เจ็บกันถ้วนหน้า ข่าวออกทุกวันไม่ว่างเว้น ทุกคนล้วนตั้งคำถามว่า “หรือนี่จะเป็นปีเผาจริง ปีซึมลึกของเศรษฐกิจไทย” แม้ว่า GDP ไทยในไตรมาสแรกของปีจะเติบโตเกิน 3% แต่ก็เป็นอีกครั้งที่เศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยที่สุดภูมิภาค หรือแบบละเอียดๆ คือ เติบโตน้อยกว่าสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
ยิ่งไปกว่านั้นสภาพัฒน์ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยลงแล้ว โดยคาดว่าน่าจะเติบโตได้เพียงแค่ 1.3-2.3% เท่านั้นในปีนี้ หลายคนตั้งคำถามว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยคืออะไร เหตุใดเราถึงไม่ฟื้นอย่างที่หวัง Brand Inside สรุปคำอธิบายของ SCB EIC ที่บอกว่า เศรษฐกิจไทยมี ‘แผลเป็น’ อะไรบ้างที่เกิดจากปัญหาโครงสร้างซ้ำเติมด้วยปัญหาโควิด
รายงาน ‘Economic scars : แผลเป็นเศรษฐกิจไทย ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทิ้งไว้หลังโควิด’ ของ SCB EIC เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เราเห็นว่า ตอนนี้ ‘เศรษฐกิจไทย’ ฟื้นตัวจากโควิดได้ช้าระดับท้ายๆ ของโลก เพราะต้องใช้เวลากว่า 4 ปี GDP จึงจะกลับไปแตะระดับเดิม โดยฟื้นตัวรั้งท้ายอยู่อันดับ 72 จาก 81 ประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น คือ เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 2% เท่านั้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เรียกว่าตั้งแต่โควิดเป็นต้นมา โอกาสทางเศรษฐกิจไทยของไทยหายไปกว่า 6 ล้านล้านบาท โดยโควิดสร้าง ‘รอยแผลเป็น’ ซ้ำเติมกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่เศรษฐกิจไทยมีอยู่เดิมแล้ว
SCB EIC ได้แบ่ง ‘แผลเป็น’ ที่ทิ้งรอยไว้บนประเทศไทยไว้บนเศรษฐกิจกิจไทย ออกเป็น 2 ภาคส่วน คือ ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยเราจะพูดถึงแผลเป็นของ ‘ภาคธุรกิจ’ ก่อน
1) ธุรกิจไทย รายใหญ่โต รายเล็กร่อแร?
หลังโควิดภาคธุรกิจไทยกำลังฟื้นตัวแบบ K-shape คือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ฟื้นตัวแล้ว แต่ธุรกิจขนาดย่อยและขนาดย่อมที่มีสัดส่วนกว่า 90% ของธุรกิจทั้งหมดยังไม่ฟื้นตัว (รายได้ปี 2023 ยังหดตัว 1.5% เทียบกับก่อนโควิด) แปลว่าธุรกิจไทยในไทยฟื้นตัวไม่เท่ากันและห่างกันขึ้นเรื่อยๆ ในรูปแบบตัว K
2) บริษัทผีดิบ ไม่โตแต่ไม่ตาย สูงขึ้นอีก
บริษัทแบบที่เรียกว่า บริษัทผีดิบ (Zombie firm) หรือ ไม่โต แต่ไม่ตาย ยังคงมีสัดส่วนสูง และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อนด้วย (เคยมีสัดส่วน 5.5% ในปี 2019 ก่อนจะมีสัดส่วน 5.8% ในปี 2023) และที่แย่ไปกว่านั้น คือ 78% เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดย่อยและขนาดย่อม
3) ยิ่งนานวัน ตัวเลขเปิดปิดกิจการ ยิ่งน่าเป็นห่วง
สองเดือนแรกของปี 2025 พบว่า ธุรกิจเปิดใหม่หดตัว 5.1% แต่ธุรกิจปิดกิจการเพิ่มขึ้น 16.9% สอดคล้องกับจำนวนการเปิดโรงงานที่ลดลง 4 ปีติดต่อกันตั้งแต่เกิดโควิด ขณะที่จำนวนโรงงานปิดตัวลงมากขึ้นเกือบ 2 เท่าเทียบกับปี 2020 ที่เกิดโควิด
ส่วนปัญหาฝั่ง ‘ครัวเรือนไทย’ นั้นแบ่งออกเป็น 3 ปัญหาหลัก
1) คนไทยรายได้ไม่พอรายจ่าย เพราะ ‘รายได้’ ไม่ฟื้น
SCB EIC พบว่า กว่า 32% ของครัวเรือนไทยที่มีหนี้สินจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ใน 5 ปีข้างหน้า แถมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ขณะที่อีก 17% จะต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน 3-5 ปี ส่วนอีก 26% จะต้องใช้เวลา 1-3 ปี ขณะที่กลุ่มที่ฟื้นใน 1 ปีหรือฟื้นแล้วมีเพียงแค่ 23%
2) ตลาดแรงงานฟื้นตัวแค่ปริมาณ แต่อย่างอื่นไม่ใช่ด้วย
เพราะแม้จำนวนการว่างงานร่วม-ชั่วโมงการทำงานจะกลับมาเป็นปกติแล้ว แต่ ‘ค่าจ้างเฉลี่ย’ ของลูกจ้างในปี 2024 กลับโตต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด (1.3% กับ 3.3%) หรือเรียกว่าต่ำกว่าเกือบ 2 เท่า นอกจากนั้น อัตราว่างงานของเด็กจบใหม่ยังเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด (5.6% ในปี 2024 กับ 5.35% ในปี 2019)
รวมถึงแรงงานไทยยังย้ายไปทำงานนอกระบบมากขึ้น (53% ของผู้มีงานทำ) โดยปัญหาคือแรงงานกลุ่มนี้มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของแรงงานในระบบเท่าตัว (8,513 บาทต่อเดือน กับ 16,202 บาทต่อเดือน) และยังมีรายได้ไม่แน่นอนด้วย
3) หนี้ยังเยอะกว่าก่อนโควิด
แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะลดลงหลายไตรมาสติดในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังสูงกว่าช่วงก่อนเกินโควิดอยู่ดี รวมถึงหนี้เสียในช่วงเดือนแรกของปี 2025 ยังปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 9% เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนว่าคนไทยจำนวนมากยังมีโอกาสจะสูญเสียความสามารถในการจ่ายหนี้
โดยสรุปคือ ธุรกิจไทยรายใหญ่ๆ ฟื้นตัวกลับมาเติบโตแล้ว แต่รายเล็กกลับไม่ฟื้นตัวตาม หลายธุรกิจยังคงถดถอย จนทำให้บริษัทผีดิบที่มีสถานการณ์ไม่โตแต่ไม่ตายเพิ่มสูงขึ้นอีก ยิ่งไปกว่านั้น คือ ยิ่งนานวัน ตัวเลขเปิดปิดกิจการ ยิ่งน่าเป็นห่วงขึ้น
นอกจากนั้น คนไทยหลายคนรายได้ไม่พอรายจ่าย-หนี้เยอะจนฟื้นตัวช้า หลายครอบครัวอาจต้องใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าจะฟื้นตัวได้ ที่สำคัญคือ ‘ค่าจ้าง’ โตต่ำกว่าเดิมมาก-จบใหม่ว่างงานเยอะกว่าก่อนโควิด รวมถึงแรงงานไหลออกนอกระบบเยอะขึ้นๆ ทำให้คนไทยที่ทำงานนอกระบบมีรายได้ต่ำ-ไม่แน่นอน
ปีนี้จะเติบโตช้าลง-ชะลอลงอีก
ที่หนักกว่านั้นคือ SCB EIC ยังประเมินว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตช้าลงและชะลอลงอีก เพราะสารพัดแผลเป็นที่ฉุดรั้ง และช่วงครึ่งปีหลังก็ยังมีปัญหากดดันซ้ำเติมอย่างส่งออกขยายตัวต่ำ เพราะกำแพงภาษีของทรัมป์ รวมถึงภาคการผลิตไม่ฟื้นตัวจากสินค้าจีนตีตลาด
สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนในเวลานี้คือ นโยบายช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อประคองเศรษฐกิจให้ผ่านช่วงยากลำบากไปได้ โดยเน้นสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจจากภายในอย่างยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น
ภาคธุรกิจ : มาตรการผ่อนคลายปัญหาการเงิน / ปกป้องธุรกิจขนาดเล็กจากการแข่งขันไม่เป็นธรรมจากสินค้าต่างชาติ / ลดกฎเกณฑ์ภาครัฐ ลดต้นทุน / เพิ่มขีดความสามารถในระยะยาว เพื่อให้ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วขึ้นในอนาคต
ภาคครัวเรือน : มาตรการช่วยเหลือด้านรายได้ระยะสั้นผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจ / การจัดการหนี้เดิม-ปรับโครงสร้างหนี้ / สนับสนุนการเพิ่มรายได้ครัวเรือนให้พอรายจ่าย / ผ่อนคลายนโยบายการเงินให้คนไทยฟื้นตัวได้ / เพิ่มทักษะแรงงาน เพิ่มรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
หลังจากเหตุแผ่นดินไหว-กำแพงภาษีของทรัมป์ SCB EIC ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยอีกครั้ง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวเพียง 1.5% เท่านั้น
แล้วคุณล่ะมองเศรษฐกิจไทยตอนนี้ยังไงบ้าง?
- นักเศรษฐศาสตร์ เตือน ‘ไทย’ อาจกลายเป็นบทหนึ่งของหนังสือ Why Nations Fail
- KKP ปรับคาดการณ์ GDP ไทย ปี 2568 จากเดิม 2.3% ลดลงเหลือ 1.7%
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา