แฮร์แคร์เดือด! Schwarzkopf เดินเกมซื้อกิจการเติมพอร์ท ไล่บี้ L’Oreal ขึ้นเบอร์ 1 ใน 5 ปี

หนึ่งความเคลื่อนไหวในตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผม เป็นการเดินเกมของ Schwarzkopf ในการซื้อและควบรวมกิจการแบรนด์ใหญ่เพื่อสร้างการเติบโตให้บริษัท เพิ่งปิดดีล JOICO และ ZOTOS มาหมาดๆ เมื่อปลายเดือนธันวาคม

ควบ 2 แบรนด์ เติมพอร์ทกลุ่มกลาง-บน

เป็นดีลใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเมื่อ Schwarzkopf แบรนด์แฮร์แคร์ระดับโลกภายใต้เครือ Henkel ได้ประกาศซื้อกิจการแบรนด์แฮร์แคร์ 2 แบรนด์ใหญ่ ได้แก่ JOICO และ ZOTOS จาก Shiseido จากดีลนี้ได้ส่งผลในประเทศไทยเช่นกัน โดย 2 แบรนด์นี้ได้เข้ามาอยู่ภายใต้ Schwarzkopf ในส่วนของตลาด Professional หรือกลุ่มร้านซาลอนโดยปริยาย

เหตุผลที่ Schwarzkopf ได้เลือกซื้อ 2 แบรนด์นี้ เพราะเป็นแบรนด์ในระดับกลาง-บน มาเติมสินค้าให้ครบทุกกลุ่มได้ และ JOICO มีความเชี่ยวชาญเรื่องผลิตภัณฑ์ทำสีผม สำหรับกลุ่มวัยทำงาน ส่วน ZOTOS แข็งแกร่งเรื่องน้ำยาดัดผม ที่ทุกร้านจำเป็นต้องมี และทั้ง 2 แบรนด์มีประวัติยาวนาน JOICO มีอายุ 43 ปี และ ZOTOS มีอายุ 89 ปี

ในขณะที่ Schwarzkopf อยู่ในเซ็กเมนต์พรีเมี่ยม จับตลาดกลุ่มบน และมีคาแร็คเตอร์เป็นแฮร์แฟชั่น ซึ่งเมื่อได้ 2 แบรนด์ใหม่เข้ามา ทำให้กลุ่ม Professional มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

เมื่อดูภาพรวมตลาดแฮร์แคร์ในกลุ่ม Professional หรือตามร้านเสริมสวย มีมูลค่า 4,000 ล้านบาท โตเล็กน้อยไม่ถึง 5% แบ่งเป็นตลาดโลคอลที่เป็นแบรนด์ไทย/จีน และตลาดอินเตอร์ เป็นแบรนด์จากอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น เมื่อเจาะตามเซ็กเมนต์แบ่งได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ ทำสี 30% เพิร์ม 30% แคร์ดูแลผม 30% และสไตล์ลิ่ง 10%

ในตลาดนี้ L’Oreal เป็นผู้นำตลาดอยู่ ซึ่งหลังจากที่ Schwarzkopf ควบ 2 แบรนด์นี้เข้ามา ทำให้ขึ้นเป็นเบอร์ 2 ทันที และตั้งเป้าขึ้นเบียดเบอร์ 1 ต่อ ตั้งเป้าภายใน 5 ปีจะขึ้นนำให้ได้!

ธีรศักดิ์ ไตรทิพย์ ผู้จัดการทั่วไป ชวาร์สคอฟ โปรเฟสชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวว่า

การควบรวม 2 แบรนด์นี้จะมีผลเฉพาะตลาดในเอเชีย และอเมริกาเหนือ ซึ่ง 2 แบรนด์นี้มีมูลค่าสูงมากในตลาดเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทยด้วย ร้านซาลานต่างๆ เลือกใช้ เป็นแบรนด์ที่มีโอกาสสูง และจะช่วยให้ Schwarzkopf เติบโตได้อีกเช่นกัน”

เดินเกมซื้อกิจการ สร้างการเติบโต

ไม่ใช่แค่ 2 แบรนด์นี้ที่ Schwarzkopf เพิ่งทำการกว้านซื้อ แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการควบรวมแล้ว 4 แบรนด์ แต่เป็นแบรนด์ที่ Exclusive เฉพาะในร้านซาลอน เช่น Sexy Hair แบรนด์อิตาลี และ Pravaba แบรนด์แม็กซิโก

แต่ทางบริษัทแม่จะเป็นคนกำหนดนโยบายว่าแบรนด์ไหนที่มีศักยภาพในการทำตลาดเอง หรือแบรนด์ไหนให้ทางตัวแทนจัดจำหน่ายเดิมเป็นคนทำตลาด

ตลาดแข่งเดือด พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

ธีรศักดิ์ ยังฉายภาพตลาดอีกว่าถึงแม้ตลาดจะเติบโตไม่มากเท่าหลายปีก่อน แต่ตลาดก็ยังมีการแข่งกันกันดุเดือด แต่ละแบรนด์ก็งัดกลยุทธ์ใหม่ๆ ออกมา ต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างความแตกต่าง และการควบรวมแบรนด์ทำให้สร้างการเติบโตได้เช่นกัน

รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้มีการเข้าร้านซาลอนถี่ขึ้น และกลุ่มเด็กก็เข้าร้านมากขึ้น เช่นกลุ่มเด็กโรงเรียนนานาชาติที่เข้ามาทำสีผม และพฤติกรรมของคนไทยที่รับเทรนด์ใหม่ๆ อยู่ตลอด ต้องเปลี่ยนสีผมอยู่ตลอด ไม่ได้ทำสีอย่างเดียว ต้องทำทรีตเมนต์ควบคู่ไปด้วย และคนสูงอายุที่ต้องการทำสีเพื่อปิดผมขาว ล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างการเติบโตได้ดี

ในปีนี้ Schwarzkopf ได้ตั้งเป้าการเติบโต 2 หลัก เพราะได้แบรนด์มาเติมพอร์ทให้แกร่งขึ้น เท่ากับว่าได้สินค้าจาก 2 แบรนด์ใหม่มาเพิ่มอีกมากกว่า 400 รายการ รวมกับสินค้าของ Schwarzkopf อีกกว่า 500 รายการ ยิ่งสร้างการเติบโตได้

และมีการทำตลาดผ่าน Hair Stylist ของร้านซาลอนชื่อดัง หรือกูรู ที่เป็น KOL ในการแนะนำสินค้าให้กับลูกค้า หรือคนในวงการช่างทำผมได้

สรุป

– การควบรวมกิจการเป็นกลยุทธ์ที่เห็นได้ทุกวงการ เพราะเป็นเหมือนทางลัดในการทำตลาด ที่ได้มาซึ่งมูลค่า และฐานลูกค้า การเดินเกมของ Schwarzkopf ในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการทำตลาดอย่างจริงจังในการไล่บี้เบอร์ 1 อย่าง L’Oreal เต็มสูบ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา