SCB EIC มองรัฐบาลแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แนะผลักดันมาตรการลด PM 2.5 อย่างยั่งยืน

SCB EIC แนะนำรัฐบาลให้ผลักดันมาตรการลด PM 2.5 อย่างยั่งยืน ส่วนปัจจุบันนั้นมองว่ารัฐบาลกำลังแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ นอกจากนี้คุณภาพน้ำมันรวมไปถึงเครื่องยนต์ดีเซลในประเทศไทยยังต่ำกว่าสากล แถมยังมีรถยนต์เก่าวิ่งอยู่ในกรุงเทพอีกด้วย

ภาพจาก Shutterstock

ฝุ่นละอองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 มีอันตรายร้ายแรงมากที่สุด ที่นอกจากจะทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ มะเร็งปอด ยังส่งผลต่อสมองอีกด้วย โดยสถาบันนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยชิคาโก ประเมินว่าเป็นความเสี่ยงที่ทำให้อายุขัยของคนทั่วโลกโดยเฉลี่ยสั้นลงเกือบ 2 ปี

สาเหตุของ PM 2.5

ล่าสุด SCB EIC ได้ออกบทความเกี่ยวกับเรื่องของมาตรการลด PM 2.5 อย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยมองว่าสาเหตุที่ค่า PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก แยกได้ 2 ด้านคือ

  1. จำนวนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของไทยเอื้อต่อการเดินทางและขนส่งสินค้าผ่านถนนเป็นหลัก ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานอย่างรถไฟยังมีข้อจำกัดมาก และยังรวมไปถึงรัฐบาลอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลอีกด้วย
  2. คุณภาพน้ำมันดีเซลรวมไปถึงเครื่องยนต์ดีเซลของไทยยังต่ำกว่ามาตรฐานสากล ปัจจุบันไทยยังใช้น้ำมันดีเซลยูโร 4 ซึ่งมีค่ามลพิษสูง ขณะที่ยุโรปรวมไปถึงประเทศจีนได้ใช้น้ำมันยูโร 6 แล้ว นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการนำรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ดีเซลเก่าออกมาวิ่งในท้องถนนอีกด้วย
ที่มา – SCB EIC

ตัวอย่างการแก้ปัญหาจากต่างประเทศ

EIC ยังได้ยกวิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในต่างประเทศในการแก้ปัญหา PM 2.5 ไม่ว่าจะเป็น ประเทศจีนที่รัฐบาลจีนเริ่มใช้น้ำมันดีเซลยูโร 6 นอกจากนี้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจะต้องติดตั้งเครื่องกรองฝุ่นจากดีเซล (DPF) นอกจากนี้จีนยังออกมาตรการลดมลพิษด้วย เช่น ในกรุงปักกิ่งห้ามรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่ผ่านมาตรฐานวิ่งเข้าวงแหวนที่ 6 ของปักกิ่ง ขณะที่เมืองกวางโจวห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้าเมือง แต่ถ้าเป็นรถยนต์จะใช้วันคู่วันคี่เอา

ขณะที่ยุโรปเริ่มใช้การบังคับเช่น ในกรุงลอนดอน ห้ามรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์เก่ากว่ายูโร 6 วิ่งเข้ามา และตั้งเป้าภายในปี 2040 จะไม่มีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลวิ่งทั่วเกาะอังกฤษอีกต่อไป

ข้อมูลจาก – SCB EIC

แนะรัฐบาลผลักดันมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม

EIC มองว่ามาตรการปัจจุบันของรัฐบาลล่าสุดอย่างการฉีดพ่นน้ำจากบนตึกสูง หรือ การฉีดพ่นน้ำขึ้นสู่อากาศ เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดถนน การแจกหน้ากากอนามัย N95 รวมไปถึงการชะลอการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพมหานคร นั้นเป็นมาตรการระยะสั้นและเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

แต่มาตรการระยะยาว EIC แนะนำว่ารัฐบาลจะต้องผลักดันมาตรการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม เช่น

  • การตรวจสภาพรถยนต์โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลที่เป็นสาเหตุหลักๆ เช่น ตรวจเข้มการตรวจสภาพรถ
  • การผลักดันน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 หรือ 6 รวมไปถึงมาตรฐานเครื่องยนต์
  • การอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาล อาจบิดเบือนการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของประชาชน
  • เพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซล

ยังรวมไปถึงมาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลจะต้องผลักดันด้วย เช่น การห้ามเผาขยะและวัสดุทางการเกษตร ฯลฯ เพื่อที่จะลดมลพิษได้อย่างยั่งยืน

ที่มาSCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ