มุมมองจาก SCB หลังจากสรรพากรออกมาตรการต่างๆ เน้นบุคคลและนิติบุคคลเสียภาษีครบถ้วน

Brand Inside นำมุมมองจาก SCB เกี่ยวกับภาพรวมของกฎหมายภาษีอากรในปีนี้ หลังจากกรมสรรพากรได้ออกมาตรการทางภาษีออกมา

ภาพประกอบบทความจาก Shutterstock

สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ที่ปรึกษาด้านการวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 เป็นต้นมา กรมสรรพากรได้มีการออกมาตรการทางภาษีอากรโดยในหลายๆมาตรการได้มีผลใช้บังคับแล้ว และบางมาตรการก็กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจรวมทั้งมีข้อสงสัยและข้อซักถามในทางปฏิบัติจากประชาชนเป็นอย่างมาก ได้แก่

  1. มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ตามพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติและปฏิบัติตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว จะได้รับสิทธิยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับทางอาญา
  2. การจัดเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ กฎหมายจะให้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี แต่มีเงื่อนไขคือ ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชีรวมกันจะต้องมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาทตลอดปีภาษีและเจ้าของบัญชีจะต้องลงทะเบียนกับธนาคารที่เปิดบัญชีเพื่อเป็นการยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้กรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เนื่องจากกฎเกณฑ์ดังกล่าวทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เสียภาษีอย่างกว้างขวาง
  3. กฎหมายภาษี e-Payment  กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการ e-Wallet จะต้องนำส่งข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้กรมสรรพากร โดยข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่จะต้องมีการนำส่งฯ ได้แก่ รายการฝากหรือรับโอนเงินเข้าบัญชี ตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี และมียอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านต่อปี หรือรายการฝากหรือรับโอนเงินเข้าบัญชีตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี โดยกฎหมายดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป และกำหนดส่งข้อมูลฯ ให้แก่กรมสรรพากรในเดือนมีนาคม 2563 เป็นครั้งแรก

ภาพรวมมาตรการภาษีในปีนี้

สาธิต ยังได้กล่าวต่อในเรื่องนี้ถึงภาพรวมของกฎหมายภาษีอากรในช่วงปี 2562 และแนวโน้มของกฎหมายที่จะมีผลใช้บังคับในอนาคตว่า กรมสรรพากรเน้นการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้นกว่าเดิม โดยกรมสรรพากรนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และแยกแยะกลุ่มผู้เสียภาษี รวมไปถึงสร้างรูปแบบการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการเสียภาษีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้กรมสรรพากรยังมีการออกกฎหมายภาษีอากรใหม่ๆ ที่ต้องการให้ผู้เสียภาษีไม่ว่าจะเป็นผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมไปถึงผู้ประกอบการที่อยู่ในรูปแบบนิติบุคคลได้เสียภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วน 

ยังมีภาษีจากกองทุนรวมตราสารหนี้อีก

นอกจากนี้ยังมีร่างกฎหมายภาษีอากรที่กำลังรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายที่น่าสนใจ ได้แก่ การเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก “กองทุนรวม” ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะส่วนที่เป็น “รายได้ดอกเบี้ย” เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการจัดเก็บภาษีเงินได้ระหว่างการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้โดยตรง กับ การลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ทางอ้อมผ่านกองทุนรวม

ซึ่งหากร่าง พรบ.ฯ ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ อาจมีผลกระทบกับกองทุนรวมฯ ที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ ที่อาจจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่ลดลง โดยร่างกฎหมายภาษีที่ผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ