ก้าวสำคัญ! SCB ร่วมกับ Julius Baer ตั้งบริษัทเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าความมั่งคั่งสูง

ความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง SCB กับ Julius Baer ตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่เพื่อบริหารความมั่งคั่งให้กลับกลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (HNW) เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง

ภาพโดย วัชรวิชญ์ ภู่ดอก

SCB และ Julius Baer ประกาศเตรียมตั้งบริษัทร่วมทุนบริษัทใหม่ขึ้นมา ซึ่งสัดส่วนในการร่วมทุนเริ่มแรกจะเป็นทาง SCB ถือหุ้น 60% ทาง Julius Baer ถือหุ้นที่ 40% (ซึ่งสามารถเพิ่มสัดส่วนได้ทีหลังเป็น 49%) โดยจะนำความเชี่ยวชาญในการบริหารความมั่งคั่งและรวมไปถึงประสบการณ์ทั่วโลกในการเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยลูกค้าความมั่งคั่งระดับสูง (HNW) ซึ่งทาง SCB และ Julius Baer มองเห็นในระยะยาวถึงเรื่องการบริหารความมั่งคั่งในกลุ่มลูกค้าในประเทศไทย โดยมูลค่าทรัพย์สินขั้นต่ำที่จะใช้บริการคือ 100 ล้านบาท

ธนาคารต้องปรับตัว

อาทิตย์ นันทวิทยา CEO ของ SCB บอกว่า ธนาคารต้องปรับตัวอย่างมาก ถ้ามีแต่ลูกค้ามาฝากถอนเงินอย่างเดียวไม่สามารถสร้างความยั่งยืน การตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาใหม่กับทาง Julius Baer ถือเป็นอีกหนึ่งการปรับตัว โดยเน้นไปที่การบริหารความมั่งคั่งให้กลุ่มลูกค้าชาวไทย รวมไปถึงลูกค้าชาวต่างชาติที่อาศัยและทำงานในประเทศไทย

ก้าวสำคัญของทั้ง 2 ฝ่าย

Bernhard Hodler ซึ่งเป็น CEO ของ Julius Baer บอกว่า เป็นก้าวสำคัญของทาง Julius Baer และการเลือก SCB เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจเพราะว่ามีเคมีที่ตรงกัน เป็นธนาคารที่มีอายุยืนยาว มีลูกค้าที่ไว้ใจธนาคาร และที่สำคัญคือ มีช่องทางเข้าถึงกลุ่มลูกค้าความมั่งคั่งสูงในไทย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

อาทิตย์ นันทวิทยา ได้เสริมว่า ถ้าหากทาง Wealth Management จะเข้ามาในประเทศไทยนั้นมี 2 วิธีคือ เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ หรือไม่ก็ตั้งกิจการในไทยขึ้นมาเลย ซึ่งทางเลือกหลังอาจได้ลูกค้าน้อยกว่ามาก แตกต่างกับการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ ซึ่งสุดท้ายในไทยใช้วิธีในการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจโดยการตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมา

ภาพโดย วัชรวิชญ์ ภู่ดอก

ตลาด Wealth Management ในไทยยังโตได้อีกเยอะ

กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงในประเทศไทยมีการเติบโตที่สูงมาก โดยปี 2559 เติบโต 12.7% และปี 2560 ที่ผ่านมามีการเติบโตที่ 13.3% โดยรายงานของ BCG Global Wealth Report ในปีที่ผ่านมาได้รายงานว่ามูลค่าตลาดบริหารความมั่งคั่งในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยประมาณการณ์ว่า ลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูงมีอยู่ประมาณ 30,000 คน

อาทิตย์ นันทวิทยา บอกว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 เป็นต้นมา ธนาคารหลายๆ แห่งต้องขายกิจการเช่น บริษัทหลักทรัพย์ หรือแม้แต่ธุรกิจบริหารกองทุน แต่มีธุรกิจหนึ่งที่เติบโตและธนาคารไม่มีทางขายเด็ดขาดเลยคือธุรกิจบริหารความมั่งคั่งหรือ Wealth Management 

ทำลายข้อจำกัดในการลงทุน

อาทิตย์ บอกว่า ปัญหาของลูกค้าความมั่งคั่งระดับสูงในประเทศไทยคือ ไม่มีทางออกในการลงทุน ผลิตภัณฑ์ทางการเงินในประเทศไทยมีข้อจำกัด และมีอุปสรรคเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ สมมติ มีการแนะนำให้ไปลงทุนที่ต่างประเทศ ลูกค้าความมั่งคั่งระดับสูงอาจคิดว่าฝากเงินกับเจ้านั้นเจ้านี้ไว้ใจได้หรือไม่ เพราะว่าเงินไม่ใช่จำนวนน้อยๆ หรือแม้แต่ลูกค้าบางคนไม่รู้จะจัดการเงินจำนวนมากๆ อย่างไร

การได้ Julius Baer มาช่วยตรงนี้ได้มาก เช่น ลูกค้าในไทยมีหุ้นไทยมูลค่า 200 ล้านบาท อยากจะเปลี่ยนเป็นหุ้นต่างประเทศ ซึ่งทาง Julius Baer มีความเชี่ยวชาญ สามารถให้คำแนะนำได้ว่าลงทุนต่างประเทศที่ไหนให้ผลตอบแทนดี

การลงนามระหว่าง SCB และ Julius Baer // ภาพโดย วัชรวิชญ์ ภู่ดอก

ไม่เน้นขายกองทุน ดูความต้องการของลูกค้า

ปัญหาใหญ่ของเรื่องธุรกิจบริหารความมั่งคั่งในประเทศไทย หรือแม้แต่ประเทศอื่นๆ คือ การที่ธนาคารหรือแม้แต่ Private Banking หลายๆ เจ้าเน้นขายกองทุนและเน้นการทำรายได้จากค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน ซึ่ง Bernhard Hodler กล่าวว่า Julius Baer จะเน้นขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า ดูที่ความเหมาะสมเป็นหลัก ไม่มีการยัดเยียด

อาทิตย์ มองว่าธุรกิจ Wealth Management มีรายละเอียดและความแตกต่างมากกว่านั้น จะขายกองทุนแบบเดิมๆ จะใช้วิธี One Product Fit All กับลูกค้ากลุ่มความมั่งคั่งระดับสูงไม่ได้

ลูกค้าได้ประโยชน์

เราจะเห็นได้ว่าการร่วมทุนระหว่าง SCB และทาง Julius Baer เป็นก้าวสำคัญของกลุ่มธนาคารในประเทศไทย ที่เริ่มขยับตัวไปหากลุ่มลูกค้าความมั่งคั่งสูง โดยก่อนหน้านั้นเราจะเห็นได้จากการจับมือเป็นพันธมิตรระหว่าง KBank กับทาง Lombard Odier ซึ่งเป็น Private Bank จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ที่เน้นเรื่อง Wealth Management

เช่นเดียวกับทาง SCB และ Julius Baer ยังไม่รวมถึงธนาคารอื่นๆ ในประเทศไทยที่เริ่มมาเน้นด้านนี้เช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ทาง Credit Suisse ก็ลงมาเปิดสาขาในประเทศไทยเพื่อหาลูกค้าใหม่ๆ สุดท้ายแล้วลูกค้าได้ประโยชน์ เพราะว่ามีบริการเหล่านี้จากหลากหลายธนาคาร

ที่มาReuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ