หลังโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ประกาศให้นักเรียนสามารถใส่ชุดไปรเวทได้ทุกวันอังคารนับตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. ก็มีการวิจารณ์มากมาย Brand Inside เลยอยากชวนคิดว่าถ้าทุกโรงเรียนทำแบบนี้จะกระทบผู้ค้าชุดนักเรียนแค่ไหน
ตลาดเครื่องแบบนักเรียนหมื่นล้าน
การที่ทุกโรงเรียนในประเทศไทยยังมีนโยบายให้นักเรียนต้องสวมใส่เครื่องแบบตั้งแต่เสื้อ, กางเกง และรองเท้าที่ถูกต้องตามกฎระเบียบเพื่อเข้ามาเรียนหนังสือนั้นทำให้ตลาดมูลค่าเครื่องแบบนักเรียนมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทยังทรงตัว หรือเติบโตได้เล็กน้อยในแต่ละปี โดยมียักษ์ใหญ่ทั้งฝั่งเสื้อผ้า และรองเท้าครองตลาดนี้เอาไว้
จักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและขาย บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้เล่าให้ฟังเมื่อปี 2561 ว่า ตลาดรองเท้านักเรียนมีมูลค่าราว 5,000 ล้านบาท และไม่ได้เติบโตมาระยะหนึ่งแล้ว ยิ่งปัจจุบันประชากรเกิดใหม่ในประเทศไทยก็ลดลง ก็อาจทำให้ตลาดนี้เติบโตได้ลำบาก
สำหรับ “นันยาง“ นั้นเมื่อปี 2561 มีส่วนแบ่งในตลาดรองเท้านักเรียนที่ 42% เป็นอันดับหนึ่งของตลาดนี้ แต่ทางบริษัทก็มีการแตกไลน์ไปในสินค้าอื่นๆ เช่นรองเท้าผ้าใบเอนกประสงค์ และรองเท้าแตะด้วย เพื่อกระจายความเสี่ยง ส่วนฝั่งตลาดเสื้อผ้านักเรียนนักมีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอยู่ราว 6,000-7,000 ล้านบาท
หมื่นล้านบาทที่หายวับไปกับตา
อย่างไรก็ตามเมื่อมาลองคิดดูว่าทุกโรงเรียนให้นักเรียนสวมใส่ชุดไปรเวทมาเรียนได้ทุกวันแล้วล่ะก็ ตลาดเครื่องแบบนักเรียนกว่าหมื่นล้านบาทก็คงหายไปอย่างแน่นอน และตัวเลขที่หายไปนั้นนอกจากกระทบกับฝั่งผู้ผลิตเครื่องแบบดังกล่าวแล้ว ยังกระทบไปถึงผู้ค้าทั้งรายใหญ่ และรายย่อยด้วย
ขณะเดียวกันการทำตลาดในช่วงก่อนเปิดเทอมก็คงจะเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเครื่องแบบนักเรียนไม่ได้อยู่ในแคมเปญเพื่อมาช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงเวลานั้นแล้ว ก็คงจะเหลือเพียงกลุ่มเครื่องเขียน และแบบเรียนต่างๆ เท่านั้นที่พอจะช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงนั้นได้บ้าง
ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวคงเกิดขึ้นยาก เพราะเครื่องแบบนักเรียนน่าจะอยู่กับสังคมไทยไปอีกระยะหนึ่ง ผ่านการเน้นเรื่องความเท่าเทียมผ่านการสวมใส่เครื่องแบบเดียวกัน แต่ก็ย้อนแย้งด้วยการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง และสถานะของผู้สวมใส่เครื่องแบบของแต่ละโรงเรียนเช่นกัน
ขนาดตอนอนุบาลยังมีวันใส่ไปรเวทเลย
ส่วนตัวผู้เขียนเองนั้นเมื่อย้อนไปวัยอนุบาลก็ยังจำได้ว่ามีวันหนึ่งในแต่ละสัปดาห์ที่โรงเรียนอนุญาตให้สวมใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนได้ ซึ่งเวลานั้นก็ไม่ได้รู้สึกอะไร และสามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ แถมเหตุการณ์ดังกล่าวก็คล้ายกับที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเพิ่งประกาศให้ทุกวันอังคารนั้นนักเรียนสามารถใส่ชุดไปรเวทได้
ในทางกลับกันโรงเรียนในประเทศไทยตอนนี้หากไม่นับโรงเรียนนานาชาติที่บางแห่งให้สวมใส่ชุดไปรเวทไปเรียนได้ ก็มี โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ประกาศให้นักเรียนสามารถสวมใส่ชุดไปรเวทไปเรียนได้เกือบทุกวัน โดยยกเว้นวันที่มีกิจกรรมพิเศษจริงๆ ที่ต้องใส่เครื่องแบบ
เมื่อลองไปดูเหตุผลของโรงเรียนดังกล่าวก็พบว่า ทางโรงเรียนต้องการให้นักเรียนสะดวกในการเรียนรู้ในรูปแบบกิจกรรมสร้างประสบการณ์ต่างๆ และมีการหารือกับผู้ปกครองเรียบร้อยแล้ว ส่วนทางโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนก็ให้เหตุผลว่า มีผลวิจัยเกี่ยวกับการไม่ใส่เครื่องแบบทำให้นักเรียนลดแรงกดดัน และกล้าแสดงออกมากขึ้น
สรุป
ตลาดเครื่องแบบนักเรียนหลายหมื่นล้านบาทระส่ำแน่ๆ หากทุกโรงเรียนยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนจริงๆ แต่เชื่อว่าผู้ค้าเครื่องแบบนักเรียนน่าจะเตรียมหาวิธีรับมือไว้บ้างแล้ว ส่วนจะมาไม้ไหนอันนี้ก็คาดเดาได้ยาก เพราะไม่รู้เมื่อไรจะถึงเวลานั้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา