เปิดแผนช่วง COVID-19 ของ Sea (ประเทศไทย) ยักษ์ใหญ่ในวงการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มไทย ที่มุ่งสร้าง ‘Value’ ให้บริษัทพร้อมกับการมอบ ‘Value’ คืนสู่สังคม

ตอนนี้ผู้บริโภค และภาคธุรกิจต่างประสบปัญหาจากวิกฤต COVID-19 และเพื่อช่วยเหลือทุกภาคส่วน พร้อมสร้างธุรกิจให้เติบโตยั่งยืน Sea (ประเทศไทย) จึงใช้ความเป็น Internet Platform เข้ามาแก้ปัญหานี้

sea thailand
มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย)

ผลกระทบที่เหนือกว่าที่คาดไว้

การระบาดของโรค COVID-19 เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก จนฝั่งผู้บริโภคก็ต้องกักตัวอยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่วนภาคธุรกิจก็แทบจะต้องหยุดนิ่ง เพราะผู้บริโภคไม่มีอารมณ์ซื้อสินค้า และถึงจะซื้อได้ก็มักจะซื้อแต่สินค้าที่จำเป็นเท่านั้น ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวเองเพื่อการอยู่รอด และเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยให้ความพยายามของประเทศไทยในการหยุดการแพร่กระจายของ COVID-19 สำเร็จได้โดยเร็วที่สุด ทั้งการมอบเงินทุนและสิ่งของจำเป็นเพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งการนำกำลังผลิตมาใช้ในการผลิตนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยก็เริ่มมีให้เห็น

ไม่เพียงแค่ในด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศเองก็ได้รับผลกระทบ ส่งผลถึงกลุ่มผู้บริโภคและกลุ่มธุรกิจ SMEs และลูกจ้างของ SMEs เป็นอย่างมาก นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ ‘Internet Platform Provider’ อย่าง Sea (ประเทศไทย) ต้องปรับตัวเช่นกัน แต่จะปรับตัวอย่างไรบ้าง ลองไปดูวิธีการทำธุรกิจของ Sea (ประเทศไทย) บริษัทแม่ของ Garena, Shopee และ SeaMoney ซึ่งนำจุดแข็งของธุรกิจที่สามารถเชื่อมต่อกับผู้บริโภคกับธุรกิจรายย่อยทั่วประเทศได้โดยง่าย มาแก้ปัญหาให้กับเหล่าผู้ใช้แพลตฟอร์ม ทั้งฝั่งผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ในช่วงเวลาที่ทุกคนไม่สามารถใช้พื้นที่สาธารณะได้อย่างเป็นปกติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการทำธุรกิจอย่างรอบด้าน

shopee

หากจะให้อธิบายถึงจุดแข็งของ Sea (ประเทศไทย) คงต้องลงลึกเป็นรายธุรกิจ โดยธุรกิจแรกคือ Garena ธุรกิจดิจิทัลเอ็นเตอร์เทนเมนต์ประเภทเกมออนไลน์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน เพราะแพลตฟอร์มของ Garena นี่เองที่เป็นศูนย์รวมของคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบในเกมออนไลน์ ทั้งยังตอบโจทย์การ Hangout กับเพื่อนในขณะที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ยังมีอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee และอีเพย์เมนต์อย่าง SeaMoney ที่เป็นศูนย์รวมการใช้จ่ายบนโลกออนไลน์ และเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องการซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยให้ธุรกิจต่างๆ เข้าถึงผู้บริโภคได้ดีกว่าเดิม ถือเป็นการเติมเต็ม Unmet Needs หรือบางความต้องการที่เติมเต็มได้ยากในเวลานี้

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงจุดยืนของ Sea (ประเทศไทย) ในกระแสวิกฤต COVID-19 ว่า “ในฐานะที่เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย Sea ไม่อาจนิ่งนอนใจ โดยเรามุ่งมั่นที่จะใช้ความแข็งแกร่งของเราเพื่ออำนวยความสะดวก ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค และเสริมศักยภาพธุรกิจ SMEs อย่างเต็มความสามารถ โดยได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างใกล้ชิด และได้วางแผนการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหา Unmet Needs ของกลุ่มผู้ประกอบการและลูกจ้าง SMEs ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนผู้บริโภคซึ่งได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยในช่วงวิกฤต COVID-19 โดยเราได้ทำงานใกล้ชิดกับภาครัฐอย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อร่วมกันออกแบบมาตรการช่วยเหลือเหล่านี้”

sea thailand

เจาะลึกการแก้ปัญหา Unmet Needs ในแบบ Sea (ประเทศไทย)

หากเจาะไปที่แต่ละธุรกิจของ Sea (ประเทศไทย) ในตอนนี้จะพบว่า Shopee นั้นออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่ม SMEs อย่างชัดเจน ทั้งด้านการเสริมทักษะการทำธุรกิจ การให้บริการสนับสนุนด้านเงินลงทุน ตลอดจนการลดภาระค่าใช้จ่าย

ปัจจุบัน Shopee ขยายผลการสอนจำหน่ายสินค้าบนโลกออนไลน์ภายใต้โครงการ Shopee Bootcamp และ Shopee University ซึ่งเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ค้ารายใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านอีคอมเมิร์ซ หรือต้องการยกระดับความสามารถ เข้ามาเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในการจำหน่ายสินค้าบนช่องทางออนไลน์แบบมืออาชีพ https://shopee-elearning.com/

พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อมอบบริการสินเชื่อมูลค่าอนุมัติสูงสุด 6 แสนบาท และให้คูปองส่วนลดจากไปรษณีย์ไทยเพื่อแบ่งเบาภาระในการทำธุรกิจ

shopee

shopee

สำหรับด้านผู้บริโภคเอง Shopee ก็รับทราบถึงปัญหาสินค้าขาดแคลนและราคาที่สูงขึ้น จึงร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในประเทศไทยเพื่อจัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคให้อย่างเพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ให้มั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับสินค้าที่ต้องการอย่างทั่วถึง ในราคาและคุณภาพที่เหมาะสม

นอกจากนี้ยังมีแคมเปญลดภาระด้านค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้บริโภค โดยส่งแคมเปญ #ShopeeFromHome Month #อยู่บ้านก็ช้อปปี้ได้ เพื่อเสนอสินค้าจำเป็นครอบคลุมทุกหมวดหมู่ในราคาพิเศษ ตั้งแต่วันนี้ – 29 เมษายน 2563 โดยผู้ใช้ช้อปปี้จะได้รับโค้ดส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำทุกวัน ตลอดทั้งแคมเปญ

ส่วน SeaMoney ก็พร้อมให้ข้อมูล COVID-19 ผ่านแอปพลิเคชัน AirPay เพื่อเกาะติดสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ #ShopeeFromHome ที่พร้อมมอบส่วนลดในการซื้อสินค้า

airpay

สุดท้าย Garena นั้นพร้อมสร้างเนื้อหาที่เข้าใจง่ายเพื่อสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับ COVID-19 ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นในแอปพลิเคชันเกมหรือช่องทางการสื่อสารต่างๆ เพื่อร่วมรณรงค์ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบัน และปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของตนเองและบุคคลรอบข้าง นอกจากนี้ ยังมีการใช้ช่องทางสื่อสารของ Garena ซึ่งมีผู้ติดตามจำนวนมหาศาล ในการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการทำงานของแพทย์ พยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

rov

rov

ด้านนักกีฬา eSports หรือ Streamer ซึ่งเป็นที่ชื่นชมและยอมรับให้กลุ่มเยาวชน ซึ่งร่วมแข่งขันในทัวร์นาเมนต์อีสปอร์ตของ Garena เอง ก็เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์เพื่อ Social Distancing การใช้เวลาอย่างเป็นประโยชน์ที่บ้าน และการดูแลสุขภาพด้วยเช่นกัน

rov

ไม่ใช่แค่ภายนอก แต่ภายในต้องมีประสิทธิภาพ

ในขณะเดียวกัน Sea (ประเทศไทย) มีการดูแลพนักงานในบริษัทผ่านมาตรการให้ Work From Home ตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. 2563 เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรค COVID-19 โดยมีการคาดการณ์ถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การขาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่จำเป็นต่อการทำงาน จึงมีการสนับสนุนปัจจัยจำเป็นเหล่านี้ให้แก่พนักงานที่ขาดแคลนด้วย เพื่อไม่ให้การทำงานที่บ้านสร้างความเดือดร้อนให้แก่พนักงานหรือเป็นปัญหาต่อการให้บริการของแต่ละแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ ยังคงจุดยืนของการกระตุ้นให้พนักงานพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยมีการมอบหลักสูตรเรียนออนไลน์ต่างๆ ให้กับพนักงานแทน Offline Training ซึ่งต้องงดไปโดยปริยาย

แผนตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งต่อกลุ่ม SMEs โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นผู้ใช้งาน Shopee หรือไม่ การลดภาระผู้บริโภคในเวลาที่จำเป็น และการให้ความสำคัญกับบุคลากรภายในองค์กร แสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการเข้าไปช่วยเหลือทุกๆ ภาคส่วน เป็นการตอกย้ำว่าแม้ในอุตสาหกรรมที่อยู่บนโลกดิจิทัลอย่าง Internet Platform Provider ก็มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มี ‘Human Touch’ แม้จำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางกายภาพในช่วง Social Distancing ก็ตาม และผู้เล่นขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่าง Sea (ประเทศไทย) ก็พร้อมที่จะร่วมบรรเทา เยียวยา เพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

sea thailand
Sea (ประเทศไทย) รวบรวมหน้ากาก N95 บริจาคโรงพยาบาลต่างๆ

“บางคนอาจคิดว่าการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เป็นช่วงเวลากอบโกยของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ หรือแพลตฟอร์มไม่ต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพราะถึงอย่างไรทุกภาคส่วนก็ต้องมาใช้แพลตฟอร์มอยู่ดี แต่ Sea (ประเทศไทย) ต้องการช่วยเหลือทุกฝ่าย และเติบโตไปด้วยกันทั้ง Ecosystem เพราะหากขาดการคำนึงถึงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม ผู้ขาย หรือพนักงานของเรา เชื่อว่า ‘คุณค่า’ ของธุรกิจจะค่อยๆ ลดลงโดยที่เราไม่รู้ตัว แม้ว่า ‘มูลค่า’ จะเพิ่มขึ้นก็ตาม ซึ่งนั่นไม่ใช่แนวทางของ Sea (ประเทศไทย) ซึ่งมุ่งจะเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มที่พัฒนาชีวิตคนให้ดีขึ้น” มณีรัตน์ กล่าว

สรุป

ถือเป็นการเดินหน้าช่วยเหลือทุกภาคส่วนอย่างจริงจังของ Sea (ประเทศไทย) ไม่ได้มองแต่เรื่องหารายได้จากการหลั่งไหลเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มของบริษัท และการเดินกลยุทธ์แบบนี้ก็น่าจะทำให้ Sea (ประเทศไทย) เติบโตอย่างยั่งยืนได้ไม่ยาก เพราะผู้บริโภค และธุรกิจต่างๆ รับรู้จริงๆ ว่าบริษัทพร้อมช่วยเหลือ และอยากเติบโตไปด้วยกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Branded Content เป็นบทความที่ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์