โซล เตรียมลุย Metaverse สร้างแพลตฟอร์มโลกเสมือนของตัวเองยกระดับการให้บริการสาธารณะให้ประชาชนได้เข้าถึงและรับบริการได้ผ่านแว่น VR อันเดียว
โซล ลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์ม Metaverse
ถ้าพูดถึง Metaverse นี่คือเทรนด์แห่งอนาคตที่หลายๆ บริษัท เช่น Meta (Facebook) Microsoft Nike ให้กำลังให้ความสนใจ แต่รู้หรือไม่ว่าเมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้อย่าง “กรุงโซล” ก็กำลังจะเข้ามาลงเล่นในสนาม Metaverse เหมือนกัน
รัฐบาลมหานครโซล (Seoul Metropolitan Government) ประกาศแผนพัฒนา Metaverse ระยะ 5 ปี จะทุ่มทุนกว่า 3.9 พันล้านวอน (108 ล้านบาท) โดยตั้งเป้าว่าภายในปลายปี 2022 จะสามารถพัฒนา Metaverse Seoul แพลตฟอร์ม Metaverse ของตัวเองเพื่อให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนได้บนโลกเสมือน
และมีเป้าว่าจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2026 ด้วยนโยบายนี้ กรุงโซล จะกลายเป็นเมือง Metaverse เมืองแรกของโลก ที่เปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายแห่งอนาคตและมีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก
เข้าถึงบริการ-แหล่งท่องเที่ยว-กิจกรรม ได้บนโลกเสมือน
ในภาพรวมแล้ว Metaverse Seoul จะเป็นแพลตฟอร์มศักยภาพสูงที่มี Ecosystem สำหรับการให้บริการด้านต่างๆ เช่น บริการด้านธุรกิจ การศึกษา พื้นที่สำหรับกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว การสื่อสาร การพัฒนาเมือง และบริการสาธารณะ
หลังจากนี้ ประชาชนในกรุงโซลจะเข้าถึงบริการต่างๆ ของหน่วยปกครองส่วนท้องถิ่นได้บนโลก Metaverse โดยเข้าไปยัง Seoul City Hall และรับบริการตั้งแต่การปรึกษาเบื้องต้น ไปจนถึงเข้าถึงความช่วยเหลือด้านธุรกิจหรือการลงทุนจากพนักงานราชการอวาตาร์ด้วยการสวมแว่น VR แทนที่จะเดินทางไปยังศาลาว่าการเมืองจริงๆ
ไม่ใช่แค่นั้น ประชาชนยังสามารถเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยว เช่น จัตุรัสควางฮวามุน พระราชวังถ็อกซูกุง ตลาดนัมแดมุน ไปจนถึงสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สูญหายไปแล้วแต่ถูกสร้างขึ้นใหม่บนโลกเสมือนอย่างประตูโดนึยมุน
และไม่ต้องกลัวว่าโลกเสมือนจะน่าเบื่อ เพราะตั้งแต่ปี 2023 เทศกาลดังๆ เช่น เทศกาลโคมไฟโซล ก็จะถูกจัดขึ้นบนโลกเสมือนบนแพลตฟอร์ม Metaverse Seoul และผู้คนจากทั่วโลกก็จะมีโอกาสได้เข้าร่วม
Metaverse เปิดมิติใหม่ของบริการสาธารณะ
คำถามคือแล้วทำไมรัฐบาลมหานครโซลถึงต้องหันมาลุย Metaverse แค่พยายามเกาะกระแสหรือไม่
คำตอบของเรื่องนี้คือ Metaverse จะช่วยเปิดมิติใหม่ของการบริการสาธารณะ
หลังจากนี้ การติดต่อสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน และการออกนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ (เช่น จัดเทศกาลกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือจัดอีเวนต์ต่างๆ) จะง่ายขึ้น รวดเร็ว และไร้ข้อจำกัดผ่านเทคโนโลยี XR ซึ่งแน่นอนว่าประสิทธิภาพของการบริหารราชการก็จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ที่มา – qz, seoul.go.kr
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา