SCB EIC ชี้ธุรกิจความงามในไทยโต 10% ต่อเนื่อง, ปี 64 ที่มูลค่าตลาดแตะ 50,000 ล้านบาท

SCB EIC เผยเทรนด์ธุรกิจเวชศาสตร์ความงามเติบโตสดใส ทั้งในไทยและทั่วโลก โดยปี 2564 มีตลาดนี้ในไทยมูลค่าอยู่ที่ราว 50,000 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทุกเพศโดยเฉพาะ Gen Y และ Gen Z

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) เปิดเผยว่าธุรกิจเวชศาสตร์ความงาม (Aesthetic & Surgery) มีแนวโน้มเติบโตทั่วโลก โดยมูลค่าตลาดบริการนี้ในโลก ปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 58,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเมินว่าจะเติบโตราว 5% CAGR ขณะที่ตลาดเวชศาสตร์ความงามของไทยในปี 2564 มีมูลค่าอยู่ที่ราว 50,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องราว 10% CAGR ในช่วงปี 2565-2573

ส่วนสาเหตุที่เติบโตได้ดีมาจากเทรนด์ดูแลผิวและความงามของผู้บริโภคยุคใหม่ทั้งชาวไทย และนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ต่างชาติ รวมถึงค่าบริการของไทยเข้าถึงได้ง่าย (ถูกกว่า) เมื่อเทียบกับค่าบริการเฉลี่ยของโลก เช่น ค่าบริการฉีดโบท็อกในไทยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 250 บาทต่อยูนิต ขณะที่ค่าบริการเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 560 บาทต่อยูนิต เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีภาครัฐที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ซึ่งช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ไทยเป็น 1 ใน 4 ศูนย์กลางด้านหัตถการและศัลยกรรมความงามของเอเชีย รองจาก เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน

ทั้งนี้ SCB EIC ได้สำรวจผู้บริโภคชาวไทยในด้านเวชศาสตร์ความงาม จากกลุ่มตัวอย่าง 1,402 คน พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ใส่ใจด้านความสวยความงาม โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y ผู้หญิง และ LGBTQIA+ ที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับความสวยความงามมากขึ้นและใช้จ่ายในด้านเวชศาสตร์ความงามสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ส่งผลให้ธุรกิจเวชศาสตร์ความงามทั้งด้านหัตถการและศัลยกรรมเสริมความงามมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง

ธุรกิจหัตถการเสริมความงาม

จากผลสำรวจพบว่า 44% ของผู้บริโภคเคยใช้บริการหัตถกรรมเสริมความงาม ส่วนใหญ่เป็นการรักษาและบำรุงผิว โดยมี 32% ไม่สนใจใช้บริการ และ อีก 24% ไม่เคยใช้บริการแต่สนใจ โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่จะใช้บริการเพื่อการรักษาและบำรุงผิวมากที่สุดควบคู่กับการใช้บริการหัตถการประเภทอื่น และจะใช้จ่ายไม่เกิน 5,000 บาทต่อครั้ง

ทั้งนี้ ธุรกิจหัตถการฯ มีแนวโน้มขยายฐานผู้ใช้บริการได้มากขึ้นในกลุ่มผู้ชายเพราะกว่า 28% ระบุว่าไม่เคยใช้บริการแต่สนใจ รวมถึงกลุ่ม Gen Z ที่กว่า 31% ไม่เคยใช้บริการแต่ระบุว่าสนใจ ขณะที่ในภาพรวมพบว่า กว่า 71% ของผู้ที่ไม่เคยทำหัตถการความงามแต่สนใจ จะตั้งงบประมาณการใช้จ่ายไว้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจเพื่อเลือกสถานบริการ ได้แก่ ด้านราคา รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยทั้งจากสถานบริการและอุปกรณ์/เครื่องมือที่ใช้ให้บริการ อีกทั้ง ความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างคลินิกหัตถการความงาม และโรงพยาบาลเฉพาะทาง

ธุรกิจศัลยกรรมเสริมความงาม

จากผลสำรวจผู้บริโภคพบว่า 21% เคยทำศัลยกรรมเสริมความงาม ขณะที่อีก 21% ไม่เคยทำแต่สนใจ และส่วนใหญ่กว่า 58% ไม่สนใจเลย

ดังนั้น แม้การทำศัลยกรรมเสริมความงามจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคบางส่วน แต่ผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความสนใจเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันพบว่า ผู้ที่ผ่านการทำศัลยกรรมเสริมความงามส่วนใหญ่จะทำศัลยกรรมมากกว่าหนึ่งประเภท

  • การทำศัลยกรรม 1 ประเภทมีสัดส่วนที่ 36%
  • การทำศัลยกรรม 2-3 ประเภทมีสัดส่วนที่ 51%
  • การทำศัลยกรรมมากกว่า 3 ประเภท มีสัดส่วนที่ 14%

ทั้งนี้ การศัลยกรรมจมูกและดวงตาเป็นที่นิยมสูงสุดทั้งจากผู้ที่ผ่านการทำศัลยกรรมเสริมความงามมาแล้วและผู้ที่สนใจทำศัลยกรรมในระยะข้างหน้า

ในด้านปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคจะเลือกใช้บริการศัลยกรรมฯ จากโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทาง และคลินิกศัลยกรรมตกแต่งความงามเป็นหลัก เนื่องจากมาตรฐานความปลอดภัยเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุด ขณะที่การทำศัลยกรรมในต่างประเทศก็ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง

ขณะที่ด้านการใช้จ่าย จากข้อมูลพบว่า Baby boomer และ Gen X มีค่าใช้จ่ายด้านเวชศาสตร์ความงามเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ 30,001 บาทขึ้นไป สัดส่วนสูงถึง 23% ส่วน Gen Z กว่า 53% มีค่าใช้จ่ายด้านเวชศาสตร์ความงามเฉลี่ยต่อปีไม่เกิน 3,000 บาท

ด้วยเทรนด์ของธุรกิจที่เติบโต และ ความท้าทายที่เกิดขึ้น SCB EIC ประเมินข้อสังเกตทางธุรกิจที่น่าสนใจได้ 3 ประการ ได้แก่

  1. กลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y และ Gen Z ที่ให้ความสำคัญกับการทำหัตถการ และศัลยกรรมความงามเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และจะเป็นฐานผู้ใช้บริการที่สำคัญในระยะข้างหน้า
  2. การกำหนดราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ยังคงเป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจหัตถการเสริมความงามในการเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้บริการเดิมกลับมาใช้บริการซ้ำ และการเจาะกลุ่มผู้ใช้บริการใหม่
  3. การสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการทั้งชื่อเสียงของสถานบริการ ความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์ และความปลอดภัยของอุปกรณ์/เครื่องมือที่ให้้บริการจะสามารถดึงดูดผู้ที่สนใจทำศัลยกรรมได้มากขึ้น โดยมองว่า กลุ่ม Gen Z และ Gen Y จะได้รับอิทธิพลจากการรีวิว/โฆษณา ค่อนข้างมาก จึงมองว่า วิธีการแชร์ประสบการณ์และผลลัพธ์จากผู้ใช้บริการจริงจะสามารถสร้างแรงจูงใจได้ดี

ที่มา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา