SCB ชี้ หยวนดิจิทัลเป็นนวัตกรรมการเงินครั้งสำคัญ แนะธุรกิจไทยต้องจับตามองในระยะยาว

มุมมองจากธนาคารไทยพาณิชย์เกี่ยวกับการทดสอบหยวนดิจิทัล โดย SCB มองว่าเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่สำคัญหลังจากนี้ และแนะนำให้ภาคธุรกิจไทยต้องจับตามองในระยะยาว

China Payment QR Code
ภาพจาก Shutterstock

มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การประกาศเริ่มใช้เงินหยวนดิจิทัลน่าจะเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่สำคัญที่สุดหลังจากเหตุการณ์โรค COVID-19 โดยเงินหยวนดิจิทัลนี้ไม่ใช่สกุลใหม่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของเงินหยวนปกติ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายการเงิน ตลอดจนมีส่วนช่วยในการปราบปรามการทุจริต ในระยะยาวอาจเป็นตัวเสริมความเป็นสากลของเงินหยวน

สำหรับหยวนดิจิทัลนั้น ธนาคารกลางจีน หรือ PBoC ได้ศึกษาแนวทางมาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว การนำเงินหยวนดิจิทัลออกมาใช้ในช่วงเวลานี้ ส่วนหนึ่งเพื่อการป้องกันการติดโรคระบาดผ่านธนบัตร ถึงแม้ประเทศจีนเป็นสังคมไร้เงินสดเกือบทั้งหมด แต่เบื้องหลังของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ยังมีส่วนที่เป็นธนบัตรกระดาษอยู่ อาทิ การจัดเก็บธนบัตรที่ธนาคารพาณิชย์ ส่วนเงินหยวนดิจิทัลจะไม่มีขั้นตอนของธนบัตรกระดาษแต่อย่างใด

มาณพ ยังชี้ว่า เงินหยวนดิจิทัลมีคุณสมบัติและวัตถุประสงค์ที่ตรงกันข้ามกับ Cryptocurrency โดยสิ้นเชิง และรัฐบาลจีนไม่ได้มีสัญญาณที่จะส่งเสริมการใช้ Cryptocurrency แต่อย่างใด และธนาคารกลางจีน น่าจะสามารถดำเนินนโยบายทางการเงินได้แบบคล่องตัวและตรงจุดมากขึ้นในระยะต่อไปเมื่อมีการใช้เงินหยวนดิจิทัลในวงกว้าง เนื่องจากคุณสมบัติด้านการรวมศูนย์ที่ทำให้ติดตามสถานะของผู้ถือเงินได้

แนวคิดของเงินหยวนดิจิทัลนั้นอยู่ตรงกันข้ามกับ Cryptocurrency เช่น Bitcoin และโดยนัยยะของหยวนดิจิทัลนั้นยังเป็นการสกัดกั้น Cryptocurrency เนื่องจากเงินหยวนดิจิทัลมีลักษณะ 3 ประการ

  1. มีกฎหมายรองรับและไม่ใช่เงินสกุลใหม่ เงินหยวนดิจิทัลเป็นเงินที่มีกฎหมายและความน่าเชื่อถือของประเทศรองรับ ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ หากแต่เป็นเงินหยวนในรูปแบบดิจิทัล (แทนที่จะเป็นกระดาษ) ดังนั้น ไม่ต้องมีการอิงราคากับสกุลเงินหรือสินทรัพย์ใด ๆ ไม่ต้องมีการกำหนดราคาเป็นของตัวเองเพิ่มขึ้น เพราะว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินหยวนที่มีใช้อยู่แล้ว
  2. มีลักษณะรวมศูนย์ เงินหยวนดิจิทัลไม่อิงกับเทคโนโลยี Blockchain มีลักษณะการจัดเก็บแบบรวมศูนย์มาที่ธนาคารกลาง คือธนาคารกลางสามารถรู้ข้อมูลการเคลื่อนไหวตลอดจนสถานะของผู้ถือว่าเป็นบุคคลธรรมดา หรือบริษัท SME หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น โดยแนวคิดเรื่องการรวมศูนย์นั้นตรงข้ามกับ Cryptocurrency ที่เน้นการกระจายการจัดเก็บข้อมูลโดยไม่มีตัวกลาง
  3. มีดอกเบี้ย ธนาคารกลางสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้กับเงินหยวนดิจิทัลได้โดยตรง คุณสมบัติข้อนี้เป็นจุดแตกต่างจากเงิน Cryptocurrency โดยทั่วไป แต่ในขั้นทดลองนี้ยังไม่มีการกำหนดดอกเบี้ย

มาณพ ยังได้กล่าวเสริมว่า ธนาคารกลางจีน อาจกำหนดหรือปรับอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่างกันสำหรับกลุ่มผู้ถือเงินแต่ละกลุ่มโดยตรง ไม่ต้องผ่านกลไกของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ธนาคารกลางสามารถบริหารสภาพคล่องในแต่ละภาคเศรษฐกิจโดยตรงได้มากขึ้น นอกจากนี้ประโยชน์อื่น ๆ ของเงินดิจิทัล ได้แก่ ต้นทุนการผลิตเงินที่ต่ำกว่า การป้องกันการคดโกงและการฟอกเงินที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า หรือแม้กระทั่งการจ่ายเงินอุดหนุนในเหตุวิกฤติที่ทำได้แบบตรงตัวกว่า เป็นต้น

ปัจจุบัน ธนาคารกลางจีน กำลังทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลที่มีชื่อทางการว่า Digital Currency/Electronic Payment (DCEP) โดยกำหนดทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลนี้ใน 4 เมือง ได้แก่ เซิ่นเจิ้น ซูโจว เฉิงตู และสงอัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในเมืองซูโจว รัฐบาลจะจ่ายค่าเดินทางให้กับข้าราชการครึ่งหนึ่งเป็นเงินหยวนดิจิทัล

ขณะที่การทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลในเมืองสงอัน จะเน้นทดลองใช้กับธุรกิจค้าปลีกและการจัดเลี้ยง เช่น ฟิตเนส ซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น โดยมีบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ เช่น Starbucks McDonald’s และ Subway เข้าร่วมโครงการทดลองในครั้งนี้ด้วย

มาณพยังได้แนะนำภาคธุรกิจไทยควรจับตาแนวโน้มระยะยาวว่าความคล่องตัวของเงินหยวนดิจิทัลจะมีส่วนผลักดันให้เงินหยวนมีความเป็นสากลมากขึ้นหรือไม่เพียงใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขั้นตอนการโอนเงินเข้าออกประเทศจีนเพื่อชำระสินค้าค่าบริการและการลงทุน การเพิ่มน้ำหนักของเงินหยวนในทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศต่าง ๆ
ซึ่งมีผลต่อเนื่องกับอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ดี มาณพ ชี้ว่า เงินหยวนดิจิทัลนี้คงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพรวมการปฏิรูปเงินหยวนให้มีความเสรีมากขึ้น จึงต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการเปิดเสรีบัญชีทุนของประเทศจีนด้วย สำหรับในระยะสั้นเขาไม่คิดว่าการใช้เงินหยวนดิจิทัลจะมีผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจไทยแต่อย่างใด

Digital Yuan หยวนดิจิทัล SCB

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ