SCB EIC: ไตรมาส 3 กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0.75%

EIC ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2565 จากเดิมเติบโตที่ 2.7% เพิ่มเป็น 2.9% ภาคการท่องเที่ยวและบริการฟื้นตัวขึ้น นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทยเพิ่มจากเดิม 5.7 ล้านคนเป็น 7.4 ล้านคนในปีนี้ แต่ก็ยังไม่ดีเท่าก่อนโรคระบาดที่มีนักท่องเที่ยวไหลเข้าไทยมากถึง 40 ล้านคน

SCB EIC

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ระบุว่า EIC ประเมินว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ กิจกรรมภาคบริการฟื้นตัวดีขึ้น ภาคการเกษตรก็มีส่วนช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น สินค้าเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นตามทิศทางอาหารโลกที่เพิ่มขึ้น จากปัจจัยอุปทานสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากทั้งสองประเทศถือเป็นแหล่งต้นน้ำสำหรับอุปทานรายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ข้าวสาลี ปุ๋ย ฯลฯ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ

SCB EIC

เศรษฐกิจโลกปี 2565 มีแนวโน้มชะลอลงหลังเผชิญความเสี่ยง 3 ปัจจัย

  • สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อปัญหาอุปทานแย่ลงและยืดเยื้อกว่าที่คาด ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะพลังงานและอาหารยังสูงขึ้นต่อเนื่อง
  • มาตรการล็อคดาวน์จากนโยบาย Zero covid ของจีน กระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศและอุปสงค์โลกเพิ่ม อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าจีนเป็นแหล่งผลิตยักษ์ใหญ่ของโลก
  • การดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลาง ที่เร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เพิ่มความผันผวนการเงินโลก

SCB EIC

EIC คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทุกการประชุมที่เหลือของปีนี้ และจะปรับขึ้นถึงครั้งละ 50 bps ใน 3 รอบการประชุมหน้า ส่งผลให้กรอบบนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อาจแตะระดับ 3% ภายในสิ้นปี EIC จึงปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจโลกลงมาอยู่ที่ 3.2% ในปี 2565 ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 5.8% ตามการชะลอตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งสหรัฐ ยุโรป จีน

EIC-SCB
สินค้าส่งออกที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากพึ่งพาตลาดจีนและยุโรปเป็นหลัก

เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอลงและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะหน้าจะส่งผลต่อการส่งออกที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวชะลอลง เนื่องจากการควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มข้นของจีนที่ทำให้เกิดการดิสรัปในตัวเอง ตลอดจนภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการลงทุนของภาคเอกชนที่ประสบปัญหาเดิมอยู่ก่อนหน้าแล้ว ทั้งการชะงักของอุปทานและต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น

EIC

ส่วนเงินเฟ้อ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงถึง 5.9% เฉลี่ยทั้งปีนี้ จากเดิมคือ 4.9% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 24 ปี รายได้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเติบโตช้าลง ตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายมีจำนวนกว่า 7 ล้านครัวเรือนหรือเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมด ปัญหาเงินเฟ้อจะส่งผลซ้ำเติมสถานะทางการเงินถดถอยลง เรื่องหนี้ครัวเรือนต้องดูความสามารถในการชำระหนี้และรายได้ในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ถือเป็นความเปราะบางที่เพิ่มมากขึ้น

EIC
รายได้ในกลุ่มธุรกิพื้นที่สีน้ำตาลเข้ม คือกลุ่มที่ได้รับประโยชน์อย่างมากในช่วงปี 2022 นี้ทั้งซัพพลายเชน
EIC SCB
พื้นที่สีชมพูเข้ม: ขนส่งได้รับผลกระทบมากที่สด พื้นที่สีชมพูอ่อน: ได้รับผลกระทบปานกลาง พื้นที่สีเหลืองอ่อน: ได้รับผลกระทบน้อย

นโยบายการเงิน คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.75% ในไตรมาส 3 ปี 2565 เพื่อชะลอการเร่งตัวของเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เริ่มปรับสูงขึ้น เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้น (1 ปีข้างหน้า) ของครัวเรือนปรับมาอยู่ที่ 3.1% เดือนพฤษภาคม 2565 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยหลังหักเงินเฟ้อ ยังติดลบและอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้เงินทุนมีแนวโน้มไหลออกจากไทยและเงินบาทมีโอกาสปรับอ่อนค่าลง

ในระยะสั้น ค่าเงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และความเสี่ยงของภาวะสงคราม ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 34.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายปี 2565

ที่มา – SCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา