SCB งบไตรมาส 3/2020 กำไร 4,641 ล้านบาท ต้องตั้งสำรองเพิ่ม แต่คุมค่าใช้จ่ายดีขึ้น

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานงบในไตรมาส 3/20 โดยกำไรอยู่ที่ 4,641 ล้านบาท สาเหตุสำคัญคือธนาคารต้องตั้งสำรองมากขึ้น อย่างไรก็ดีในไตรมาสนี้ธนาคารได้ควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

Siam Commercial Bank SCB ไทยพาณิชย์
ภาพจาก Shutterstock

SCB ได้ประกาศกำไรไตรมาส 3 อยู่ที่ 4,641 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 3 ของปีที่แล้วอยู่ที่ 68.6% โดยรายได้รวมของไตรมาส 3 นี้อยู่ที่ 34,485 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดย SCB ได้รายงานว่าปัจจัยสำคัญในงบไตรมาส 3 ของปีที่ผ่านมามีกำไรสูงคือมาจากการขายไทยพาณิชย์ประกันชีวิตใหักับ FWD ขณะที่สัดส่วน NPL ล่าสุดอยู่ที่ 3.32% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ 3.12%

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่  23,724 ล้านบาท ลดลง 9.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่มาจากสินเชื่อลดลง ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.

รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 10,761 ล้านบาท ลดลง 68% ปัจจัยสำคัญของปีที่ผ่านมานั้นมาจากการขายไทยพาณิชย์ประกันชีวิตใหักับ FWD แต่ถ้าหากหักรายการดังกล่าวออกไปแล้ว รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะเติบโตราวๆ 5.1% จากปัจจัยค่าธรรมเนียมจาก bancassurance

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 15,747 ล้านบาท ลดลง 10.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการควบคุมค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายทางการตลาด ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารสถานที่และอุปกรณ์ รวมถึงค่าใช้จ่ายของพนักงาน ที่ลดลง

ขณะเดียวกันธนาคารยังได้รายงานว่า เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและคุณภาพสินเชื่อ ที่อาจด้อยลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดจาก COVID-19 ในไตรมาส 3 ของปีนี้ ธนาคารได้ตั้งสำรองเงินจำนวน 12,955 ล้านบาท

นอกจากนี้ในรายงานที่แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ยังได้รายงานว่าจะมีการเปิดตัวแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารในชื่อของ Robinhood เร็วๆ นี้ และในขณะเดียวกันธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัล และการสร้างพันธมติรทางธุรกิจ เพื่อเร่งการพัฒนารูปแบบในการทำธุรกิจใหม่ด้านดิจิทัล และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ที่มา – ตลาดหลักทรัพย์แห่งประะเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ