เปิดแนวคิดผู้นำ SEAC พลิกเกมรบธุรกิจ สร้างโอกาสและความสำเร็จช่วงวิกฤติได้

สถานการณ์โควิดระบาดทั่วโลก สร้างผลกระทบต่อธุรกิจทุกรูปแบบ หลายองค์กรต้องปิดกิจการ หนทางที่จะฝ่าวิกฤตได้ไม่ใช่แค่การเรียนรู้เพื่อปรับตัวอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับวิธีคิดและศักยภาพของผู้บริหารธุรกิจด้วย ยิ่งมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวสูงเท่าไร ธุรกิจก็ยิ่งมีทางรอดมากขึ้น 

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (ขวา) นิภัทรา ตั้งพจน์ทวีผล Executive Director จาก SEAC (ซ้าย)

ในช่วงโควิดระบาดอย่างหนัก องค์กรทุกแห่ง ประชาชนทุกคน ผู้ประกอบธุรกิจทั้งหลายล้วนต้องปรับตัวอย่างมาก เพื่อให้ก้าวข้ามวิกฤตไปให้ได้ สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการจำกัดการเดินทาง เน้นเก็บตัวอยู่ในบ้าน ทำงานจากที่บ้าน เรียนหนังสือจากที่บ้าน ดังนั้น เมื่อพูดถึงภาพรวม Education Technology แล้ว โควิดส่งผลกระทบอย่างมากและทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ๆ น่าสนใจหลายด้าน 

ผนวกการศึกษากับเทคโนโลยี ยิ่งทำให้คนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ง่ายมากขึ้น

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC ให้ความเห็นถึง EdTech หรือการจับคู่การศึกษากับเทคโนโลยี ทำให้สร้างความได้เปรียบค่อนข้างมาก สามารถเอื้อประโยชน์ให้คนเกิดการเรียนรู้ สามารถศึกษาที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ย่อมได้ 

ในมุมเทคโนโลยี มันช่วยเรื่องของการเข้าถึงคนในวงกว้าง ในช่วงหนึ่งที่ผ่านมา คนเกือบทุกประเทศต้องทำงานจากบ้าน ทำให้เรื่องของเทคโนโลยีเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่พัฒนาภายใน 3 เดือนของปีนี้ มากกว่า 3 ปีที่ผ่านมาทั้งหมด สำหรับ SEAC ในระยะแรกถือว่ามีความได้เปรียบ เพราะเรามีการเตรียมความพร้อมเรื่องแพลตฟอร์มและเทคโนโลยี แต่ไม่นานก็จะมีการเรียนรู้ในหลายๆ องค์กร ทำให้เราเห็นโปรเจกต์ต่างๆ เรื่องการเรียนออนไลน์เติบโตรวดเร็วมาก

สำหรับมุมการศึกษา สิ่งที่สำคัญคือเรื่องคอนเทนต์ พูดได้เลยว่า คอนเทนต์มีนัยยะสำคัญมากในช่วงที่เกิดวิกฤตขึ้น คนเลือกที่จะเรียนคอนเทนต์แบบเอาไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีเลย เช่น ประเทศจีน เรียนวันนี้ สามารถใช้ประโยชน์พรุ่งนี้ได้เลย 

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (กลาง) นิภัทรา ตั้งพจน์ทวีผล Executive Director จาก SEAC (ขวา)

บางธุรกิจที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้า เมื่อถูกระงับการดำเนินการ เคาท์เตอร์ถูกปิดราว 4-500 เคาท์เตอร์ในชั่วข้ามคืน ลูกค้าที่เป็นพนักงานขายของนั้นเขาไม่ต้องการเรียนโดยใช้เวลายาวนานถึง 3-5 เดือน เพราะไม่ทันใช้ ความเร็วไม่ได้ เขาต้องการเรียนวิธีขายของออนไลน์แบบเรียนวันนี้ พรุ่งนี้ไปขายได้เลย จึงทำให้เกิดความต้องการแบบใหม่คือ Just In Time Learning ลูกค้าซึ่งเป็นผู้เรียนสามารถเรียนรู้และนำไปใช้ได้ทันที

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป 

อริญญา ระบุว่า SEAC เริ่มคิดเอาเทคโนโลยีมาใช้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แม้ช่วงวิกฤตเทคโนโลยีของบริษัทอื่นพัฒนาเร็วมากแต่ SEAC โชคดีที่มีตัวตั้งต้น เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่มีเทคโนโลยีที่สร้างมาพอสมควรแล้ว จึงพยายามพัฒนาให้เร็วมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC

ช่วงโควิดเกิดขึ้น ทั้งจีน อเมริกา ยุโรปพัฒนาเร็วมาก มีทั้งฟีเจอร์ ฟังก์ชั่นออกใหม่ตลอดเวลา EdTech เมืองไทยยังวิ่งไม่เร็วเท่าอเมริกา SEAC จึงต้องวิ่งตลอดเวลา ต้องปรับตัวต่อเนื่อง และในส่วนคอนเทนต์ SEAC ต่อยอดจากที่ทำตั้งแต่ปีที่แล้ว เราเห็นภาพพฤติกรรมการบริโภคคอนเทนต์ที่เปลี่ยนแปลงไป คนมีความต้องการบริโภคคอนเทนต์ที่มีความสั้น กระชับ ตอบโจทย์ที่เป็น pain point ของเขา 

SEAC ตอนนี้มีหลักสูตรกว่า 1,000 หลักสูตร สิ่งที่แตกต่างของ SEAC คือ คอนเทนต์ดีและคนสอนเก่ง กล่าวคือคนที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการสอนได้ ทันทีที่เริ่มรู้ว่าโควิดจะเข้ามากระทบธุรกิจแน่นอน เราต้องเปลี่ยนทุกอย่างไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เมื่อห้องเรียนต้องปิดตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ลูกค้ายกเลิกการเรียนในรูปแบบ Face to Face ในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากที่รูปแบบ Face to Face ทำเงินได้มากกว่า 90% ปรากฎว่ารายได้ช่วงนั้นกลายเป็นศูนย์ 

เมื่อ SEAC เจอผลกระทบจาก Face to Face Learning จึงต้องหันมาอาศัยแพลตฟอร์มที่เป็น Virtual Class วิทยากรต้องฝึกสอนแบบ Virtual กันข้ามวันข้ามคืน ช่วยกันปรับหลักสูตรเพื่อนำเสนอบน Virtual Class ภายในอาทิตย์เดียวเราสามารถเพิ่มจำนวนหลักสูตรได้มากกว่า 100 หลักสูตร ลูกค้าจึงยกให้ SEAC เป็นอันดับ 1 ในเรื่องนี้ เพราะบรรยากาศการเรียนการสอนยังคงความ Interactive ระหว่างผู้เรียนกับอาจารย์ผู้สอน พูดคุยโต้ตอบได้ไม่ต่างไปจากการเรียนในรูปแบบ Face to Face 

อีกทั้ง ลูกค้าประมาณ 40% ของ SEAC อยู่ในธุรกิจที่อาจจะฟื้นตัวช้า ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว SEAC ต้อง Reframe segment ใหม่ในการทำตลาดมีการบุกตลาดใหม่ ทั้งโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ซึ่งก็ทำให้ได้ตลาดใหม่ภายในสองเดือน,  การเพิ่มคลาสแบบ Virtual ราว 100 คลาสให้ทันความต้องการ รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบให้เป็นแบบ Agile คือคิดเร็ว ทำเร็ว ปรับเร็ว เรียนรู้ให้เร็ว 

ไม่ใช่นักเรียนหรือนักศึกษาจากสถานศึกษาที่เรียนรู้ แต่คนทำงานก็ต้องเรียนรู้เช่นกัน

หลังจากช่วง lockdown ภาพที่เราเจอคือนอกจากนักเรียนที่เข้ามาเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญ แต่ยังมีกลุ่มตลาดคนว่างงานที่เพิ่มขึ้นมาอย่างน่าสนใจด้วย ในช่วงสองไตรมาสแรก รวมถึงกลุ่มที่ไม่มั่นใจในความมั่นคงของอาชีพตัวเอง เช่น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แพทย์ ที่เขาเริ่มมองหาก้าวต่อไปของชีวิตต่อจากนี้ เริ่มมองอนาคตมากยิ่งขึ้น

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC

ในโลกของความไม่แน่นอน SEAC ยังต้องวิ่งไปหาคำตอบ ยังต้องทดลองอีกมาก สถานการณ์นี้ต้องอย่าแน่ใจว่าอะไรแน่นอน ธุรกิจหลักของเรายังเป็นการเข้าไปช่วยทำ transformation ขององค์กร การให้บริการ YourNextU แต่ก็ยังมีอีกหลายมิติที่ต้องทดลอง เรียนรู้และพร้อมปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามแต่สถานการณ์

นิภัทรา ตั้งพจน์ทวีผล Executive Director จาก SEAC

ในส่วนของ YourNextU นั้น นิภัทรา ตั้งพจน์ทวีผล Executive Director จาก SEAC เล่าว่า หลังจากเปิด YourNextU มีข้อมูลที่น่าสนใจหลายด้าน อย่างพฤติกรรมของผู้เรียนที่ตื่นตัวมากขึ้น ถ้าดูข้อมูลสถิติย้อนหลังตั้งแต่มีนาคมที่มีการ lockdown ทำให้เราเปิดสอนแบบ Face-to-face เหมือนเดิมไม่ได้ แต่เรากลับพบว่า อัตราการใช้บริการแพลตฟอร์ม YourNextU เพื่อการเรียนรู้เพิ่มขึ้นถึง 25% ต่อคน เราเก็บข้อมูลนี้ด้วยการคุยกับผู้เรียนและถามถึงว่าอะไรคือตัวขับเคลื่อนพฤติกรรมการเรียนรู้ ซึ่งที่พบคือ 

หนึ่ง สมาชิกส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน เขาได้รับผลกระทบเยอะ มุมมองของเขาคือการเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง หลายคนเริ่มไม่มั่นใจว่างานที่ทำอยู่จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ คนเริ่มมองหา Second Job หรืออาชีพที่สอง ซึ่ง SEAC เริ่มเห็นแพทเทิร์นนี้ตั้งแต่เกิดโควิดว่าจะไม่มีแค่อาชีพเดียวอีกต่อไป หลายคนเริ่มมองหาทางเลือกเพิ่ม เริ่มคิดหาหนทาง Reskill Upskill จึงเกิดเป็นผลตอบรับที่กลับมาค่อนข้างเยอะ

สอง คนที่ยังมีความมั่นคงในหน้าที่การงานอยู่ แต่โจทย์การทำงานก็เริ่มไม่เหมือนเดิม กลุ่มนี้ยังไม่มองทางเลือก แต่เขาเริ่มมองหาตัวช่วยว่าจะทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ สร้างประสิทธิผลอย่างไร 

สาม แพทเทิร์นที่ล้อไปกับกระแสโลก คือ คนเริ่มเปิดใจมากขึ้นในการปรับใช้เทคโนโลยี เป็นไปตามคำกล่าวข้างต้นที่ว่า 3 เดือนเปลี่ยนแปลงเหมือน 3 ปี

ปีที่แล้ว คนยังชอบมาเรียนแบบ Face to Face ในอัตรา 80% เรียนแบบ Online 20% แต่ตั้งแต่เกิดโควิดระบาด คนเลือกเรียนผ่าน Online 40% และหลังช่วงโควิดระบาดหนักหน่วงผ่านไป คนเลือกเรียน Online 70% เรียนแบบ Virtual มากขึ้น ส่วน Face to Face ลดลงมาอยู่ที่ 30%

อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือโดยปกติการเรียนแบบออนไลน์ คนมักเรียนไม่จบคอร์สกันเยอะ คือไม่เกิน 15% แต่ที่ YourNextU มีอัตราการเรียนจบค่อนข้างสูงคือกว่า 80% สำหรับการเรียนแบบ virtual และ 54% สำหรับการเรียนแบบออนไลน์ ซึ่งก็มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายด้าน 

หนึ่ง หลักสูตรที่มีใน YourNextU เกี่ยวกับการทำงานในปัจจุบันค่อนข้างเยอะ 

สอง เวลาพูดถึงการเรียนรู้กับ YourNextU มันไม่ใช่แค่เรื่องคอนเทนต์ แต่เป็นผู้คน คอนเทนต์เป็นสิ่งที่ซึมซับเข้าไป จุดสำคัญคือการสร้างแรงจูงใจในการเรียน เช่น การเรียนเพื่อนำไปปรับปรุงบางอย่าง เช่น เมื่อผู้เรียนมองเห็นคนอื่นมาเรียนและนำไปประยุกต์ใช้ ได้เห็นมุมมองคนอื่นก็เกิดแนวคิดอยากไปลองทำบ้าง แพลตฟอร์มของที่นี่มีความแตกต่างตรงที่ทำให้ได้แนวคิดและสร้างแรงจูงใจในการนำไปใช้ด้วย 

สาม ผู้คนทุกวันนี้ไม่ได้อยากเรียนระยะยาว อยากเรียนแล้วใช้ได้เลย ใช้เวลาสั้น เรียนง่าย หยิบไปใช้ง่าย และมีความหลากหลาย 

กลยุทธ์ที่จะพา SEAC ไปข้างหน้า อริญญา มองว่า เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ทำให้องค์กรมีความแหลมคมมากยิ่งขึ้น มีการทำแผนต่อเนื่อง ภาพหลักคือจะมีการยกระดับเทคโนโลยีเป็นเวอร์ชั่น 2.0 ยกเครื่องแพลตฟอร์มใหม่เพื่อจะสร้างความแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่แล้วมากขึ้น 

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC

สองคือเรื่องการสร้าง Total Experience ให้กับลูกค้า SEAC ต้องการยกระดับประสบการณ์ของสมาชิก เรามีเป้าหมายให้คนไทยที่เข้ามาเรียน รู้สึกอยากเรียนจนจบ สนุกกับการเรียนรู้ และสามารถนำไปใช้งานได้จริง 

อีกหนึ่งเรื่องที่ SEAC จะเน้นคือการสร้าง Essential Skill หรือทักษะที่จำเป็นต่อสถานการณ์ เราจะมีการจัดทำ Portfolio of Essential Skills คือจัดหมวดหมู่มาให้เช่นถ้าคุณต้องการทำ Digital Marketing อะไรคือ Essential Skills ที่คุณต้องมี หรือถ้าคุณอยากเป็นพนักงานขายมืออาชีพในยุคออนไลน์ อะไรคือ Essential Skills ที่คุณต้องมี เช่นนี้เป็นต้น 

นอกจากนี้ SEAC เริ่มจับมือกับหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น เพื่อพัฒนาและยกระดับศักยภาพการศึกษาและคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ทั้งคนในองค์กร นักศึกษา นักวิจัย และคนทั่วไป (Non-Degree) ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งองค์กร Research University Network (RUN) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มนักวิจัยไทยจาก 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย และเร็วๆ นี้จะมีการร่วมมือกับอีกหลากหลายสถาบันทั่วประเทศ

นิภัทรา ตั้งพจน์ทวีผล Executive Director จาก SEAC

ด้านนิภัทรา เล่าว่า นอกจากนี้ เราจะให้ความสำคัญในส่วนของเพิ่ม Completion Rate คือการทำอย่างไรเพื่อให้คนเรียนแล้วเรียนจบ และมีตัวเลือกในการเรียนมากขึ้น เพิ่มเวลาให้เลือกเรียนมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ผู้เรียนได้มากขึ้น นอกจากนี้ก็จะมีคอร์สที่เข้มข้นมากขึ้น เราเริ่มมี alumni ก็จะเริ่มมี Practice Lab หลายคอร์ส เราจัดโครงการให้คนที่เรียนได้มาเจอกัน เขาก็เห็นมุมมองใหม่ๆ แลกเปลี่ยนกัน เอาของจริงมาลองทำกัน

นอกจากนี้ เรายังมี Assesment ที่เชื่อมโยงกับคอร์สที่เรียนเป็นหลัก คือการทำประเมินก่อน ว่าก่อนเรียนเป็นอย่างไร เรียนจบแล้วเป็นอย่างไร หรือ นักศึกษาที่อยากรู้ว่าเขาต้องการอะไร อยากค้นหาตัวเองก็จะมี Career Assessment ซึ่งช่วยได้มาก เปิดโอกาสให้เขาได้มาเจอผู้ใหญ่วัยทำงาน และได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองความรู้จากโลกการทำงานจริงมากขึ้น 

ทั้งนี้ อริญญา พูดถึงภาพรวมธุรกิจว่า เรามักจะได้ยินเรื่องดิสรัปชั่นมานาน ตอนนี้เรากำลังอยู่ในโลกที่มีความไม่แน่นอน ปีนี้ SEAC ปรับเปลี่ยนทุกวัน เรียนรู้ทุกวัน ความไม่แน่นอนตอนนี้คือหากยังทำแบบเดิม ก็คว้าโอกาสใหม่ไม่ได้  วิกฤตเป็น “ตัวเร่ง” ให้ SEAC ต้องรีเฟรมแบบติดสปีด ปรับ Business Model เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง

ลูกค้าของ SEAC ส่วนใหญ่เรียนรู้การปรับเปลี่ยนองค์กรมานานแล้ว หลายบริษัทที่สามารถปรับตัวรับวิกฤตได้ทันไม่ได้เปลี่ยนภายในเดือนสองเดือน แต่ลงทุนกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เป็นคู่ค้ากับเรามานับสิบปี โดย SEAC ให้ความช่วยเหลือลูกค้าหลายรายอย่างต่อเนื่อง เราผลักดันการนำ Outward Mindset ไปปรับใช้ในองค์กร เรามองว่าวิธีคิดหรือ Mindset เป็นประตูด่านแรกที่จะช่วยปลดล็อคศักยภาพที่มีอยู่ในตัวแต่ละคน และขับเคลื่อนองค์กรที่ต้องการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อต่อสู้กับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ที่ผ่านมามีบริษัทชั้นนำที่สนใจจัดโปรแกรม Outward Mindset อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท วินีไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์ บริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทแอมเวย์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (ขวา) นิภัทรา ตั้งพจน์ทวีผล Executive Director จาก SEAC (ซ้าย)

สรุป

โลกยุคหลังโควิด-19 ระบาด คือโลกที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก มีความไม่แน่นอนสูง การเรียนรู้ในโลกยุคใหม่คือการไม่หยุดเรียนรู้พร้อมที่จะปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง SEAC เดินหน้าเจาะธุรกิจเทคโนโลยีด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเพิ่มหลากหลายหลักสูตรที่จะช่วยเปลี่ยนวิธีคิดและเติมทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอน (Essential Skills) ให้กับคนไทย ผ่านการรีเฟรมยกเครื่องทำสิ่งใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแบบติดสปีด มากกว่ายึดอยู่ในกรอบแนวคิดแบบเดิมๆ 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา