จับสัญญาณตลาดแรงงานไทย ตกงานสูงสุดในรอบ 11 ปี ธุรกิจแห่ปิดกิจการ คนอายุน้อยไม่มีงานทำเพียบ

วิกฤติเศรษฐกิจ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดแรงงาน โดยนำไปสู่การตกงานของแรงงานจำนวนมากในไตรมาสที่ 2 ถึง 7.5 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95% ต่อกำลังแรงงานรวม ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี อีกทั้งยังมีแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวจำนวนสูงถึง 2.5 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์

  • EIC คาดว่าตลาดแรงงานจะใช้เวลานานในการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากกำลังในการดูดซับแรงงานที่ถดถอยลงของภาคธุรกิจและปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างทักษะแรงงานกับความต้องการทางธุรกิจ (skill mismatch) โดยเป็นไปได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้อาจไม่นำไปสู่การจ้างงานเพิ่มมากนัก ทำให้แรงงานมีแนวโน้มต้องเปลี่ยนไปทำงานนอกระบบ เช่น รับจ้างหรือทำงานอิสระมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อระดับรายได้และความมั่นคง
  • ความล่าช้าในการฟื้นตัวของตลาดแรงงานนี้จะส่งผลให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้า กระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ และยังอาจส่งผลให้ศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาวลดลง นโยบายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจทั้งมาตรการในระยะสั้นเพื่อประคับประคองการจ้างงาน และนโยบายเชิงโครงสร้างเพื่อจัดสรรแรงงานที่จะมีการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนอุตสาหกรรม (relocate) เป็นจำนวนมาก รวมถึงพัฒนาทักษะแรงงานให้มีผลิตภาพ (productivity) สูง และสอดคล้องกับความต้องการภาคธุรกิจในอนาคต
BANGKOK, THAILAND – SEPTEMBER 26: Thai job seekers wait in line for Job Expo Thailand on September 26, 2020 in Bangkok, Thailand. Thailand hosts Job Expo 2020, an effort by the Thai government and companies to boost the economy by offering nearly 1 million jobs to Thai people. Approximately 260,000 jobs are guaranteed to recent graduates while many other companies are focused on hiring elderly and disabled people. While Thailand has confirmed only two locally transmitted cases of COVID-19 in over three months, the economic impact of the virus has left millions unemployed. (Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

ตลาดแรงงานไทยมีความอ่อนแออยู่แล้วตั้งแต่ก่อนวิกฤติ

จากทั้งจำนวนผู้มีงานทำและจำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยที่มีแนวโน้มลดลงมาตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน และการออกจากกำลังแรงงานตามแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สะท้อนว่ารายได้ จากการทำงานของคนไทยในภาพรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และเมื่อเข้าสู่ช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่เศรษฐกิจทรุดตัวลงรุนแรงในช่วงครึ่งแรกปี 2020 ตลาดแรงงานที่มีความอ่อนแออยู่เป็นทุนเดิมยิ่งได้รับแรงกดดันเพิ่มมากขึ้น แม้ล่าสุดตลาดแรงงานจะเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นบ้างจากอัตราการว่างงานที่ลดลง แต่สถานการณ์โดยรวมก็ยังถือว่าซบเซากว่าในอดีตอยู่ค่อนข้างมาก สะท้อนจาก 4 สัญญาณความอ่อนแอ ดังนี้

สัญญาณความอ่อนแอที่ 1 : อัตราการว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมยังคงเพิ่มสูงขึ้น

  • ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2020 ที่เศรษฐกิจไทยอยู่ ณ จุดต่ำสุดและมีการล็อกดาวน์ในวงกว้าง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากต้องหยุดชะงัก สถานการณ์ในตลาดแรงงานจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในทันที โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 7.5 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าถึงเกือบเท่าตัว โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ว่างงานในทุกอุตสาหกรรม ส่งผลให้อัตราการว่างงานในภาพรวมเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 2.0% ต่อกำลังแรงงานรวม จากเพียง 1.0% ในไตรมาสก่อนหน้า ถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 11 ปี
  • อัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2020 ลดจากจุดสูงสุดเพียงเล็กน้อย และยังอยู่ในระดับสูง โดยอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม ยังอยู่ที่ 1.9% ต่อกำลังแรงงานรวม จากจำนวนผู้ว่างงานที่ลดลงมาอยู่ที่ 7.2 แสนคน อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม ยังถือเป็นอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับที่สูงหากเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต (ช่วงปี 2013-2019) ที่อยู่ที่เพียงราว 1.0% ต่อกำลังแรงงานรวม สะท้อนว่าตลาดแรงงานยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะปกติ
  • การสวนทางกันของการว่างงานในระบบที่เพิ่มขึ้นกับการว่างงานภาพรวมที่ลดลงอาจกำลังบ่งชี้ว่า ลูกจ้างในระบบที่ตกงานมีการย้ายไปสู่การเป็นแรงงานนอกระบบมากขึ้น เช่น อาชีพอิสระ งานรับจ้าง หรือธุรกิจส่วนตัว ซึ่งอาจมีรายได้ที่น้อยกว่า ได้รับสวัสดิการที่ครอบคลุมน้อยกว่าหรือไม่มีเลย รวมไปถึงโอกาสในการเข้าถึงการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่น้อยกว่าแรงงานในระบบ

สัญญาณความอ่อนแอที่ 2 : กลุ่มแรงงานอายุน้อย (15-24 ปี) ยังมีปัญหาการว่างงานในระดับสูง

  • การว่างงานของแรงงานอายุน้อย (youth unemployment) ที่อยู่ในระดับสูง จำนวนผู้ว่างงานในกลุ่มแรงงานอายุน้อย (อายุ 15-24 ปี) ของไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่ากลุ่มอายุอื่นมาโดยตลอด โดยในวิกฤติ COVID-19 ปัญหาดังกล่าวก็ได้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยอัตราการว่างงานของกลุ่มแรงงานอายุน้อยได้เพิ่มขึ้นไปเป็น 8.6% ต่อกำลังแรงงานอายุน้อยทั้งหมดในไตรมาส 2 ปี 2020 และเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องไปที่ระดับ 9.8% ในเดือนกรกฎาคม
  • สอดคล้องกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่การจ้างงานของแรงงานอายุน้อยก็ได้รับผลกระทบมากกว่าแรงงานกลุ่มอายุอื่น ๆ เช่น ในสหรัฐฯ ที่อัตราการว่างงานของกลุ่มเยาวชนเพิ่มจาก 7.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ ไปอยู่ที่ 25.2% ในเดือนพฤษภาคม สูงกว่าอัตราการว่างงานในภาพรวมที่อยู่ที่ 13.3% ในเดือนเดียวกัน
  • อัตราการว่างงานของแรงงานอายุน้อยจะลดลงไปอยู่ที่ 8.0% ในเดือนสิงหาคม แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตค่อนข้างมาก ทำให้การว่างงานในกลุ่มแรงงานอายุน้อยนั้นยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญของตลาดแรงงาน ทั้งนี้เพราะแรงงานอายุน้อยส่วนใหญ่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานและการว่างงานจะทำให้เกิดการขาดช่วงของการสร้างทักษะและสั่งสมประสบการณ์จากการทำงาน โดยในภาวะที่งานมีจำกัดอย่างในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจนี้ การขาดทักษะและประสบการณ์ของแรงงานอายุน้อยจะสร้างความเสียเปรียบมากเป็นพิเศษในการแข่งขันหางานกับกลุ่มแรงงานอายุมากกว่าที่มีประสบการณ์การทำงานที่มากกว่าซึ่งอาจยอมลดค่าจ้างของตนเองเพื่อให้ได้งานโดยเร็ว

สัญญาณความอ่อนแอที่ 3 : จำนวนแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวยังสูงกว่าในอดีต

  • จำนวนผู้ที่ยังมีงานทำแต่ต้องหยุดงานชั่วคราว (furloughed workers) ที่มีจำนวนถึง 2.5 ล้านคนในช่วงล็อกดาวน์ลดลงบ้างแต่ยังสูงกว่าระดับปกติ ในไตรมาส 2 ปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดแรงงานได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจ มาตรการล็อกดาวน์ และการหยุดชะงักของกิจกรรมการผลิต ทำให้หลายกิจการมีการพักงานลูกจ้าง รวมถึงมีคนทำงานอิสระจำนวนมากไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้
  • จำนวนผู้ที่ยังมีงานทำแต่ต้องหยุดงานชั่วคราว (furloughed workers) จึงเพิ่มขึ้นไปอยู่สูงถึง 2.5 ล้านคน ส่วนใหญ่กว่า 82.4% ระบุว่าไม่ได้รับค่าจ้าง อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ หลายกิจการได้กลับมาดำเนินการตามปกติ ส่งผลให้จำนวน furloughed workers ก็ลดลงไปอยู่ที่ 7.5 และ 4.4 แสนคน ในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ตามลำดับ
  • จำนวน furloughed workers ในช่วง 2 เดือนล่าสุดก็ยังถือว่าอยู่สูงกว่าหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีจำนวนอยู่ที่เพียงราว 1-1.5 แสนคนเท่านั้น ส่วนหนึ่งคาดว่ามีสาเหตุมาจากการที่หลายกิจการยังไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้เท่าศักยภาพในอดีต จึงยังไม่สามารถดูดซับแรงงานที่ต้องหยุดงานในช่วงล็อกดาวน์ได้หมด
  • ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของจำนวน furloughed workers นับเป็นอีกความน่ากังวลของตลาดแรงงานไทยเพราะบางส่วนอาจกลายเป็นคนตกงานได้ในท้ายที่สุดหากกิจการขาดสภาพคล่องจนต้องลดคนหรือปิดกิจการ

สัญญาณความอ่อนแอที่ 4 : สัดส่วนการทำงานต่ำระดับ (underemployment) ยังคงเพิ่มขึ้น

  • แนวโน้มของสัดส่วนการทำงานต่ำระดับที่มากขึ้นจากช่วงล็อกดาวน์ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ในไตรมาส 2 งานเต็มเวลา (งานที่ทำตั้งแต่ 35 ถึงไม่เกิน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และงานล่วงเวลา (งานที่ใช้เวลาทำมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไปหรืองานโอที) มีจำนวนลดลงรวมกันสูงถึง 4.8 ล้านคน ขณะที่จำนวนงานต่ำระดับ (งานที่ทำเกิน 0 ถึงไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) รวมถึงจำนวนการหยุดงานชั่วคราวกลับเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 4.1 ล้านคนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมงานเต็มเวลาและล่วงเวลาก็ยังคงลดลง ขณะที่งานต่ำระดับยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ยงานเต็มเวลาและล่วงเวลาลดลงประมาณ 2.1 ล้านคนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่งานต่ำระดับเพิ่มขึ้นถึง 1.9 ล้านคน แนวโน้มดังกล่าวนี้เป็นอีกหนึ่งเครื่องชี้ที่สะท้อนถึงกำลังในการจ้างงานของภาคเอกชนที่ถดถอยลง จึงไม่สามารถจ้างงานเต็มเวลาและล่วงเวลาในจำนวนที่มากเท่าในช่วงก่อนหน้าได้ รวมถึงยังอาจเป็นผลของการออกนอกระบบของแรงงานที่เคยทำงานประจำที่มีชั่วโมงทำงานสูงกว่า ไปสู่งานอิสระที่มักมีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวนี้สะท้อนว่ารายได้ของแรงงานมีแนวโน้มลดลง และยังไม่ฟื้นตัว

อนาคตของตลาดแรงงานไทย

ปัญหาการว่างงานจะยังคงอยู่ในระดับสูงและฟื้นตัวได้ไม่เร็วจากแนวโน้มการปิดกิจการของภาคธุรกิจที่ยังเร่งตัว ในช่วงวันที่ มกราคม – 28 สิงหาคม 2020 มีจำนวนธุรกิจที่แจ้งเลิกกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารวมทั้งสิ้นราว 1.4 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 9.1จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และถึงแม้จะมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ไปแล้วการปิดกิจการก็ยังเพิ่มในอัตราที่เร่งขึ้น โดยในช่วงเดือนมิถุนายนกรกฎาคม การปิดกิจการขยายตัวที่ 29.2%YOY และในช่วง 28 วันแรกของเดือนสิงหาคม ก็ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราเร่งที่ 34.5%YOY โดยคาดว่าเป็นผลมาจากการขาดรายได้ของกิจการขณะที่สภาพคล่องมีไม่เพียงพอ กิจการที่ปิดตัวลงนี้จะส่งผลทำให้แรงงานในกิจการนั้น ๆ ต้องว่างงานลง ขณะที่กำลังการดูดซับแรงงาน (จ้างงาน) ของภาคธุรกิจมีลดน้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจที่มีส่วนทำให้การเปิดกิจการของภาคธุรกิจก็ลดน้อยลงตามไปด้วย โดยในช่วงวันที่ มกราคม – 28 สิงหาคม 2020 จำนวน

สอดคล้องกับข้อมูลประกาศรับสมัครงานบนเว็บไซต์ Jobsdb.com ที่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 27 ก.ย.-3 ต.ค.) จำนวนประกาศรับสมัครงานเฉลี่ยยังต่ำกว่าช่วงสัปดาห์ก่อนมีมาตรการปิดเมือง (วันที่ 21-27 มี.ค.) ถึง -20.8% โดยต่ำกว่าในทุกอุตสาหกรรมและระดับเงินเดือน สะท้อนให้เห็นว่าภาวะการจ้างงานยังคงซบเซาเป็นวงกว้างแม้ว่ามาตรการล็อกดาวน์จะถูกผ่อนคลายลงมากแล้วก็ตาม ทั้งนี้คาดว่าในระยะข้างหน้ารายได้ภาคธุรกิจยังคงมีแนวโน้ม ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่พึ่งพารายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องรอความชัดเจนในด้านการพัฒนาวัคซีน และการผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้แนวโน้มการเปิด-ปิดกิจการจะยังคงซบเซาและกระทบต่อการจ้างงานในระยะถัดไป

การตกงานเป็นจำนวนมากจากอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมาก เช่น ภาคการท่องเที่ยว อาจไม่มีอุตสาหกรรมใดที่สามารถดูดซับกลับเข้าระบบได้เร็วเพราะทักษะแรงงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของงานหรือที่เรียกว่าปัญหา “skill mismatch” สภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้แรงงานจำนวนไม่น้อยจำเป็นต้องออกไปเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีจำนวนมากอยู่แล้วในระบบเศรษฐกิจไทย (สัดส่วนแรงงานนอกระบบในไทยมีอยู่มากกว่าครึ่งหรือราว 54.3% ของกำลังแรงงานรวม) ซึ่งส่งผลทำให้มีความมั่นคงทางการงาน สวัสดิการต่าง ๆ และโอกาสในการฝึกทักษะลดน้อยลง รวมถึงยังมีแนวโน้มที่จะต้องประกอบอาชีพแบบไม่เต็มศักยภาพ (เช่น ทำในงานที่ใช้ทักษะน้อยกว่าที่มี หรือทำงานต่ำระดับ) หรือทำงานในอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มีผลิตภาพสูง ส่งผลกระทบต่อระดับรายได้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังอาจมีแรงงานบางส่วนที่ขาดแรงจูงใจในการหางาน (discouraged workers) ตัดสินใจออกจากกำลังแรงงานและหันไปพึ่งพารายได้จากครอบครัวหรือภาครัฐมากขึ้นด้วย

BANGKOK, THAILAND – MAY 07: Approximately 1,000 unemployed Thai people wait in line to apply for the three month, 5,000 baht, financial aid promised by the Ministry of Finance on May 7, 2020 in Bangkok, Thailand. This complaint center allows Thai people who are unemployed due to the coronavirus pandemic, and who did not receive direct deposits, to submit their bank information to the Ministry of Finance. If approved, each will receive 5,000 Baht (approx. $154 USD) for 3 months. Thailand is slowly lifting restrictions after being locked down for over one month in an effort to stop the spread of Covid-19. (Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

ทางรอดคือยกระดับทักษะของแรงงาน

นโยบายเชิงโครงสร้างเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายของแรงงานจำนวนมากและการยกระดับผลิตภาพแรงงานระยะยาวก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน วิกฤติตลาดแรงงานรอบนี้ทำให้มีแรงงานจำนวนมากต้องตกงานจากอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น การท่องเที่ยว หรือภาคการผลิตอย่างยานยนต์ ที่จำเป็นต้องหางานในอุตสาหกรรมอื่นรองรับ ซึ่งโดยโครงสร้างตลาดแรงงานไทยแล้วแรงงานมักกลับสู่ภาคเกษตร แต่ข้อเสียของการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับไปสู่ภาคเกษตรคือทั้งรายได้และผลิตภาพของแรงงานจะต่ำและเติบโตช้า

การเคลื่อนย้ายแรงงานที่จะเป็นผลดี ต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศคือการไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง แต่ปัญหาคือแรงงานเหล่านั้นอาจไม่ได้มีความพร้อมด้านทักษะที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมนั้น (skill mismatch) ทำให้ถึงแม้ภาคธุรกิจจะมีกำลังในการจ้างก็ไม่สามารถจ้างมาทำงานจริงได้ ดังนั้น นโยบายในการช่วยเพิ่มและปรับทักษะ (upskill and reskill) จึงมีความสำคัญมาก โดยอาจจัดให้มีการฝึกอบรมพัฒนาทักษะ ควบคู่ไปกับการมีมาตรการสนับสนุนให้ธุรกิจมีการจ้างงานหรือการมีโครงการฝึกงานสำหรับนักศึกษาจบใหม่ในธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต เช่น การผลิตสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพ บริการสำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจดิจิทัล เป็นต้น โดยภาครัฐอาจช่วยจ่ายเงินสนับสนุนการจ้างงานและมีมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจ ภายใต้เงื่อนไขให้มีการฝึกทักษะแรงงานและวัดผลอย่างจริงจัง มาตรการลักษณะนี้จะสามารถช่วยแรงงานที่ได้รับผลกระทบให้มีรายได้ และยังได้ฝึกทักษะที่ใช้ได้ในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมกำลังแรงงานสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมใหม่อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ของ EIC ประเมินว่าตลาดแรงงานไทยยังอยู่ในภาวะซบเซา การประคับประคองตลาดแรงงานยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะกลายเป็นแผลเป็นระยะยาว (scarring effect) โดยการเพิ่มทักษะและปรับทักษะ (upskill and reskill) ของแรงงานจะเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่ เพื่อยกระดับผลิตภาพของแรงงานไทยในระยะยาว อันจะทำให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้อย่างแข็งแรง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา