ตอนนี้ตามแหล่งท่องเที่ยวของคนรุ่นใหม่ มักจะมีตู้ไม้เท่ ๆ แปะป้ายข้อความภาษาอังกฤษว่า รับถ่ายรูป กระจายอยู่มากมาย โดยผู้บุกเบิกธุรกิจนี้คือ Sculpture ที่หนึ่งในผู้ก่อตั้งคือ ปิ่น-ลักษิกา จิระดารากุล หญิงสาววัย 25 ปี
ผู้ใหญ่อาจไม่เข้าใจว่า โลกหมุนด้วยดิจิทัลขนาดนี้ ทำไมต้องมาใช้บริการตู้ถ่ายรูปนี้ด้วย แต่รู้หรือไม่ว่า Sculpture ที่คิดค่าบริการถ่ายรูป 160 บาท แต่สามารถสร้างรายได้ได้เดือนละหลักล้านบาท
ยิ่งช่วงพีค ๆ จะมีลูกค้ายอมต่อคิว 3-4 ชม. เพื่อเข้ามาใช้บริการ ทำให้ธุรกิจนี้น่าสนใจ และเริ่มมีคู่แข่งเลียนแบบจำนวนมาก แต่ใช่ว่า Sculpture จะเดินหน้าธุรกิจอย่างสวยหรู เพราะช่วงโควิดระบาด รายได้หายไปถึง 90%
แล้วปี 2565 Sculpture วางแผนธุรกิจไว้อย่างไร กู้ธุรกิจกลับมาจากวิกฤตโควิดหรือยัง และจะมีอะไรใหม่ ๆ มากกว่าตู้ถ่ายหรือไม่ ติดตามได้จากบรรทัดถัดจากนี้
จุดเริ่มต้นของ Sculpture
Sculpture เริ่มต้นหลังจาก ปิ่น-ลักษิกา จิระดารากุล กลับมาจากนิวยอร์ค โดยที่นั่นมีตู้ถ่ายรูปสวย ๆ และเปิดมุมมองการถ่ายรูปใหม่กระจายอยู่ทั่วเมือง จึงอยากนำตู้เหล่านั้นมาให้บริการในประเทศไทยบ้าง แต่การนำเข้ามาค่อนข้างลำบาก จึงเลือกประดิษฐ์ตู้ถ่ายรูปขึ้นมาด้วยตัวเอง และเธอเป็นช่างภาพในตู้นั้นเองด้วย
ตู้แรกที่ Sculpture ให้บริการเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2562 และเริ่มเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นสิ่งใหม่ ประกอบกับการถ่ายรูปคือกิจกรรมที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ ทำให้ ปิ่น เริ่มคิดใหม่ว่า ถ้าถ่ายเอง พิมพ์ภาพเอง คงไม่ไหวแน่ จึงไปจ้างคนมาเขียนโปรแกรมเพื่อให้ตัวตู้ถ่ายภาพให้บริการแบบอัตโนมัติ
“ชื่อ Sculpture มาจากการที่อยากให้ตัวตู้ถ่ายภาพเป็นมากกว่าตู้ถ่ายภาพ เพราะอนาคตมันอาจเป็นประติมากรรมที่ตั้งอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ก็ได้ ซึ่งหลังจากที่เราเริ่มมองว่า Sculpture มันรันเป็นธุรกิจได้ เลยเอาเพื่อน พี-สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร เข้ามาดูแลเรื่องการเงิน และธุรกิจ ส่วนปินจะเป็น Art Director แทน” ปิ่น-ลักษิกา กล่าว
จากความชอบ ก้าวสู่โลกธุรกิจ
กว่าการเขียนโปรแกรมให้ตู้ Sculpture เสร็จสิ้นต้องรอถึงปี 2563 พร้อมกับขยายบริการไป 9-10 ตู้ คิดค่าบริการ 160 บาท แต่ในปีดังกล่าวเกิดโรค โควิด-19 ระบาดพอดี ทำให้แผนทุกอย่างที่วางไว้ต้องปรับใหม่ทั้งหมด เพราะลูกค้าไม่สามารถมาใช้บริการที่ตู้ได้เหมือนเดิม
“เราลำบากพอสมควร เพราะรายได้จากการใช้บริการหายไปถึง 90% ทำให้เราต้องคิดใหม่ทำใหม่ และหนึ่งในนั้นคือการจำหน่ายสินค้า Merchandise ภายใต้แบรนด์ Sculpture เพราะเรามีแฟนคลับอยู่แล้ว ซึ่งพอทำมาก็ขายได้ดี เช่นหมวกแก๊บสองชั้น และกล้องแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งกล้องนั้นทำมา 400 ตัว ขายหมดภายใน 2 วัน”
นอกจากนี้ Sculpture ยังเปิดบริการ Drive-Thru เพื่อขับรถเข้ามาถ่ายภาพราว 4-5 เดือน ช่วยขยายลูกค้า และตอบโจทย์ลูกค้าที่กังวลว่าเวลามาถ่ายรูปแล้วต้องเจอคนเยอะ ๆ แต่ถึงจะปรับแค่ไหน รายได้จากสองช่องทางนี้ยังไม่สามารถชดเชยรายได้จากการให้บริการตู้ถ่ายรูปได้อยู่ดี
2565 กับการเป็นปีที่เอาจริง
หลังปี 2563-2564 ทาง Sculpture ไม่สามารันธุรกิจได้เต็มที่ เพราะบางเวลามีการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก หรือบางเวลาก็เริ่มผ่อนคลาย แต่ลูกค้าก็ไม่กล้ามาใช้บริการ ทำให้ปี 2565 ที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น ทาง Sculpture จึงเตรียมบุกตลาดเต็มที่อีกครั้ง
ไล่ตั้งแต่การกลับมาให้บริการตู้ Sculpture 9-10 ตู้เต็มรูปแบบอีกครั้ง โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือวัยรุ่น กระตุ้นตลาดด้วยการทำภาพผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเอง และมีลูกค้าแต่ละรายช่วยกระจายภาพที่ถ่ายด้วย Sculpture ออกไปอีกทาง
นอกจากนี้ยังมีการรับงานอีเวนต์ต่าง ๆ เช่นงานแต่งงาน หรืองานกิจกรรมนอกสถานที่ ทั้งยังพร้อมเป็นพาร์ตเนอร์กับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ เพื่อร่วมกันทำตลาด และช่วยสื่อสารแบรนด์ Sculpture ออกไปว่า ตัวธุรกิจยังมีอยู่ เพราะปัจจุบันมีคู่แข่งที่ให้บริการรูปแบบเดียวกับ Sculpture จำนวนมาก
Snap Service ธุรกิจใหม่ที่มีความธุรกิจเต็มขั้น
อีกขาคือการจำหน่ายสินค้า Merchaindise เพื่อตอบรับความต้องการของแฟนคลับ Sculpture และมีธุรกิจใหม่ที่จะเริ่มในปีนี้คือ Sanp Service บริการเช่าตู้ถ่ายรูปแบบแฟรนไชส์ มีความคล้ายกับตู้สติ๊กเกอร์ยุคก่อน เหมาะกับธุรกิจ หรือรายย่อยที่ต้องการมีธุรกิจตู้ถ่ายภาพ แต่ไม่อยากลงทุน
“Snap Service เกิดขึ้นมา เพราะ Sculpture ไม่สามารถรุกในมุมธุรกิจได้เต็มที่ ดังนั้นการทำตู้สติ๊กเกอร์แฟรนไชส์จึงเหมาะสมกว่า โดยตัวตู้สามารถตกแต่งได้หลากหลายสี ผู้ใช้สามารถเลือกกรอบของภาพได้อย่างอิสระ ซึ่งแตกต่างจากตู้ Sculpture ที่ไม่สามารถเลือกได้”
ขณะเดียวกัน Sculpture วางแผนเปิดพื้นที่ของตัวเองที่สุขุมวิท 31 เพราะต้องการเป็นมากกว่าแค่ตู้ถ่ายรูป ส่วนเรื่องเป้าหมายรายได้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ด้วยการที่สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ทำให้ภาพรวมรายได้อาจดีขึ้นกว่าเดิมเมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อน
อ้างอิง // Sculpture
อ่านบทสัมภาษณ์อื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่
- เจาะลึกทิศทางเดลต้า (DPAINT) สีแห่งนวัตกรรม กับแผนการลงทุนสร้างอนาคตธุรกิจที่ยั่งยืน
- คุยกับไอติม พริษฐ์ เบื้องหลังความสำเร็จ StartDee ขึ้นแท่นแอพเรียนออนไลน์อันดับ 1
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา