SCB EIC ประเมิน เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังร่วงหรือรอด ค่าไฟแพงขึ้น-ภาคการผลิตไม่ฟื้นตัว

ถ้าใครว่าข้าวของช่วงนี้ราคาสูงแล้ว มันยังแพงได้อีก เพราะล่าสุด ‘ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ’ (SCB EIC) ได้เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งดูเหมือนว่ายังคงมีปัญหาอยู่ไม่น้อย

Thailand

SCB EIC มองว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง ดยสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว จะชะลอตัวทั้งในภาคบริการและภาคการผลิต ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะชะลอตัวแค่จากภาคบริการเป็นหลัก ส่วนภาคการผลิตอาจเร่งตัวขึ้นเล็กน้อย

ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเด็นการเลือกตั้งทั่วโลกยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะ ผลการเลือกตั้งของสหราชอาณาจักร ที่สามารถทำให้นโยบายเศรษฐกิจไม่เป็นเช่นเดิมได้ กล่าวคือ หาก ‘พรรคแรงงาน’ ชนะ อาจมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • เน้นค่าใช้จ่ายและลงทุนในภาครัฐมากขึ้น 
  • เข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว
  • เก็บภาษีผู้มีรายได้เพิ่ม
  • ฟื้นฟูการค้ากับสหภาพยุโรปมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ผลการเลือกตั้งของฝรั่งเศส จะทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองสูงขึ้น และอาจเกิดการติดขัดในการปฏิรูปเศรษฐกิจที่พยายามดำเนินมา เนื่องจากไม่มีพรรคไหนได้ที่นั่งเบ็ดเสร็จ และแต่ละกลุ่มยังมีนโยบายที่ต่างกันมาก

นอกจากนี้ การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา ก็ยังเป็นประเด็นสำคัญต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกเช่นเคย

อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงในครึ่งปีหลัง

SCB EIC ประเมินว่า จากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับชะลอลงของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับการสื่อสาร Dovish ที่มากขึ้นของ ‘คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ’ (FOMC) ‘ธนาคารกลางสหรัฐฯ’ (Fed) จึงจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายน และ ธันวาคม รวม 50 BPS (Basis Points) หรือ 0.5%

ส่วน ‘ธนาคารกลางยุโรป’ (ECB) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง รวม 50 BPS ในเดือนกันยายน และ ธันวาคม หลังจากได้ปรับลดครั้งแรกไปในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

ทางด้าน ‘ธนาคารกลางญี่ปุ่น’ (BOJ) มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี และในอนาคต การทยอยลดความผ่อนคลายของนโยบายการเงินญี่ปุ่นจะเป็นไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศแย่ลง รวมถึงเงินเฟ้อจะชะลอตามราคาสินค้านำเข้ากับค่าจ้าง

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าตามคาด

SCB EIC คาดการณ์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.5% โดยในครึ่งปีหลัง มีแรงส่งหลักจากภาคบริการตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ควบคู่ไปกับปัจจัยสนับสนุนทั้งมาตรการวีซ่าใหม่ การขยายเที่ยวบิน และการจัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ รวมถึง ภาคส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง สินค้าคงคลังยังอยู่ในระดับสูง พร้อมมีแรงกดดันจากอุปสงค์ในประเทศ ตัวแปรเศรษฐกิจสำคัญอย่าง ภาคการผลิตก็ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวเท่าไหร่นัก 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีแนวโน้มหดตัวลงในปีนี้แบบ ‘Broad-based’ โดยยอดการผลิตถูกฉุดรั้งด้วยอุปสงค์ที่ซบเซา และคาดว่าในปีนี้ จะหดตัวต่ำสุดในรอบ 14 ปี 

ส่วนแนวโน้มการบริโภคสินค้าคงทนก็ลดลงเช่นกัน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่น้อยลงอย่างต่อเนื่อง ตามความช้าของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และราคาพลังงานที่สูงขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น SCB EIC ประเมินว่า การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 4 เดือนแรกที่ผ่านมาได้

สภาพเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรในระยะเวลาที่เหลือนี้?

Thai baht, Money

SCB EIC เล็งเห็นว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยเร่งตัวกลับสู่เป้าหมายที่ 1-3% ในช่วงสิ้นปีนี้ ตามการเร่งตัวของพลังงานจาก

  1. ค่าไฟฟ้าในช่วงกันยายน – ธันวาคม 2567 มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นผลจากราคาก๊าซธรรมชาติที่อาจสูงขึ้นในช่วงปลายปีเช่นกัน
  2. ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเร่งตัวตามนโยบายช่วยเหลือที่กำลังจะหมดไป

ด้วยความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากภาวะการเงินตึงตัวขึ้น แรงส่งอุปสงค์ในประเทศก็จะแผ่วลง ประกอบกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่จะปรับเพิ่มขึ้น

ดังนั้น SCB EIC จึงประเมินว่า ในปลายปีนี้ ‘คณะกรรมการนโยบายการเงิน’ (กนง.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงให้เหลือเพียง 2.25% และจะปรับอีกครั้งเป็น 2% ในต้นปีหน้า

ที่สำคัญต้นทุนการปรับลดดอกเบี้ยนั้น มาจากภาคการเงินที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งแปลว่าดอกเบี้ยนี้จะไม่กระตุ้นการก่อหนี้ใหม่

ในส่วนของค่าเงินบาท ทาง SCB EIC มองว่าในระยะสั้น เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นในกรอบ 35.7-36.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และในระยะถัดไป เงินบาทจะแข็งค่าต่อได้ไม่มาก 

สุดท้ายนี้ แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่เนื่องจากยังมีแรงกดดันของปัจจัยทางการเมือง ทั้งการเลือกตั้งในอเมริกาและการเมืองของประเทศไทย ในสิ้นปีนี้ SCB EIC จึงมองว่าเงินบาทจะแข็งขึ้นราวๆ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

อ่านรายงานฉบับเต็มต่อได้ที่: SCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา