SCB EIC คาด GDP ไทยปีหน้าเติบโต 3.8% กังวลธุรกิจไทยหลัง COVID-19 จะมีสภาวะซอมบี้เพิ่มมากขึ้น

EIC คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้า GDP จะเติบโตช้าๆ อยู่ที่ 3.8% ดีกว่าคาดการณ์เดิม แต่ในบทวิเคราะห์นั้นกังวลถึงจำนวนธุรกิจไทยที่มีสภาวะซอมบี้จะเพิ่มมากขึ้นในหลายๆ ธุรกิจ เช่น สิ่งทอ ขนส่งทางอากาศ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

Bangkok Thailand กรุงเทพ ประเทศไทย
ภาพจาก Shutterstock

SCB EIC ได้คาดการณ์ถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้านั้นคาดว่าจะเติบโต 3.8% ดีกว่าคาดการณ์เดิมที่ 3.5% ขณะที่คาดว่าปีนี้ GDP ของไทยจะถดถอยที่ -6.5% หลังจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะตัวเลขการบริโภคของภาคเอกชนกลับมาดีกว่าคาด ขณะเดียวกันในภาพรวมของเศรษฐกิจโลกนั้นในระยะสั้นจะมีการชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่จะกลับมาฟื้นตัวได้ในภายหลังจากปัจจัยวัคซีน

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน ได้กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าว่า ต้องมอง 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวระยะสั้นก่อนที่จะกลับมาขยายตัวได้จากการแพร่ระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 โดยเฉพาะข้อมูลจาก Google Mobility นั้นตอนนี้หลายๆ เมืองมีดัชนีกลับมาลดต่ำลงอีกครั้ง แต่ยรรยงมองว่าการปิดเมืองรอบนี้จะกลับมาล็อกดาวน์แบบบางพื้นที่ จะไม่กระทบกับเศรษฐกิจมากนัก

ขณะที่รัฐบาลและธนาคารกลางเองก็ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีในปีหน้านั้นยังมีความเสี่ยงจากเรื่องความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา-จีน ขณะที่การล้มละลายของธุรกิจในประเทศพัฒนาหลายๆ ประเทศลดลงแล้ว จากที่เคยกังวลว่าจะแย่กว่าที่คาด ขณะที่อัตราว่างงานอาจไม่แย่ซึ่งล่าสุดในสหรัฐอยู่ประมาณ 7% กว่าๆ เท่านั้น

ข่าวดีส่งท้ายปีนี้คือเรื่องของวัคซีนคือมีหลายตัว แต่ละตัวมีความสามารถในการแตกต่างกันไป แต่ปัญหาใหญ่คือเรื่องของการขนส่งซึ่ง Pfizer กับ Moderna ใช้กระบวนการขนส่งที่ใช้ความยุ่งยากเนื่องจากอุณภูมิต้องต่ำมาก แตกต่างของ AstraZenca ที่ใช้ตู้เย็นแบบปกติก็สามารถขนส่งได้ และอัตราเฉลี่ยป้องกันถือว่าดีพอใช้

ยรรยงยังมองว่าประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นฐานการผลิตของสินค้าส่งออกในกลุ่ม IT และกลุ่มสุขภาพอนามัย เช่น จีน และกลุ่มเอเชียตะวันออก จะได้รับประโยชน์จากพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนไปทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วกว่า ขณะที่ประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ช้ากว่า ซึ่งมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้แตกต่างกันและทำให้มีรอยแผลเป็นทางเศรษฐกิจของเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้สิ่งที่น่าจับตามองหลังจากนี้คือเศรษฐกิจโลกจะพัฒนาไปสู่ 3 ขั้วหลักๆ ได้แก่สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ซึ่งจะส่งผลต่อการค้า เทคโนโลยี กฎเกณฑ์ของภาครัฐ ขณะเดียวกันเรื่องของห่วงโซ่การผลิตนั้นจะมีการกระจายไปตามที่ต่างๆ มากขึ้น รวมไปถึงการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ นอกจากนี้ปัจจัยการเมืองจะส่งผลต่อการลงทุนและการเคลื่อนของเงินทุนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยต้องจับตามอง

เศรษฐกิจไทยโตแบบช้าๆ แต่น่ากังวลกับธุรกิจที่เป็นซอมบี้

ผู้บริหารสูงสุดของ EIC ได้กล่าวถึงหลังการประกาศ GDP ไตรมาส 3 ออกมานั้นตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนใกล้กลับมาเท่าเดิมแล้ว แต่เขาได้ชี้ให้เห็นว่าบางธุรกิจของไทยเองยังมีการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน เช่น ยานยนต์  สิ่งทอ ยังไม่ฟื้นตัว แต่เครื่องใช้ไฟฟ้ายังโต หรือแม้แต่อาหารแปรรูปยังเติบโตได้ดี หรือธีมสินค้าการทำงานที่บ้าน หรือถุงมือยางที่เติบโตได้ดี

สำหรับปัจจัยที่เติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้นคือนโยบายการคลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ซึ่ง EIC คาดว่างบประมาณของรัฐบาลในปีหน้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะออกมามากกว่านี้ รวมไปถึงนโยบายการเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ยังถือว่าผ่อนคลาย

ขณะที่เครื่องจักรสำคัญของไทยอย่างส่งออกนั้นคาดว่าปี 2021 จะโตได้ที่ราวๆ 4.7% แต่ปัญหาของภาคการส่งออกไทยนั้นมีหลายๆ ส่วนที่ฟื้นตัวช้า เช่น ยานยนต์ เครื่องประดับ ชิ้นส่วนและอะไหล่ เคมีภัณฑ์ ซึ่งต่างกับประเทศอื่นๆ เช่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ขณะที่ด้านของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทยนั้นคาดว่าในปี 2021 จะอยู่ที่ราวๆ 8.5 ล้านคนเท่านั้น และ EIC มองว่าจะเริ่มเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังของปีหน้า

ยรรยงได้กล่าวถึงช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนผู้เปิดกิจการหรือธุรกิจลดลงมาก แต่ปิดกิจการเพิ่มขึ้น เขาได้ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ดีต่อการลงทุนและการจ้างงาน นอกจากนี้เขายังชี้ถึงแถมความเหลื่อมล้ำคือ บริษัทใหญ่ๆ ของไทย 1% มียอดขายถึง 73.7% จาก 59.5% ในปี 2002

นอกจากนี้ยรรยงยังกล่าวถึงธุรกิจไทยที่อยู่ในสภาวะซอมบี้ (Zombie Firm) ซึ่ง EIC วัดจากความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย ที่ผ่านมาถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างได้ชัด ในปี 2019 นั้นมีสัดส่วนธุรกิจที่เป็นซอมบี้ 9% และเขาคาดว่าหลัง COVID-19 อาจเพิ่มขึ้นได้สูงถึง 16% ในปี 2022 โดยธุรกิจที่มีสภาวะแบบนี้ในไทยนั้นเช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ โรงแรม การขนส่งทางอากาศ

ยรรยงชี้ว่าบริษัทที่อยู่ในสภาวะซอมบี้จะทำให้การจัดสรรทรัพยากรไม่มีคุณภาพ แต่เขาก็ชี้ว่าต้องหาวิธีปรับปรุงธุรกิจเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นด้วย

มองไปที่ภาคการเงินของไทยยรรยงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ 0.5% และคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการอื่นๆ ออกมา เช่นมาตรการ Soft Loan หรือนำเครดิตการันตีของ บสย. มาใช้

ขณะที่ค่าเงินบาทในปี 2021 นั้น EIC มองว่าค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าจาก สหรัฐมีสภาวะขาดดุลการคลังมากขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่ต่ำ ขณะที่ไทยเองมีบัญชีดุลสะพัดที่สูง จะทำให้เม็ดเงินเหล่านี้ไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย คาดว่าในปีหน้าค่าเงินบาทของไทยจะอยู่ในช่วง 29.5-30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ