั่งยืนของพัฒนาการตลาดทุนไทย การดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น ต้องมีการขยายแนวคิดให้กว้างขวางขึ้น โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ สังคมและสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ด้วย
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

จากนั้น งานเสวนา SET ก้าวสู่ปีที่ 48 ขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคตได้เริ่มขึ้น ซึ่งผู้ร่วมเสวนามีดังนี้ ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Managing Director สถาบันอนาคตไทยศึกษา ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

SET ก้าวสู่ปีที่ 48 (เสวนาช่วง1)

4 โจทย์ใหญ่ของตลาดหลักทรัพย์ในปีที่ 48

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวถึงความสำคัญของ 4 โจทย์ใหญ่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ที่ไร้พรมแดนต่อตลาดทุนในอนาคตมากขึ้น โจทย์แรก  แหล่งลงทุนสำหรับธุรกิจ New Economy และเทคสตาร์ทอัพ 

จากนี้ไปเราจะเห็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่เป็นเทคโนโลยีเข้ามาระดมทุนมากขึ้น มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจเหล่านี้ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ดังนั้นความท้าทายของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการปรับปรุงหลักเกณฑ์ รวมถึงสร้างกระดานใหม่ขึ้นมา การทำงานร่วมกันกับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ รวมถึงการมีตราสารประเภทใหม่ๆ เพื่อรองรับธุรกิจเหล่านี้

โจทย์ที่สอง การออกกฎเกณฑ์รองรับธุรกิจ SMEs ก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขับเคลื่อนด้วยบริษัทขนาดใหญ่ โจทย์ใหญ่ที่ตลาดทุนจำเป็นต้องคำนึงถึงคือการเปิดช่องทางระดมทุนให้แก่ธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SMEs ตลาดหลักทรัพย์ฯ จำเป็นต้องสร้างกฎเกณฑ์ที่เอื้อกับธุรกิจ SMEs

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย

โจทย์ที่สาม พฤติกรรมของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป หลังสถานการณ์โควิด-19 ระบาด นักลงทุนเริ่มคุ้นเคยกับการลงทุนในต่างประเทศ สินทรัพย์ในตลาดต่างประเทศได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องให้ความสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ผู้คนหันมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย แทนการไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ ทำอย่างไรไม่ให้เงินทุนไหลออกไปต่างประเทศ การสร้างตราสารต่างๆ ขึ้นมา อาจช่วยกักเก็บเงินให้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้

โจทย์ข้อสุดท้าย Digital Transformation นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สำหรับตลาดทุนนั้นเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน ยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ทำอย่างไรให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทรานส์ฟอร์มได้และสามารถรองรับการระดมทุนในรูปแบบของดิจิทัลได้ คำถามที่สำคัญก็คือ ตลาดหลักทรัพย์ฯพร้อมจะออกโทเคนไหม ทำอย่างไรให้นักลงทุนรุ่นใหม่สามารถซื้อขายหุ้นแบบสัดส่วนได้สะดวกสบายเช่นเดียวกับการลงทุนในคริปโต ในอีก 5 ปีข้างหน้า หากตลาดหลักทรัพย์ไทยสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมดนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดทุนของอาเซียนได้อย่างแน่นอน

3 เทรนด์หลักในยุคดิจิทัลที่ธุรกิจและตลาดทุนต้องรับมือ 

ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Managing Director สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวถึงพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป ตลาดทุนก็ควรปรับตามด้วยเช่นกัน “การรู้จุดแข็งของตัวเองและตอบโจทย์เทรนด์ใหม่ให้ได้ เป็นเรื่องที่จำเป็นมากสำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ”

ดร. ณภัทร์ พูดถึงเทรนด์ที่หนึ่ง Big Data & AI ที่ทุกบริษัทจำเป็นต้องมี เพื่อจะไม่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เทรนด์ที่สอง Covidization ที่ส่งผลกระทบการเข้าถึงการลงทุน เทรนด์ที่สามคือ Web3.0 & Blockchain ที่กระทบตลาดทุนแทบทุกส่วน

ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Managing Director สถาบันอนาคตไทยศึกษา
ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Managing Director สถาบันอนาคตไทยศึกษา

6 สิ่งที่อยากเห็นจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

ประการแรก New & Rekindled Interest in Investing คนรุ่นใหม่บางกลุ่มเริ่มต้นลงทุนครั้งแรกผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล แม้ไม่ได้มีกำลังซื้อที่ใหญ่ในตลาดหลักแต่ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต นี่คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่สนใจ สิ่งที่ควรทำคือ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ดึงดูดความสนใจของคนกลุ่มนี้

ประการที่สอง Speed, Convenience, Flexibility สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีความสะดวก ยืดหยุ่น อีกทั้งยังมีการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายและคล่องตัวตลอดเวลา สิ่งนี้ทำให้ผู้คนที่ลงทุนในกลุ่มนี้คุ้นชินกับความสะดวกที่ได้รับ ตลอดจนการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีทางการเงินต่างๆ แม้จะเติบโตมากก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ดังนั้น นี่คือประเด็นเรื่องประสบการณ์สำหรับนักลงทุนที่ไม่สามารถมองข้ามได้ สิ่งที่ควรทำคือการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ทำให้มีการลงทุนเติบโตมากขึ้น

ประการที่สาม Being Early หลายครั้งในมุมของนักลงทุนช้าไป ขณะเดียวกันในมุมมองของเทคโนโลยีก็ช้าไป ประเด็นนี้คือจะต้องทำให้เร็วกว่าเดิม ทั้งการระดมทุนและการเข้าถึงนักลงทุนให้ได้เร็วกว่าเดิม นี่คือโอกาสทางธุรกิจของบริษัทที่เข้าถึงดีลที่ดีได้เร็วกว่าเดิม สิ่งที่ควรทำ คือการเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถค้นหาบริษัทที่เป็น Blue Chip ได้รวดเร็ว ต้นทุนถูกลง

Making sense of the big picture

ประการที่สี่ Approachability คือการเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งที่ควรทำ คือการทำให้ตัวตนทางโซเชียลมีเดียของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความสนุกและเป็นทางการได้ในเวลาเดียวกัน 

ประการที่ห้า Collectivity สิ่งนี้คือเทรนด์ที่สำคัญสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักลงทุนให้ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนธุรกิจเชื่อมให้ใกล้กันมากขึ้นกับผู้ที่ทำธุรกิจ ให้สามารถส่งเสริมได้ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ (Management) ธรรมาภิบาล (Governance) ความโปร่งใส (Transparency) ไปจนถึงความยั่งยืน (Sustainability) สิ่งที่ควรทำคือ ให้มีการเชื่อมต่อระหว่างบริษัทกับนักลงทุนได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นทางการเสมอไป

Implications for the Capital Markets

ประการสุดท้าย Investor Education เทรนด์นี้จะเปลี่ยนจากกูรูที่แนะนำการลงทุน สู่ Community Investing มากยิ่งขึ้น สิ่งที่ควรทำ คือการส่งเสริมให้นักลงทุนค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง จะทำให้มีการลงทุนเติบโตมากเพียงใด สิ่งนี้คือเรื่องตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องสร้างสมดุลในการกำกับดูแล

ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ESG สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนคือเป้าหมายถัดไปในการลงทุนยุคใหม่

ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่าเทรนด์สำคัญสำหรับโลกและการลงทุนในอนาคต คือ ความยั่งยืน (Sustainability) ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ที่สำคัญมากที่ประเทศอื่นในโลกให้ความสำคัญ นอกจาก ESG คือเทรนด์ Inclusiveness ที่มาแรงไม่แพ้กัน 

ผลสำรวจจาก BlackRock พบว่า ครึ่งหนึ่งของนักลงทุนสนใจลงทุนในบริษัทที่มี ESG เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ และอีกครึ่งสนใจเพราะเป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีกว่าบริษัทที่ไม่มี ESG บริษัทใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับ ESG เช่น ในไทยอย่างกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งจะดู ESG Rating ของบริษัทต่างๆ และนำไปเปรียบเทียบว่าจะลงทุนในบริษัทไหนดี 

คนรุ่นใหม่ที่เป็นทั้งลูกค้าและแรงงานให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก ทั้งเรื่อง Climate Change สิทธิ ความเท่าเทียม ความหลากหลาย ความสัมพันธ์ของบริษัทกับการเมือง ขณะที่คนรุ่นเก่าให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการขยายตัวทางเศรษฐกิจพอๆ กัน

บริษัทและนักลงทุนให้ความสำคัญกับ ESG เพราะในอนาคตจะกระทบกับความยั่งยืนทั้งธุรกิจและเศรษฐกิจแน่นอน เชื่อมั่นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นตัวกลางในการสื่อสารและช่วยส่งเสริม ESG ให้กับทั้งธุรกิจและนักลงทุนได้ดียิ่งขึ้น

ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

4 จุดแข็งของตลาดทุนไทยและ 4 โจทย์ใหญ่ที่ตลาดหลักทรัพย์ต้องปรับปรุง

ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงจุดแข็งของตลาดทุนไทยในปัจจุบันใน 4 เรื่อง

  1. สภาพคล่องดีขึ้นมาก มีการซื้อขายวันละเกือบแสนล้านบาท
  2. การเข้าจดทะเบียน มีทั้งบริษัทใหญ่และกลาง อยู่ในธุรกิจที่ไทยมีจุดแข็ง เช่น อุตสาหกรรมอาหารและท่องเที่ยว 
  3. สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าในประเทศ
  4. ฐานนักลงทุนเติบโตขึ้น ปัจจุบันมีกว่า 5 ล้านบัญชี 

ส่วนโจทย์ใหญ่ 4 ด้านที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมุ่งมั่นทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อปรับปรุงและส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น ดังนี้

โจทย์แรก “การลงทุนแบบไร้พรมแดน” ทางตลาดหลักทรัพย์จะสร้าง Online Application ที่สามารถเปิดบัญชีแบบ e-Open Account ให้ลงทุนได้สะดวกตลอดเวลา ปลอดภัย เชื่อมต่อกับต่างประเทศได้ พร้อมทั้งเสนอผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ Fractional DR ที่ลงทุนได้เหมือนกับสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบัน และสามารถซื้อขายได้ตามทุนทรัพย์ 

โจทย์ข้อที่ 2 การเติบโตของธุรกิจนวัตกรรม จะมีการสนับสนุนให้เข้าถึงตลาดทุนไทยของ SMEs และ Startups ผ่าน LiVE Platform ในรูปแบบ Partnership Platform ด้วยความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา เตรียมความพร้อมให้บริษัทเหล่านี้ และทำให้บริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโต สามารถใช้ระบบ LiVE Exchange ให้เข้าระดมทุนได้ง่ายขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้กับภาคธุรกิจ New S-Curve และธุรกิจเทคโนโลยีให้เข้ามาระดมทุนได้ง่ายขึ้น นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามจะตอบสนองความต้องการที่จะเข้ามาลงทุนของตลาดทุนไทย

SET

โจทย์ข้อที่ 3 กระบวนการบริการแบบดิจิทัล และการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ในอดีต ระบบ Streaming หรือ settrade นั้นถือว่าครอบคลุมการทำธุรกิจและการลงทุนในหลายด้าน แต่สำหรับในอนาคต settrade หรือ Streaming จะเป็น Super App หรือ One Stop Service ที่สามารถลงทุนได้หลายรูปแบบทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าง Investment Token และ Utility Token ร่วมกับสินทรัพย์ดั้งเดิม รวมถึงลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ผ่าน Fractional DR ด้วยเงินบาท สิ่งนี้จำเป็นต้องสร้างประสบการณ์ผู้ใช้งานให้ง่ายขึ้นและครอบคลุมการลงทุนทุกรูปแบบ

โจทย์ข้อที่ 4 การลงทุนยั่งยืน หลังวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นต้นมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่า การส่งเสริมธรรมาภิบาลเป็นเรื่องสำคัญ ได้มีการจัดตั้งสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และ CG Center เพื่อตอบโจทย์เรื่องการส่งเสริมธรรมาภิบาล จนได้รับการยอมรับว่าดีมาก บริษัทจดทะเบียนไทยได้รับการยกย่องทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก 

ในอนาคตตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังพัฒนาการต่อเชื่อมข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียน ทำให้เป็นมาตรฐานและทำเป็นฐานข้อมูล ผ่าน “ESG Data Platform” และส่งต่อให้กับผู้ต้องการใช้อย่างสะดวก มีมาตรฐาน มีความเหมาะสมกับธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมให้นักวิเคราะห์สนใจวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ ESG ให้กับนักลงทุน เช่น กองทุนรวม และ Index เหล่านี้คือกระบวนการในการสนับสนุนให้การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมีความหมายและได้ผลอย่างแท้จริง 

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ร่วมเสวนากล่าวมาทั้งหมดนี้สำคัญมาก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมุ่งมั่นทำงานร่วมกับพันธมิตรของเรา เพื่อสนับสนุนให้สิ่งต่างๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้ได้รับการปรับปรุงและส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น

SET ก้าวสู่ปีที่ 48 (เสวนาช่วง2)

การเสวนาหัวข้อ “เดินหน้าอย่างไร ในวันที่ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ – Sustainable Driver For Meaningful Growth” มีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้ อภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการเงินและบริหารเงินลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นุกิจ ชลคุป Chief Manufacturing Officer บมจ. โอสถสภา ไตรสรณ์ วรญาณโกศล กรรมการผู้จัดการ บมจ. เอส พี วี ไอ และนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ. กสิกรไทย และ รัตน์วลี อนันตานานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการเงินและบริหารเงินลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการเงินและบริหารเงินลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

มุมมองตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตให้กับตลาดทุนไทย

อภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการเงินและบริหารเงินลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มองว่า ต้องเริ่มจากจุดมุ่งหมายขององค์กรก่อน 

ตามกรอบ Sustainability Framework ที่มาจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่ตรงกับบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย มุมมองที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน, แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน, การลดความเหลื่อมล้ำ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

SET ESG in action

นำไปสู่การ SET ESG in Action ใน 5 มิติ คือการบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน เน้นเรื่องความโปร่งใส ความรอบด้าน ความเท่าเทียม ความเป็นธรรม การบริหารความเสี่ยงและนวัตกรรม, การสร้างคุณค่าตลาดทุน มุ่งส่งเสริมทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน กำหนดมาตรฐาน ให้ความรู้ คำปรึกษา ประเมินผล, การพัฒนาและดูแลพนักงานและส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองผ่าน Online Learning, การพัฒนาและดูแลสังคม ส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้ประชาชนทุกวัยผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ การสร้างแพลตฟอร์ม SET Social Impact เชื่อมโยงเครือข่ายภาคธุรกิจ และการสร้างหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อสังคม และการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่มีการขับเคลื่อนตั้งแต่ภายในสู่การทำงานกับพันธมิตร

นุกิจ ชลคุป Chief Manufacturing Officer บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)
นุกิจ ชลคุป Chief Manufacturing Officer บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)

มุมมองในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

นุกิจ ชลคุป Chief Manufacturing Officer บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ได้เน้นย้ำถึงเรื่องความยั่งยืนในภาคธุรกิจไว้ว่า เรื่องความยั่งยืนจะต้องเป็น Integrated Strategy ของทุกเรื่องใน Corporate Strategy ไม่ใช่งานเสริมหรืองานฝาก แต่ต้องเป็นงานหลักของบริษัท 

จุดเริ่มต้นที่ทำเรื่องความยั่งยืนของบริษัทอย่างจริงจังเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มจากการสร้างการรับรู้แล้ว ตามด้วยการสร้างให้เกิด Commitment ที่บริษัทต้องทำให้ได้ ปัจจุบัน บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ก็บรรลุเป้าหมาย โดยอยู่ใน SETTHSI Index

ไตรสรณ์ วรญาณโกศล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (maiA)
ไตรสรณ์ วรญาณโกศล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (maiA)

มุมมองต่อการลดความเหลื่อมล้ำของผู้ประกอบการขนาดเล็ก

ไตรสรณ์ วรญาณโกศล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (maiA) กล่าวถึงประเด็นความยั่งยืนในการลดความเหลื่อมล้ำ ว่า “บริษัทจดทะเบียนใน mai มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ในเรื่องของศักยภาพและประสบการณ์ต่างๆ ดังนั้นสิ่งที่สมาคมฯ จะช่วยได้ในการลดช่องว่างนั้น ด้วยการสร้างการรับรู้ (Awareness) ของ ESG ผลักดันให้เกิดการยอมรับ (Adopt) ในสิ่งเหล่านั้น และสุดท้ายคือการทำทันที (Take Action) หรือ Awareness – Adopt – Action นั่นเอง”

ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์การกองทุน กสิกรไทย จำกัด
ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์การกองทุน กสิกรไทย จำกัด

มุมมองการลงทุนอย่างยั่งยืน

ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์การกองทุน กสิกรไทย จำกัด ให้มุมมองว่า “ปัจจุบันความสนใจเรื่องการลงทุนที่เน้นเรื่อง ESG ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มนักลงทุนสถาบัน  เราควรสร้างความตระหนักแก่นักลงทุนทั่วไป ในแง่ของการให้ความสำคัญของการนำปัจจัย ESG มาพิจารณาร่วมด้วยในการตัดสินใจลงทุน หน้าที่ของผู้จัดการลงทุนคือการสร้างสมดุลระหว่างการสร้างผลตอบแทนและการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึง ESG จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนได้ ช่วยลดความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายนอกและภายในตัวธุรกิจเอง 

การลงทุนในบริษัทที่มี ESG ต้องระวังประเด็นเรื่อง “Green wash” หรือการที่บริษัทที่มีการสร้างภาพลักษณ์ให้นักลงทุนเข้าใจผิดว่าบริษัทมีความรับผิดชอบต่อ ESG แต่แท้จริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้น นักลงทุนต้องทำความเข้าใจ และติดตามว่าบริษัททำตามนโยบายหรือไม่ และมีการวัดผลอย่างไร

รัตน์วลี อนันตานานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
รัตน์วลี อนันตานานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

มุมมองสุดท้าย คือ เครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาความยั่งยืน

รัตน์วลี อนันตานานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับประเด็น ESG นี้ ด้านนักลงทุน สามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในการตัดสินใจลงทุนได้อีกมิติ ขณะที่ผู้ประกอบการ ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในการบริหารจัดการและสร้างโอกาสให้กับธุรกิจได้ ภาพรวมการพัฒนาความยั่งยืน มีเป้าหมายหลักอยู่ 2 ประการ คือ การส่งเสริมธุรกิจให้มีความยั่งยืนและการส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืน 

กลไกที่เป็น 2 เครื่องมือสำคัญ ได้แก่ SET ESG Data & Disclosure มีความสำคัญในการช่วยบริหารความเสี่ยง การบริหารนโยบายภาครัฐ การตัดสินใจลงทุน และการบริหารจัดการประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจดียิ่งขึ้น จะช่วยตอบโจทย์การดำเนินงานของทุก Stakeholders  และ Education กับโครงการ SET ESG Academy เตรียมความพร้อมให้บริษัทจดทะเบียนด้านความยั่งยืน ทั้งการให้ความรู้ การสร้าง Junior ESG Professionals เพื่อยกระดับผู้ปฏิบัติงานด้าน ESG ให้ได้มาตรฐาน และจะผลักดันหลักสูตรนี้เข้าสู่มหาวิทยาลัยเพื่อผลิตบุคลากรรุ่นใหม่เข้าสู่แรงงานด้าน ESG ต่อไป 

SET

การสร้าง ESG Expert Pool รวมพลังผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG แบบพี่สอนน้อง ช่วยขับเคลื่อน ESG ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ตลาดทุน และประเทศ และการปลูกฝัง ESG DNA ส่งมอบความรู้ควบคู่การสร้างจิตสำนักการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนความยั่งยืนไปด้วยกัน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าสู่ปีที่ 48 ในวันนี้ ทุกภาคส่วนล้วนมีส่วนร่วมในการสร้างตลาดทุนมาด้วยกัน เป็นเหมือนการนำจิ๊กซอว์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเศรษฐกิจมารวมกัน การนำความยั่งยืนมาเป็นเรือธง ต้องทำจริง ทำทันที สื่อสาร และต้องทำร่วมกับพันธมิตร เพื่อขับเคลื่อนตลาดทุนไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา