ก้าวใหม่ของการศึกษาไทย! SEAC จับมือมจธ. ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน

เป็นเรื่องยากที่สถาบันการศึกษา กับบริษัทเอกชนจะมาร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรที่ใช้ในการเรียนการสอน แต่ล่าสุด SEAC ได้ร่วมมือกับ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี” เพื่อพัฒนาหลักสูตรสำหรับอนาคตร่วมกันแล้ว

seac

การเรียนรู้ที่ไม่จบแค่ในห้องเรียน

การทำงานในปัจจุบันจะอาศัยแค่ทักษะ และความรู้ที่เรียนจบออกมาจากมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะต้องอาศัยทักษะอื่นๆ ที่หาไม่ได้จากห้องเรียน โดยเฉพาะกลุ่ม Hyper-relevant Skills เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และสร้างความแตกต่าง แต่จะให้ผู้เรียนไปหาความรู้เองอาจจะเหนื่อยเกินไป ดังนั้นการสร้างหลักสูตรที่รองรับเรื่องนี้น่าจะดีกว่า

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC เล่าให้ฟังว่า การศึกษาคือหัวใจสำคัญในการเพิ่มคุณค่าของมนุษย์ และช่วยตอบโจทย์ทุกเป้าหมายของการใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้นการยกระดับคุณภาพการศึกษาจึงสำคัญ ซึ่ง SEAC ตั้งใจทำเรื่อง Lifelong Learning มากว่า 28 ปี พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะทำให้คนไทยเก่งขึ้นจนเทียบเท่ากับเวทีโลก

seac

และการจะทำให้ถึงจุดนั้นได้ การร่วมมือกับสถาบันการศึกษาคืออีกตัวแปรสำคัญ ซึ่งล่าสุด SEAC ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อสร้างการเรียนที่ไม่ได้จบแค่ในห้องเรียน แต่คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการออกแบบหลักสูตรใหม่ร่วมกัน

“สิ่งที่ SEAC ต้องการมอบให้ประเทศไทยคือ เราจะไม่ได้จับปลาให้คนไทย แต่เราต้องการสอนคนไทยให้จับ หรือตกปลาเป็น และรู้ว่าบ่อปลาอยู่ที่ไหน เพราะเราเชื่อว่า จริงๆ แล้วคนไทยเก่ง แต่เราขาดซึ่งโอกาสในการเข้าสู่รูปแบบการศึกษา การเรียนรู้ที่มีคุณภาพ หรือตอบโจทย์สถานการณ์โลก ซึ่งหากคนไทยได้รับการศึกษาที่ตอบโจทย์ คนไทยจะจับปลาได้ไม่น้อยกว่าประเทศใดในระดับสากล”

พัฒนาคนในทุกรูปแบบ และทักษะ

สำหรับความร่วมมือระหว่าง SEAC และมจธ. จะประกอบด้วยการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรทั้งในรูปแบบหลักสูตรออนไลน์ และแบบเรียนในห้องเรียน โดยเน้นไปที่การพัฒนาทักษะ Hard Skill และ Hyper-Relavant Skill หรือทักษะที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการแรงงานในอนาคต

seac

ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่จะมาเรียนหลักสูตรดังกล่าวไล่ตั้งแต่นักศึกษา, บุคลากรในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม จนถึงกลุ่มบุคคลทั่วไป โดยความร่วมมือนี้มีระยะเวลา 3 ปี หรือระหว่างวันที่ 18 มิ.ย. 2563 – 17 มิ.ย. 2566 และมีแนวโน้มในการต่อยอดสู่หลักสูตรปริญญาบัตรผ่านการเก็บเครดิต และหน่วยกิตวิชาเรียน

ทั้งนี้ในปีแรกของความร่วมมือ SEAC กับมจธ. จะส่งโครงการนำร่องภายในประเทศ เช่นการร่วมมือกันออกแบบหลักสูตรเพื่อสร้างกลุ่มอาชีพใหม่ เช่น Online Instructional Designer, Virtual Learning Facilitator และ Data Scientist Facilitator

seac

ลดความเหลื่อมล้ำ และอัตราว่างงาน

สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เสริมว่า การพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่จบไปแล้วได้ใบปริญญาคือเรื่องสำคัญ เพราะหากคนมีคุณภาพ การออกไปทำงานจริง จะสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติได้

“ก่อนหน้านี้มจธ. เคยร่วมมือกับบริษัทเอกชนแบบเป็นโครงการรายครั้ง แต่มันไม่ใช่กับที่เราทำกับ SEAC เพราะครั้งนี้มันคือความร่วมมือระยะยาว มีเป้าหมายใหญ่เพื่อยกระดับคุณภาพของนักศึกษา และบุคคลที่สนใจ ให้มีทักษะการทำงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นการต่อยอดจากหลักสูตร “ตามใจคุณ” ที่เราเคยทำมาก่อนหน้านี้แล้ว”

seac

ที่สำคัญความร่วมมือระหว่าง SEAC และมจธ. ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และอัตราการว่างงานได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเมื่อทุกคนมีทักษะที่มากขึ้น และเป็นทักษะที่อุตสาหกรรมต้องการในตอนนั้น ทุกคนจะเท่าเทียมเรื่องความรู้ และยกระดับประเทศไทยให้แข่งขันในระดับโลกได้

สรุป

ถือเป็นสัญญาณดีที่วงการศึกษาไทยมีความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา และบริษัทเอกชนอย่างจริงจัง เพื่อหาหลักสูตรที่เป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมจริงๆ ไม่ใช่เรียนไปแค่ได้รับปริญญา ดังนั้นต้องตามต่อไปว่าจะมีสถาบันฯ ไหนเดินหน้าเรื่องแบบนี้อีกบ้าง เพื่อยกระดับทักษะของทุกคนในประเทศ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Branded Content เป็นบทความที่ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์