SCBS Wealth Research ออกบทวิเคราะห์เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยประเด็นสำคัญคือรัฐต้องลดแรงจูงใจให้คนลดการใช้รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ดีเซล
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพจะคลี่คลายไปบางส่วนบ้างแล้วเนื่องจากลมที่มาจากอ่าวไทยได้พัดพาไปบางส่วน อย่างไรก็ดีความเลวร้ายของปัญหา PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครยังคงถือว่าแย่ลงเรื่อยๆ ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีมลพิษทางอากาศระดับเดียวกับหลายๆ เมืองในประเทศจีนแล้ว
SCBS Wealth Research ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายออกมา ซึ่งปัญหาฝุ่นและมลพิษในไทยกำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่
มลพิษมีผลกระทบมหาศาล
SCBS Wealth Research มองว่าผลเสียของฝุ่นละออง PM 2.5 นั้นส่งผลให้เกิดปัญหาแก่ระบบหายใจของมนุษย์ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกนั้นแสดงให้เห็นว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากปัญหามลพิษทางอากาศเฉลี่ยแล้วประมาณ 4 ล้านคนต่อปี กว่า 5 แสนรายเสียชีวิตในทวีปยุโรป ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ 4.6% ของ GDP ยุโรป
นอกจากนี้ข้อมูลของกรีนพีซระบุว่าในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 37,500 ราย ก่อให้เกิดผลเสียต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยประมาณ 250,000 ถึง 420,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1.6 ถึง 2.7% ของ GDP ประเทศไทย
SCBS Wealth Research แนะนำนโยบายแก้ปัญหา
สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายที่ SCBS Wealth Research แนะนำให้รัฐบาลในการควบคุมมลพิษทางอากาศและหมอกควัน จะเน้นไปในการลดแรงจูงใจในการใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก เนื่องจากเป็นปัญหาหลักของฝุ่น PM 2.5
- ปรับภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลขึ้นให้เท่ากัน เพราะปัจจุบันขนาดเครื่องยนต์ที่ต่ำกว่า 3,250 cc ได้จ่ายภาษีน้อยกว่า
- ปรับภาษีโรงงานที่ปล่อยมลพิษ ถ้าหากโรงงานยิ่งปล่อยมลพิษมากรัฐก็ควรที่จะเก็บภาษีมากขึ้น
- ปรับภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล โดยปรับให้เท่ากับน้ำมันเบนซินคือ 6.50 บาทต่อลิตร
- จัดตั้งกองทุนดูแลคุณภาพอากาศแห่งชาติ โดยนำรายได้จากข้อ 2 และ 3 มาพัฒนาคุณภาพอากาศ เช่น เพิ่มพื้นที่การปลูกต้นไม้ ฯลฯ
- เพิ่มโทษให้กับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม เช่น การเผาในที่โล่ง
นอกจากนี้รัฐยังต้องทำควบคู่ไปกับการการสนับสนุนและผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นด้วย รวมไปถึงระบบขนส่งมวลชน เพื่อจะได้เป็นทางเลือกสำหรับการเดินทางของประชาชน
ที่มา – บทวิเคราะห์จาก SCBS Wealth Research
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา