เทคนิคการทำงานในยุค Disruption ทำอย่างไรเพื่ออยู่รอดและเติบโต

ยุคนี้การทำงานกลายเป็นดิจิทัลมากขึ้น มีการใช้ข้อมูลที่เชื่อมโยงถึงกันได้ connect กันได้ทุกที่ ทุกเวลา ส่งผลให้การทำงานของเราไม่จำกัดอยู่แต่ภายในออฟฟิศดังที่เคยเป็นมา โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการทำงานเกือบทุกขั้นตอน และช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

ดังนั้น องค์กรต่างๆ รวมถึงคนทำงานที่ยังใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างไม่คล่องแคล่ว หรือเรียกว่าไม่ “Tech-savvy” จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และอาจจะถึงขั้นที่เรียกได้ว่าหลุดออกจากวงโคจร เพราะปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

“ความใฝ่รู้” และ “ความมานะบากบั่น” คือคนที่องค์กรมองหา

จากประสบการณ์การทำงานด้านการพัฒนาองค์กรและบุคลากร รวมถึงการศึกษาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (Southeast Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ชี้ให้เห็นว่า “นอกเหนือจากความรู้และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว ยังมีคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดสองอย่างที่จะทำให้คนทำงานในยุคนี้เป็นที่ต้องการขององค์กรและเติบโตไปด้วยกันได้ นั่นคือ ความใฝ่รู้ (Curiosity) และความมานะบากบั่น (Persistence) โดยคนที่มีความใฝ่รู้สูง แม้จะไม่ได้จบการศึกษาสูง แต่จะเป็นคนที่มีความรู้เพราะสามารถค้นคว้าหาข้อมูลในเรื่องที่ตนเองสนใจจนเข้าใจอย่างลงลึก มีความสามารถในการเรียนรู้ โดยที่น่าสังเกตคือกลุ่มคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่มีความใฝ่รู้สูงคือ “กลุ่มเด็กรุ่นใหม่”

อย่างไรก็ตาม เด็กรุ่นใหม่ยังขาดคุณสมบัติสำคัญอีกประการที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัล นั่นคือ ความมานะบากบั่น ความอดทนในการจะทำอะไรให้สำเร็จลุล่วง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่คนกลุ่ม Gen X ขึ้นไป มีมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความบากบั่นมากับวัยและประสบการณ์ ในขณะที่คนกลุ่มผู้ใหญ่นี้อาจจะมี Curiosity ที่ต่ำกว่า

อริญญา เสริมว่า “หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า แล้วในประเทศไทยมีกลุ่มคนที่มีคุณสมบัติทั้งสองอย่างนี้อยู่ในคนคนเดียวกันไหม คำตอบคือ มี แต่น้อยมาก เราจึงต้องมาร่วมกันหาทางให้คนกลุ่มที่มี Curiosity สูงและคนกลุ่มที่มี Persistence สูงมาทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพให้ได้ซึ่งนี่คือความท้าทายของประเทศไทย”

จากการศึกษาในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา จีน หรือเกาหลีใต้ มีคนที่มีคุณสมบัติทั้งสองอย่างมากกว่าไทยอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันเมืองไทยเรามีคนที่มีความใฝ่รู้น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใฝ่รู้ในระดับที่จะค้นคว้าจนถึงแก่นของแต่ละอย่าง แต่โลกในวันนี้เป็นโลกของคนที่มี Curiosity สูงเพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน แต่รู้อย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ เพราะรู้แล้วก็ต้องรู้จักที่จะเอามาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์จนสำเร็จลุล่วง นั่นคือจะต้องมี Persistence ด้วย

โดยการเราจะทำให้คนที่มี Curiosity สูงกับคนที่มี Persistence สูงทำงานร่วมกันต้องเริ่มจากเปลี่ยน “Mindset” ให้คนทั้งสองกลุ่มยอมรับในข้อจำกัดของกันและกัน ผ่านการสร้างให้เกิดความผูกพันหรือ Engagement ขึ้นในองค์กร โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลนี้ ผู้บริหารองค์กรต้องกลับมามองว่าเรา Engage คนของเราถูกแล้วหรือยัง เหมาะสมกับยุคสมัยและคนทำงานที่เปลี่ยนไปหรือเปล่า เพราะ Engagement ในตอนนี้ต้องเรียลไทม์และเกิดขึ้นในทุกจุด ไม่ใช่แค่การจัดกิจกรรมต่างๆ ชั่วครั้งคราว

ทุกวันนี้ แม้โลกของเราจะเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา แต่แก่นหรือสาระของสิ่งต่างๆ ยังคงเหมือนเดิม ความใฝ่รู้และมานะบากบั่นยังคงเป็นหัวใจของคนที่จะประสบความสำเร็จและเติบโตในการทำงาน หากมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องเหมาะสมเข้ามาร่วมด้วย องค์กรต่างๆ รวมถึงประเทศไทยเองจะไปได้ไกลและก้าวขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าของโลกได้อย่างแน่นอน

นอกจากเรื่องความใฝ่รู้และความมานะบากบั่น แน่นอนว่ายังมีทักษะอีกหลากอย่างที่จำเป็นต่อการทำงานและการอยู่รอดในโลกยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทั้งในเรื่อง Hard Skill และ Soft Skill หากเราพูดถึงผู้นำระดับโลกที่เป็นที่กล่าวขานในเรื่องการเป็นตัวอย่างของการทำงานในโลกปัจจุบัน ชื่อที่เรามักได้ยินคงหนีไม่พ้น Steve Jobs, Jack Ma, Bill Gates , Jeff Bezos และ Elon Musk นอกเหนือจากการที่บุคคลเหล่านี้จะล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลชั้นนำในวงการธุรกิจและเทคโนโลยี แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีเหมือนกันคือ ทุกคนล้วนแล้วแต่มองการณ์ไกล จริงอยู่ที่โลกยุคปัจจุบันเป็นเรื่องของความเร็ว การตอบสนองที่ทันต่อเหตุการณ์ แต่การทำงานที่มุ่งเน้นแค่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าจะมองการณ์ไกลไปสู่การพัฒนาย่อมไม่นำไปสู่การพัฒนาอันยั่งยืน

เมื่อโลกาภิวัตน์ช่วยย่อโลกให้เล็กลง อะไรๆ ก็เชื่อมโยงถึงกันได้ง่ายมากขึ้นกว่าแต่ก่อนแม้จะอยู่ห่างไกลกันคนละมุมโลกก็ตาม ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้รวดเร็ว โลกของธุรกิจสามารถขยายกิจกรรมและการดำเนินงานต่างๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัดเช่นกัน การทำธุรกิจจึงก้าวสู่ยุคอีคอมเมิร์ซอย่างเต็มตัวและแพร่หลายไปทั่วโลกซึ่งการที่องค์กรจะก้าวสู่การเป็นอีคอมเมิร์ซได้ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีและเครื่องมือในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สามารถขจัดปัญหาด้านระยะทาง และเชื่อมต่อทุกฟังก์ชั่นทางธุรกิจเข้าด้วยกันได้ พร้อมทั้งช่วยให้ทีมงานที่อยู่กระจัดกระจายกันหลายประเทศทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวก ซึ่งแปลว่าคนทำงานก็ต้องพร้อมในเรื่องทักษะการทำงานกับระบบเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นนี้ด้วย คนทำงานต้องทำความเข้าใจและพร้อมใช้ประโยชน์จาก Big Data เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานทั้งในด้านการวางแผนธุรกิจ การวิเคราะห์ลูกค้า และการคาดการณ์แนวโน้มต่างๆ และส่งมอบแต่สิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ

สืบเนื่องจากเงื่อนไขดังกล่าว เทคนิคที่ดีของคนทำงานยุคนี้อีกประการหนึ่งคือเรื่องของการเปิดใจ พร้อมเรียนรู้ ลองทำอะไรใหม่ๆ และกล้าที่จะเดินออกจาก comfort zone เลิกทำงานแต่ในจุดที่คุณรู้สึกสบายใจ และงานที่คุณรู้ว่าคุณจะทำมันสำเร็จอย่างแน่นอน แล้วลองเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือทำสิ่งใหม่ๆ นอกเหนือจากสิ่งที่มั่นใจว่าตัวเองทำได้ดีดูบ้าง เพราะการทำงานที่มั่นใจ จะทำให้งานออกมาดี แต่มันอาจปิดกั้นโอกาสในการเจริญก้าวหน้าของคุณได้เช่นกันโดยเฉพาะในโลกยุคที่มีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา  disruption เกิดขึ้นอยู่ทุกหนแห่งเช่นนี้ คนทำงานต้องพร้อมที่จะรับความท้าทายใหม่ๆ เสมอ กล้าเสี่ยงในสิ่งที่คุณคิดดีแล้วว่ามันคุ้มค่าที่เสี่ยง และอย่ากลัวที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา หรือพยายามหลีกเลี่ยงงานที่ยาก การกล้าลงมือทำ แม้จะทำให้คุณล้มเหลวบ้าง แต่ก็ทำให้คุณได้เรียนรู้เช่นกัน

แนวโน้มการทำงานใน disruption เป็นสิ่งที่คนทำงานทุกคนไม่อาจมองข้าม ต้องมีการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ปรับตัว และเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ หากเราสามารถเรียนรู้ที่จะดึงศักยภาพของตัวเรา ผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะทำให้เกิดผลดีต่อการทำงานและองค์กรได้อย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Branded Content เป็นบทความที่ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์