SCB เดินหน้าแผน 3 ปี (62-64) ยืนเป้าธนาคารแห่งอนาคต เร่งปรับวัฒนธรรมองค์กรใหม่

หลังจากประกาศยุทธศาสตร์ Upside Down หรือ ยุทธศาสตร์​ตีลังกา ที่ต้องคิดทุกอย่างใหม่ทั้งหมดและแตกต่างจากเดิม เพื่อสร้างให้ ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB เป็น The Future Bank และเป็น Most Admired Bank ตามนโยบายของ อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งถึงวันนี้ผ่านมาใกล้จะ 3 ปีแล้ว

อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

อาทิตย์​ บอกว่า ที่ผ่านมามีการลงทุนไปตามงบประมาณ 40,000 ล้านบาท เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาและสร้างสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และจากนี้จะต้องเดินหน้าแผน 3 ปี เพื่อยกระดับด้านดิจิทัล พร้อมด้วยบริการใหม่ๆ ทั้ง Digital Ventures, SCB Abacus และ SCB10X

ปี 2562 จะเน้นทุกอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรภายในของ SCB และการผลักดันบริการดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นกว่าเดิม

จาก SCB Easy ถึง SCB10X ความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด

ความเปลี่ยนแปลงตามแผน Upside Down เริ่มตั้งแต่ปลายปี 59 แต่สิ่งที่หลายคนเห็นชัดเจนคือ การพัฒนา SCB Easy ให้มีความเป็น Lifestyle มากขึ้น และทำให้ SCB ระเบิดพลังดิจิทัลออกมา สร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยจากปี 59 – ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการผ่าน Mobile Banking จาก 2.5 ล้านรายเพิ่มเป็นเกือบ 9 ล้านราย ตามมาด้วย SCB Easy แม่มณี ที่มีร้านค้าใช้งานจาก 4,000 ราย เป็นเกือบ 1 ล้านราย

สำหรับ SCB Easy การเติบโตในระดับนี้ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ในวงการธนาคาร แต่ อาทิตย์​ มองว่ายังน้อยเกินไป และตั้งเป้าว่าในปี 62 จะต้องมีฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 12 ล้านราย เพราะ SCB Easy ถือเป็นช่องทางในการ Distuptive Business Model ที่จะสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต

จะเห็นว่า ช่องทางสาขา และ ATM ลดจำนวนและได้เปลี่ยนบทบาทไปจากเดิม แต่ช่องทางดิจิทัล โดยเฉพาะ Mobile Banking จะกลายเป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงผู้ใช้ ดังนั้นจึงเกิด SCB10X ขึ้น เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อตอบความต้องการของลูกค้า และสร้างการเติบโตแบบ 10 เท่า

เช่น นวัตกรรมในการทำความรู้จักลูกค้าและยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (EKYC & Esignature) ซึ่งช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการเปิดบัญชีของลูกค้าบุคคลและนิติบุคคลได้อย่างมาก การพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนจาก Digital Ventures มาสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement) ภายใต้โครงการ B2P (Blockchain Solution for ProcuretoPay) ซึ่งจะใช้กับคู่ค้าและซัพพลายเชนของลูกค้านิติบุคคล และการนำบล็อกเชนมาให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการโอนเงินข้ามประเทศ จากเดิมที่ใช้เวลาเป็นวันเหลือเพียงไม่กี่นาที  การใช้เทคโนโลยีพัฒนาประสบการณ์การให้คำปรึกษาแก่ลูกค้า Wealth  รวมถึงการปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล เป็นต้น

งานใหญ่ เตรียมเปลี่ยนผ่านองค์กร เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต

อาทิตย์​ บอกว่า งานใหญ่ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากของ SCB ในปี 62 คือ การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีการ ภายในองค์กรใหม่ทั้งหมด ซึ่งเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา เร่ิมวางแผนและดำเนินการไปแล้ว แต่ปีหน้าจะต้องเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ต้องสร้าง Customer Centric ต้องดึงดูด Talent และต้องสามารถลองผิดลองถูก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ได้เสมอ

“ขอย้ำคำเดิมว่า ถ้า SCB เอาต้นทุน รายได้ และกำไรเป็นตัวตั้งเหมือนเดิม องค์กรจะไม่สามารถเติบโตและอยู่รอดได้ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรจึงต้องเกิดขึ้น โดยมีลูกค้าเป็นที่ตั้ง ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการตามความต้องการของลูกค้า จากนั้นรายได้และกำไรจะตามมา”

อารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer และ Chief Strategy Officer

สร้างการเติบโตจากธุรกิจหลัก และการลงทุนสำหรับอนาคต

อารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer และ Chief Strategy Officer บอกว่า การต่อยอดจากโครงการ SCB Transformation มีแนวทางการดำเนินงานใน 2 รูปแบบ ได้แก่ การเติบโตในธุรกิจหลักของธนาคาร และการลงทุนสำหรับอนาคต โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

สำหรับการเติบโตในธุรกิจหลักของธนาคาร (Core business) จะมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ผ่านการเชื่อมโยงขีดความสามารถใหม่เพื่อนำเสนอประสบการณ์รูปแบบใหม่ให้กับลูกค้า ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายผู้ใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านรายในปี 2562 และยกระดับการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้อยู่บนช่องทางดิจิทัลมากขึ้น โดยคาดว่าในปีหน้าปริมาณธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นเป็น 65% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 55% ในขณะเดียวกันธนาคารจะเน้นการเติบโตธุรกิจผ่านขีดความสามารถใหม่ซึ่งจะเป็นแนวทางการสร้างรายได้ในมิติใหม่และลดต้นทุนธนาคารในด้านต่าง ๆ ดังนี้

 

  • การเติบโตจากธุรกิจสินเชื่อ โดยธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อ  5-7% ในปี 2562 และให้ความสำคัญกับการปรับพอร์ตโฟลิโอสินเชื่อโดยมุ่งเน้นการเติบโตสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (ทั้งสินเชื่อเพื่อการบริโภคและสินเชื่อธุรกิจรายย่อย) โดยใช้ขีดความสามารถในการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ทั้งด้านดิจิทัลและด้านข้อมูล เพื่อสร้างรายได้มิติใหม่ให้กับธนาคารภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม

 

  • การเติบโตจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง โดยผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ Julius Baer กลุ่มธุรกิจบริการไพรเวทแบงกิ้งชั้นนำจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในการให้บริการกลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (Ultra HNW) และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสริมสร้างประสบการณ์บริการที่สะดวกและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า Private และ Affluent โดยธนาคารตั้งเป้าเพิ่มจำนวนฐานลูกค้า Wealth 20 25% และเพิ่มจำนวนสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (Wealth AUM) 8 10% ในปี 2562

 

 

ลงนามความร่วมมือ SCB กับ Julius Baer

ธนาคารจะเน้นการต่อยอดความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจจากหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกเพื่อสร้าง ecosystem และแพลตฟอร์มในการนำเสนอบริการรูปแบบใหม่ให้กับลูกค้า มุ่งเน้นการสร้าง “Lifestyle ecosystem” สำหรับลูกค้าบุคคล ทั้งด้านไลฟ์สไตล์, ท่องเที่ยว, ค้าปลีก, สุขภาพ และการสร้าง “Digital commerce ecosystem” สนับสนุนผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการรายย่อยในการเติบโตและขยายธุรกิจในยุคดิจิทัล

นอกจากนี้ ธนาคารยังคงให้น้ำหนักในการลงทุนสำหรับอนาคตผ่าน Disruptive business model เพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด (Exponential growth) โดยผ่านรูปแบบการจับมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ

รวมถึงสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีผ่านบริษัทลูกของธนาคารทั้ง Digital Ventures และ SCB ABACUS เพื่อให้ธนาคารสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นนำและนำมาต่อยอดปรับใช้กับธุรกิจธนาคารได้ รวมถึงธนาคารได้ตั้งแผนก SCB10X ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ในองค์กร มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างผลิตภัณฑ์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic product) ผ่านโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่จะสร้างประสบการณ์และคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้า โดยดำเนินงานภายใต้การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรวิถีใหม่ซึ่งมีความคล้ายสตาร์ทอัพ ให้ทีมงานมีแนวคิดและวัฒนธรรมของตัวเอง สามารถลองผิดลองถูกเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อนที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวก และเมื่อผนึกกำลังร่วมกันระหว่าง Digital Ventures, SCB ABACUS และ SCB 10X จะนำพา SCB ให้กลายเป็นธนาคารแห่งอนาคต (The Future Bank) ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลาได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

สรุป

SCB เริ่มขยับอีกครั้งด้วยการประกาศแผนที่จะเดินหน้าเปลี่ยนแปลงองค์กรในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อการเป็น The Future Bank พร้อมบอกว่าจะมีบริการดิจิทัลเพื่อเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ การเปลี่ยนแปลงองค์กร หรือ SCB Transformation ซึ่ง องค์กรใหญ่ขนาดนี้ มีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายในการเปลี่ยน แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำเพื่อ Disrupt ตัวเอง ก่อนจะถูก Disrupt ในอนาคต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา