สัมภาษณ์ SCG AddVentures ภารกิจสำคัญ นำนวัตกรรมโลกมาสู่เครือ SCG

เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่ SCG ก็ก้าวขาเข้ามาในวงการกองทุน venture capital (VC) เพื่อผลักดันนวัตกรรม (โอกาสใหม่ Startup หลัง SCG ทุ่มเงิน 3,000 ล้านบาทตั้งกองทุน AddVentures เล็งกลุ่ม Post-Seed) ตามแนวทางการจัดตั้ง corporate VC (CVC) ที่กำลังมาแรงในบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยในช่วงนี้

Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับทีมบริหารของ SCG AddVentures คุณจาชชัว แพส Managing Director และคุณดุสิต ชัยรัตน์ Corporate Venture Capital Fund Manager ถึงทิศทางและยุทธศาสตร์การลงทุนของ AddVentures หลังเปิดตัว

จาชชัว แพส (ซ้าย) ดุสิต ชัยรัตน์ (ขวา) ทีมบริหารของ SCG AddVentures

ที่มาที่ไปของ SCG AddVentures

การก่อตั้ง SCG AddVentures เริ่มมาตั้งแต่ระดับผู้บริหารของ SCG คือคุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ซีอีโอ ที่ต้องการสร้างกระบวนการ digital transformation ภายในองค์กร

จริงๆ แล้ว SCG มีหน่วยงานด้านการวิจัย (R&D) อยู่แล้ว แต่เน้นที่การพัฒนาสายวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี ไม่ได้เน้นกระบวนการด้านธุรกิจเป็นหลัก ด้วยโจทย์นี้ ทางออกที่เหมาะสมจึงเป็นการทำ corporate VC เพื่อเชื่อมต่อกับนวัตกรรมที่อยู่ภายนอกองค์กร

ทีมบริหารของ AddVentures บอกว่าโมเดล CVC ไม่ใช่ของใหม่ เป็นสิ่งที่บริษัทใหญ่ๆ ใน Fortune 500 ทำกันมานานมากแล้ว ส่วนแผนการ AddVentures เริ่มต้นช่วงปลายปี 2559 ทีมงานเริ่มศึกษาโมเดลจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นต้นฉบับจากซิลิคอนวัลเลย์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อิสราเอล และจีน โดยดูว่าธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมแบบเดียวกับ SCG เขาทำอะไรกันบ้าง

ต้นแบบที่ AddVentures คิดว่าใกล้เคียงกับตัวเองคือ GE ยักษ์ใหญ่ของวงการอุตสาหกรรมโลกที่มีธุรกิจหลายอย่างคล้ายคลึงกับ SCG โดย GE มีโครงการด้านนวัตกรรมหลายอย่าง ทั้ง GE Ventures ที่เน้นการลงทุน หรือ GE FastWorks ที่เน้นกระบวนการทำงานภายในที่คล่องตัว

ภารกิจของ AddVentures คือออกไปตามหานวัตกรรมในตลาดโลก และแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับเครือ SCG

เป้าหมายคือเน้นนวัตกรรมในตลาดโลก

AddVentures อาจต่างไปจาก CVC รายอื่นๆ ในบ้านเราตรงที่ตั้งโจทย์ว่าจะเน้นไปที่นวัตกรรมในตลาดโลกตั้งแต่ต้น เน้นการไปลงทุนในบริษัทต่างชาติมากกว่าสตาร์ตอัพในประเทศไทย

ทีมบริหารของ AddVentures บอกว่าต้นแบบของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีในโลก กระจุกตัวอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์ที่เป็น No.1 มายาวนาน, เสิ่นเจิ้นที่เน้นด้านฮาร์ดแวร์ และเมืองเทลอาวีฟของอิสราเอล ที่เน้นด้าน hard science และโซลูชันแบบ B2B เป้าหมายของ AddVentures จึงเป็นการเข้าไปมองหาโซลูชันหรือเทคโนโลยีที่น่าสนใจของบริษัทในภูมิภาคเหล่านี้มาใช้กับเครือ SCG ซึ่งในอีกทางก็สามารถมองได้ว่า SCG จะเป็นพาร์ทเนอร์ที่พาบริษัทเหล่านี้เข้ามาทำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ด้วยเช่นกัน

ธุรกิจที่ AddVentures สนใจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ

  • Industrial เช่น Smart ‘x’ ที่นำความฉลาดมาใส่ในอุตสาหกรรมใดๆ ก็ตาม รวมถึง IoT และโดรน
  • B2B โดยเน้นด้านธุรกิจที่ SCG ทำอยู่ ซึ่งอิสราเอลค่อนข้างเก่งในเรื่องนี้
  • Enterprise เน้นที่ฝั่งซอฟต์แวร์และ automation

รูปแบบการลงทุนจะมีทั้งการลงทุนในบริษัทโดยตรง และการลงทุนในกองทุน VC อีกต่อหนึ่ง ส่วนเป้าหมายการลงทุนจะเน้นการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ (strategic investment) ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ขององค์กรเป็นสำคัญ มากกว่าการลงทุนที่เน้นเรื่องผลตอบแทน (financial investment) เพียงอย่างเดียว

จาชชัว แพส กรรมการผู้จัดการ AddVentures by SCG

เน้นการทำงานคล่องตัว เป็นอิสระจากบริษัทแม่

ในแง่การดำเนินงาน AddVentures เป็นหน่วยงานอิสระจาก SCG บริษัทแม่ เน้นการทำงานคล่องตัว ใช้คนน้อย ตัดสินใจเร็ว การลงทุนไม่ต้องผ่านบอร์ด มีงบประมาณ 3,000 ล้านบาทในกรอบการทำงาน 5 ปี แต่แนวทางการลงทุนก็จะเน้นการเชื่อมโยงกลับไปยังธุรกิจของ SCG เป็นสำคัญ

เป้าหมายการลงทุนของ AddVentures ในปี 2560 จะลงทุนในกองทุน 2 กอง และสตาร์ตอัพไทยอีก 2 ราย ซึ่งจะแถลงข่าวการลงทุนในเร็วๆ นี้ ส่วนในระยะยาว ตั้งเป้าลงทุนในสตาร์ตอัพโดยตรง 25-30 บริษัท และกองทุน 5 กอง รวมถึงโมเดลความร่วมมือเชิงพาณิชย์ (commercial deal) เช่น การซื้อเทคโนโลยีหรือโซลูชันโดยตรง โดยไม่ได้เข้าไปลงทุนอีก 50 ดีล

ดุสิต ชัยรัตน์ Corporate Venture Capital Fund Manager

ทีมบริหารของ AddVentures มองยุทธศาสตร์การทำ CVC ว่าเป็นเรื่องดี และเป็นการสร้าง ecosystem ให้เกิดขึ้นในเมืองไทย อย่างไรก็ตาม โจทย์ของแต่ละอุตสาหกรรมย่อมแตกต่างกันไป และโจทย์ของ SCG ก็แตกต่างไปจากรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโทรคมนาคมหรือการเงิน ดังนั้นรูปแบบการทำงานหรือการลงทุนก็ย่อมต่างไปด้วย

AddVentures มองว่าตลาดสตาร์ตอัพไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนนอกประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีขนาดตลาดที่ใหญ่พอสมควร อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของสตาร์ตอัพไทยคงเป็นเรื่องมุมมองที่ยังมองเฉพาะแค่ตลาดไทยเท่านั้น มองการขยายไปยังตลาดอาเซียนหรือเอเชียน้อย รวมถึงตลาดสตาร์ตอัพเมืองไทยยังมีความลึกในเชิงเทคโนโลยีไม่เยอะนัก อาจต้องแก้ไขด้วยการดึงนักพัฒนาหรือวิศวกรจากต่างประเทศเข้ามาเสริมด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา