5 คำถาม กับ ทางออกให้แบงก์ในวันที่ฟินเทคครองเมือง

เมื่อเทคโนโลยีทางการเงิน หรือฟินเทค มีบทบาทไปทั่วโลก ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นฟินเทคเข้ามามีบทบาทเรื่อง Payment และลดบทบาทการเป็นตัวกลางของธนาคารลง แน่นอนว่าแบงก์ก็อยู่เฉยไม่ได้ต้องรีบพัฒนาตัวเองเพื่อรักษาจุดยืนในตลาด

ภาพจาก shutterstock

1. ฟินเทคคืออะไร และส่งผลกระทบต่อแบงก์อย่างไร ?

ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกว่า ตอนนี้เทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยน Landscape ของธุรกิจธนาคารไปหมด โดยเฉพาะทั้ง BlockChain และ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ทำให้ธนาคารต้องแข่งกันใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และพัฒนาการบริการแก่ผู้บริโภค

กึกก้อง รักเผ่าพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ บอกว่า สำหรับแบงก์จุดแข็งคือมีฐานข้อมูลลูกค้า ในขณะที่ฟินเทคมีเทคโนโลยี ที่ออกมเจาะเฉพาะกลุ่มเลยตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดี ดังนั้นแบงก์จึงเริ่มมองทางออกในการเป็นพันธมิตรกับฟินเทคต่างๆ ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการบริการที่ดีขึ้นให้ลูกค้า

ในขณะที่อีกมุมหนึ่งหลายคนมองว่าธนาคารอาจไม่จำเป็นต้องมีสาขาแล้ว แต่ วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าคนเราจะเริ่มนึกไม่ออกว่าครั้งสุดท้ายที่ไปสาขาธนาคารคือเมื่อไร แต่ก็เป็นเรื่องที่ตอบยากว่าสาขาธนาคารจะหายไปไหม

อย่างไรก็ตามรูปแบบสาขาต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มคนเฉพาะ ในบางพื้นที่ และที่สำคัญจะลืมกลุ่มผู้สูงอายุไปไม่ได้ ทำให้สาขายังมีความสำคัญกับลูกค้าบางกลุ่มเสมอ ธนาคารก็ต้องเข้าใจในจุดนี้

ภาพจาก shutterstock

2. สงครามนี้ใครจะชนะระหว่างแบงก์ และ Tech Company ?

ฐากร บอกว่า ปัจจัยที่อาจจะทำให้บริษัทเทคโนโลยี หรือ Tech Company ทั้งหลายชนะมาจากการสร้างทีม และทำงานให้ไว ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้ชนะของแบงก์คือ การวิเคราะห์และปรับใช้ฐานข้อมูลภายใน ที่สำคัญต้องสร้างพันธมิตรให้เร็วที่สุด

“สิ่งที่ต้องระวังคือ พวก Big Tech Giant Tech ที่เริ่มเข้าถึงฐานข้อมูลของลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าแบงก์เราไม่รีบปรับตัวก็อาจจะแพ้ เขามาเมื่อไร เราก็อาจจะแพ้”

ฟินเทคเริ่มต้นที่ Payment การโอนเงิน ตามด้วยการบริหารเงิน ซึ่งจุดเด่นของไทยจะต่างจากภูมิภาคอื่นๆ บางประเทศในโลกธนาคารยังไม่เชื่อมการโอนเงินหากัน ไม่เรียลไทม์ แต่ของไทยเราที่ล่าสุดลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างธนาคาร จะเป็นการป้องกัน หรือตั้งกำแพงไม่ให้ ฟินเทคหรือสตาร์ทอัพได้ เพราะคนย่อมไม่ต้องการมีบัญชี หรือ E-Wallet เยอะๆ ในมือถือ

ภาพจาก shutterstock

3. แบงก์ต้องปรับตัวเมื่อผู้บริโภคเลือกความสะดวกสบายมากกว่าแบรนด์ ?

กึกก้อง บอกว่า เรามองว่าฟินเทคเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า ดังนั้นเราต้องไปพัฒนาให้ทัน และต้องเป็นพาร์ทเนอร์กับฟินเทค เพราะเป็นโอกาสในการพัฒนา และเสนอบริการที่ดีกว่าให้ลูกค้า แบงก์อย่างเราต้องเร็วขึ้น และสามารถเข้าไปร่วมใน Ecosystem ที่เกิดขึ้นได้ เพราะตอนนี้ในวงจรเดียวกันมีคนอยากเข้ามาชิงพื้นที่กับเราเยอะมาก

วีรวัฒน์ บอกว่า หลักๆ เราต้องทำเรื่องพื้นฐานให้ดีก่อน มองทั้งเรื่องการเพิ่มมูลค่าจากเครือข่ายข้อมูลที่มีอยู่ ผ่านการใช้ AI และตั้งเป้าหมายที่จะเข้าไปอยู่ในวงจรชีวิตของลูกค้าในแต่ละโมเมนต์ อย่างเรื่อง Market Place ถ้าปรับใช้ AI จะทำให้เราวิเคราะห์และเสนอโปรโมชั่นได้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น

ภาพจาก shutterstock

4. ธุรกิจเร่งเพิ่มคนเจนใหม่ คนไอทีไม่ต้องจบตรงสายงานก็เรียนรู้กันได้ ?

กึกก้อง เล่าว่า เรามีการเพิ่มคน เจนเนอเรชั่นใหม่ตลอดมา เพื่อมาดูเรื่องการบริการ อย่างตอนนี้เรามองว่าหลายบริษัทเทคโนโลยี อย่างเช่น เขาต้องการโปรแกรมเมอร์ เขาจะไม่ได้เปิดรับเฉพาะคนที่เรียนจบด้านนี้มา แต่จะรับคนที่สามารถทำงานได้ ดังนั้นเราจะเห็นคนทำงานด้านไอที ที่จะไม่ได้มีพื้นฐานมาจากวงการไอทีมากขึ้น

“อย่างผมมาจากสายเศรษฐศาสตร์ ตอนนี้ก็ทำไอทีมา 30 กว่าปีแล้ว ดังนั้นถ้าคุณอยากทำงานไอที จบอะไรก็ทำได้ อย่างในวันแรกแบงก์เราจะไม่มี Computer Scientist แต่ตอนนี้เรารับคนใหม่มาสอน ให้เรียนรู้ เรามีโปรแกรมเทรนนิ่งที่จะสร้างคนมาทำเรื่องพวกนี้ได้”

ฐากร บอกว่า เรื่องคนถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะคนไอทีคน ตอนนี้เราต้องพึ่งต่างประเทศเยอะมาก อนาคตเราต้องเพิ่มให้เพียงพอ เพราะไม่งั้นจะเกิดปัญหาว่าเราพึ่งพิงต่างชาติมากเกินไป ในขณะที่ข้อสำคัญคือแบงก์ต้องการคนที่เข้ากันได้

ภาพจาก Shutterstock

5. แบงก์อยากขออะไรจากผู้กำกับอย่างแบงก์ชาติ ?

วีรวัฒน์ บอกว่า ผู้กำกับต้องภายในต้องถามตัวเองว่า เป้าหมายาในการกำกับคืออะไร บางทีไม่ใช่การควบคุม แบงก์ หรือ Security แต่เป็นการปกป้องลูกค้า ซึ่งปัจจุบันน่าจะเป็นการ Lock Player มากกว่า ดังนั้นฝั่งภาครัฐคงต้องเปลี่ยนมุมมองเพื่อทำให้ทุกอย่างหมุนไปดีขึ้น

ฝั่ง กึกก้อง บอกว่า หลายเรื่องด้านเทคโนโลยีต้องอาศัยการลองผิดลองถูก อย่างเรื่อง Regulatory Sandbox ผู้กำกับความปล่อยให้เราทำ ผู้กำกับก็มาคอยดู ติดตาม รวมถึงควบคุมความเสี่ยง หากแบงก์ทำอะไรที่นอกกรอบก็สามารถเข้าควบคุมได้ โมเดลนี้จะเป็นของจีน ซึ่งต่างกับปัจจุบันของไทยที่มีเกณฑ์ออกมาว่าต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นความคิดใหม่ๆ

ขณะเดียวกันการควบคุมจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะครอบคลุมในหลายจุด เช่น ควบคุมความเสี่ยง การบริหารไอที ฯลฯ ซึ่งแบงก์ชาติเขามีการเรียนรู้เร็วมาก และมีพนักงานที่เ่ก่งๆ เข้าไปเยอะ

สุดท้ายแล้ว ฐากร ยังย้ำว่าเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และระบบไอที แบงก์ทำอย่างเต็มที่ เพราะ Trust ถือเป็นจุดแข็งที่แบงก์มี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา