อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) กล่าวว่า ทางบริษัทฯ มีผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนแนวนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศ โดยให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางตามความเหมาะสม และศักยภาพของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ มุ่งสู่เป้าหมายการเป็น AI-First Organization ควบคู่กับการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ โดยทางบริษัทฯ ได้จับมือกับ WeBank ธนาคารดิจิทัลชั้นนำจากประเทศจีน ในฐานะพันธมิตรด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพของกลุ่มในการเตรียมยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินในประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่รายงานในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า SCBX ยังคงเป้าหมายทางการเงินปี 2567 เหมือนเดิม
- สินเชื่อ ในไตรมาส 1/67 เติบโต 0.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัว 3-5%
- ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ ในไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 3.83% อยู่ในกรอบเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ราว 3.7-3.9%
- รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ ในไตรมาส 1/67 ติดลบ 7.6%YoY จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัวหลักเดียว (Low-mid single digit)
- อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ในไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 42.1% จากเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ในกรอบ 43-45%
- อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อ ในไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 1.67% จากเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ราว 1.6-1.8%
ผลประกอบการของธนาคารฯ ไตรมาส 1 ปี 2567 (ณ 31 มี.ค. 67) มีจุดสำคัญดังนี้
- กำไรสุทธิอยู่ที่ 11,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 31,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของ NIM
(ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ: NIM อยู่ที่ 3.83% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 3.46%) - รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่นๆ อยู่ที่ 10,178 ล้านบาท ลดลง 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคาร และรายได้ที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อที่ปรับตัวลดลง
- รายได้จากการลงทุนและการค้า อยู่ที่ 1,056 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.4%
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน อยู่ที่ 18,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายพนักงานโดยจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขยายธุรกิจ
- สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 95,236 ล้านบาท ลดลง 1.6% จากสิ้นปีก่อนหน้า โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) อยู่ที่ 3.52% เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2566 ที่อยู่ระดับ 3.44%
- ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ในไตรมาส 1 ปี 2567 10,201 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากปีก่อนเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับกลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีความเปราะบางอันเนื่องมาจากสภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงระดับสูง (167% ของสินเชื่อรวม)
- อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 160.6%
ทั้งนี้ ณ 31 มี.ค. 2567 สินเชื่อโดยรวมของบริษัทฯ อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.1%YoY จากธุรกิจสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารไทยพาณิชย์ และการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลของบริษัทลูกอื่น ๆ ส่วนเงินรับฝากอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ลดลง 4%YoY อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารมีเงินกองทุนตามกฎหมายของบริษัท อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.6%
ที่มา SCBX, SET
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา