SCB Protect ตั้งเป้าธุรกิจประกันภัยปี 2023 โต 200% นำร่องเปิดศูนย์ต่างจังหวัดแห่งแรกที่เชียงใหม่

ไทยพาณิชย์ โพรเทค (SCB Protect) เปิดแผนธุรกิจปี 2023 เน้น 3 กลยุทธ์ขยายการเติบโตธุรกิจประกันภัยไปต่างจังหวัด นำร่องครั้งแรกที่เชียงใหม่พร้อมรุกตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กร 

ปรมาศิริ มโนลม้าย รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจประกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยพาณิชย์ โพรเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าประกันชีวิตและวินาศภัยได้เปิดเผยรายได้ของบริษัทในปี 2022 และทิศทางการวางกลยุทธ์ในปีนี้

ภาพรวมธุรกิจประกัน

ในปี 2022 ธุรกิจประกันภัยเติบโตขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าหลังชะงักลงเพราะโควิด-19 SCB Protect มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น 145% หรือกว่า 1.8 แสนราย เบี้ยรับรวม 1.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 145% และมีรายได้รวมประมาณ 800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 139% 

ปรมาศิริเผยว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่ที่ราว 30% จากประชากรทั่วประเทศ ขณะที่เห็นสัญญาณการเติบโตที่ดีในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้เนื่องจากผู้บริโภคตื่นตัวมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่เพิ่งเข้าสู่โลกการทำงานและเริ่มวางแผนชีวิต ในตลาดประกันภัยของกลุ่มธนาคาร ไทยพาณิชย์มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด อยู่ที่ 30%

SCB Protect ตั้งเป้าผลักดันมูลค่าเบี้ยรับรวมและรายได้เติบโตจากปีที่แล้ว 200% โดยตั้งเป้าเบี้ยรับรวมอยู่ที่ประมาณ 3.4 พันล้านบาท ส่วนรายได้ตั้งเป้าไว้ที่ราว 1.6 พันล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ต้องการค่าเบี้ยประกันไม่สูงหรือเฉลี่ยอยู่ที่ 14,000-18,000 บาทต่อปี

ปรมาศิริ ได้เผย 3 กลยุทธ์หลักที่บริษัทจะใช้เพื่อกระตุ้นการเติบโตในปี 2023 นี้ คือ ให้บริการแบบไร้รอยต่อ (Omni-Channel) พัฒนา AI ในการนำเสนอข้อมูล และขยายเครือข่ายสู่ภูมิภาคหลัก

ให้บริการแบบไร้รอยต่อ (Omni-Channel)

SCB จะเน้นไปที่การเชื่อมต่อ 3 แพลตฟอร์มหลักที่ให้บริการซื้อขายประกันที่มีอยู่แล้ว คือ ช่องทางประกันออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน SCB Easy เทเลเซลล์ ที่ปรึกษาด้านความคุ้มครองที่ให้บริการแบบนัดพบปะกับลูกค้า ประกอบกับการเพิ่มช่องทางติดต่อสำหรับบริการประกันโดยตรงผ่านคอลเซ็นเตอร์ 1314

เมื่อปีที่แล้ว ช่องทางที่ปิดการขายและยอดขายได้ดีที่สุด คือ เทเลเซลล์ที่ครองสัดส่วน 80% ของยอดขายประกันชีวิตและประกันวินาศภัยทั้งหมด ส่วนทางที่ปรึกษาด้านความคุ้มครองมีสัดส่วน 17% เพราะการเจอกันเกิดขึ้นได้ยากจากโควิด-19 และจากช่องทางออนไลน์เพียง 2% 

จากข้อมูลทำให้บริษัทพบว่า ช่องทางออนไลน์เข้าถึงลูกค้าได้ดีขึ้นในแง่การค้นหาข้อมูลแต่อัตราการซื้อผ่านออนไลน์ยังมีน้อยจึงต้องการเชื่อมต่อการบริการทุกช่องทางให้ราบรื่น อย่างเช่น หากลูกค้าเข้าไปศึกษาข้อมูลประกันผ่านออนไลน์แล้วมีปัญหาหรือมีข้อสงสัยก็สามารถโทรสอบถามที่ 1314 ได้

พัฒนา AI ในการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล

SCB จะพัฒนา AI เพื่อเรียนรู้และวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ ค่าเบี้ย และช่องทางการติดต่อซื้อประกันที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย

นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะเน้นที่รากฐานของธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นบริษัทแม่เป็นหลักเพราะเทคโนโลยีธนาคารมีความปลอดภัยของข้อมูลอยู่แล้ว

ขยายเครือข่ายสู่ภูมิภาคหลัก

อีกกลยุทธหนึ่ง คือ การขยายเครือข่ายผ่านการเปิดศูนย์กลางการดำเนินงานประจำภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศโดยตั้งเป้าสร้างเบี้ยรับเพิ่มภาคละ 720 ล้านบาทต่อภาคต่อปี ปัจจุบันได้นำร่องในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อนเป็นแห่งแรก 

การเปิดศูนย์ฯ ยังมาพร้อมเป้าหมายเพิ่มการจ้างงานและส่งเสริมแรงงานคืนถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันศูนย์กลางการดำเนินงานประจำภาคเหนือมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 450 คน ส่วนใหญ่เป็นฝั่งเทเลเซลล์

นอกจากนี้ ในการเปิดศูนย์กลางการดำเนินงานได้นำร่องรุกตลาดประกันกลุ่มอุบัติเหตุภายใต้ความร่วมมือกับ ซันเดย์ ประกันภัย โดยเน้นคุ้มครองกลุ่มอาชีพอิสระ ขณะนี้ได้ลงนามความร่วมมือกับ 5 องค์กร คือ สภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่ สมาพันธ์ SME ไทย จังหวัดเชียงใหม่ สมาคมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทยจังหวัดเชียงใหม่ และสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) 

บริษัทมีแผนจะขยายศูนย์กลางการดำเนินงานประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่นเป็นแห่งต่อไปในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และตั้งเป้ารับสมัครพนักงาน 300 อัตรา ส่วนภาคตะวันออกและภาคใต้จะจัดตั้งในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้และต้นปีหน้า 

บริษัทคาดว่า ส่วนภูมิภาคจะทำสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 20-30% ในปีหน้า และเพิ่มขึ้นเป็น 30% ขึ้นไปในปีหน้าส่วนภายใน 3 ปี สัดส่วนรายได้จากกรุงเทพจะเป็น 40% และต่างจังหวัด 60%

ที่มา – SCB Protect

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา